xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ยูกันดางดส่งพลเมืองไปเป็น “แม่บ้าน” ในซาอุฯ หลังถูกร้องเรียนปัญหานายจ้างล่วงละเมิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - รัฐบาลยูกันดาประกาศเมื่อวันศุกร์ (22 ม.ค.) ว่าจะงดส่งพลเมืองออกไปทำงานเป็น “แม่บ้านต่างชาติ” ในซาอุดีอาระเบีย หลังมีกระแสร้องเรียนเรื่องสภาพความเป็นอยู่ และการถูกนายจ้างชาวซาอุฯ ล่วงละเมิดสิทธิ

ทางการยูกันดาระบุว่า คำสั่งนี้จะมีผลบังคับไปเรื่อยๆ จนกว่าสภาพการทำงานในซาอุดีอาระเบียจะ “มีความเหมาะสม” ซึ่งเท่ากับว่าข้อตกลงจัดส่งแรงงานระหว่างทั้งสองชาติถูกระงับไปโดยปริยาย

กัมปาลาและริยาดได้ลงนามข้อตกลงเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ว่าด้วยการจัดส่งนักศึกษาที่จบปริญญาตรีไปทำงานในซาอุฯ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานของประชากรหนุ่มสาวในยูกันดา

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเพศ แรงงาน และสวัสดิการสังคมยูกันดา กลับได้รับคำร้องเรียนจากแรงงานจำนวนมากว่าถูกนายจ้างชาวซาอุฯ ปฏิบัติอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม

สัปดาห์นี้ได้มีผู้นำคลิปเสียงมาเผยแพร่ในชุมชนออนไลน์ของชาวยูกันดาในซาอุดีอาระเบีย โดยอ้างว่าเป็นเสียงจากแรงงานที่ถูกนายจ้างทรมานและกักขังไว้

สถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลยูกันดาระบุว่า มีชาวยูกันดาถูกส่งเข้าไปทำงานเป็นแม่บ้านในซาอุฯ ประมาณ 500 คน นับตั้งแต่ข้อตกลงแรงงานเริ่มมีผลบังคับ ทว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติเอ็นเต็บเบให้ข้อมูลว่า มีพลเมืองเดินทางออกไปแสวงโชคในซาอุฯ เฉลี่ย 100 คนต่อวัน

อินโดนีเซีย เอธิโอเปีย และฟิลิปปินส์ ได้สั่งห้ามพลเมืองเดินทางไปเป็นแม่บ้านในซาอุดีอาระเบีย จนกว่าจะมีการรับรองว่าแรงงานต่างชาติที่นั่นได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

ผู้อพยพชาวยูกันดาจำนวนมากถูกจับกุมหรือเนรเทศหลังเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียและชาติอาหรับอื่นๆ ขณะที่บางคนเคราะห์ร้ายต้องจบชีวิตในที่คุมขัง เช่น กรณีของ ฟลอรา ริทาห์ นันเตซซา ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำดูไบ

ฟาติมา นัมบี หญิงชาวยูกันดา ถูกทางการคูเวตสั่งจำคุกในข้อหาตั้งครรภ์นอกสมรส

ประธานาธิบดีโยเวรี คากูตา แห่งยูกันดาซึ่งเพิ่งจะเดินทางกลับจากเยือนซาอุฯ เป็นเวลา 2 วัน ได้กล่าวชื่นชมความพยายามของริยาดที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน แต่ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการปกป้องสิทธิแรงงานต่างชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น