เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online – อินโดนีเซียและมาเลเซีย ประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกของโลกลงนามในข้อตกลงความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ในวันเสาร์ ( 21 พ.ย.) เพื่อจัดตั้งองค์กรซึ่งเป็นที่รวมของบรรดาประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรชนิดนี้ เลียนแบบกลุ่มโอเปกของวงการน้ำมัน หวังสร้างอำนาจในการเป็นผู้กำหนดราคาขายปาล์มน้ำมันในตลาดโลก ผ่านกลไกบริหารจัดการด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
ริซาล รามลี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรของอินโดนีเซียเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวโดยระบุ สภาผู้ผลิตปาล์มน้ำมันโลกซึ่งจะมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียนี้ จะมีโครงสร้างองค์กรที่คล้ายคลึง กับกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือกลุ่ม “โอเปก” และว่า การถือกำเนิดขององค์กรที่เป็นศูนย์รวมของบรรดาประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในครั้งนี้จะถือเป็น “การพลิกเกม” สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องประสบปัญหาราคาตกต่ำ ตลอดจน ถูกกล่าวหาจากบรรดานักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกถึงวิถีการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันที่ไม่ยั่งยืน และสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธีการเผาป่า จนก่อให้เกิด “วิกฤตหมอกควัน” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซ้ำซากทุกปี
น้ำมันทั่วโลก ถูกมองว่า เป็นความพยายามของทั้งสองประเทศในการแก้ปัญหาความไร้เสถียรภาพ ของราคาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรแดนอิเหนายังระบุเพิ่มเติมว่า สภาผู้ผลิตปาล์มน้ำมันโลกยังจะมุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกให้กับบรรดาประเทศผู้ผลิตผ่านกลไกการทำ “การเกษตรสีเขียว” ที่มีความยั่งยืน และจะมุ่งมั่นเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตของบรรดาเกษตรกรรายย่อยมากกว่า 4 ล้านคนที่ปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย รวมถึงอีกราว 500,000 คนในมาเลเซีย
ด้านอามาร์ อุงกาห์ เอ็มบาส รัฐมนตรีกระทรวงการเพาะปลูก อุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซีย ออกโรงยืนยันในวันเสาร์ (21) ว่า สภาผู้ผลิตปาล์มน้ำมันโลกนี้จะมิใช่องค์กรที่มุ่งแต่กำหนดราคาโดยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของฝ่ายผู้ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นการสร้างกลไกกำหนดราคาแบบยั่งยืน ที่จะส่งผลให้ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการบริหารจัดการปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีความเป็นเอกภาพ
รัฐมนตรีกระทรวงการเพาะปลูก อุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซียยังเผยด้วยว่า นอกเหนือจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรความร่วมมือนี้แล้ว จะมีการดึงประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น ประเทศไทย บราซิล โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ยูกันดา ไนจีเรีย ไลบีเรีย และกานา
ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียตกลงจะสมทบเงินเข้าสู่องค์กรความร่วมมือใหม่ล่าสุดนี้ประเทศละ 5 ล้านดอลลาร์ในเบื้องต้นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานขององค์กร ขณะที่รายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ในการสถาปนาองค์กรนี้อย่างเต็มรูปแบบยังอยู่ระหว่างดำเนินการ