รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ข่าวกรองอิรักและแหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุในวันอังคาร (19 ม.ค.) ว่าชาวอเมริกัน 3 รายที่หายตัวไปในแบกแดดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถูกลักพาตัวไปโดยกลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ที่อิหร่านให้การสนับสนุน
เจ้าหน้าที่อิรักบอกว่า กลุ่มมือปืนได้จับตัวชาวอเมริกันทั้ง 3 ไปเมื่อวันศุกร์ จากที่พักส่วนตัวในเขตโดรา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแบกแดด นับเป็นการลักพาตัวชาวอเมริกันในอิรักเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการถอนทหารสหรัฐฯ ในปี 2011
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่เป็นคนของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า วอชิงตันยังไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าอิหร่านเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ แล้วก็ไม่เชื่อด้วยว่าคนทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวอยู่ในอิหร่าน ประเทศที่มีชายแดนติดอิรัก
"พวกเขาถูกลักพาตัวก็เพราะว่าเป็นชาวอเมริกัน ไม่ใช่เพราะเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องเงิน" หนึ่งในแหล่งข่าวที่เป็นคนของอิรัก กล่าว
จากข้อมูลของแหล่งข่าวที่รู้เรื่องนี้ ชายทั้ง 3 ที่ถูกลักพาตัวนั้นเป็นลูกจ้างของบริษัทเล็กๆ ที่ทำงานให้กับ "เจเนอรัล ไดนามิค คอร์ป" ภายใต้สัญญากับกองทัพสหรัฐฯ
รัฐบาลอิรักได้ดิ้นรนอย่างหนักที่จะกุมบังเหียนควบคุมพวกกลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ ที่เคยถูกกล่าวหาว่าลักพาตัวและสังหารชาวอเมริกันหลายรายในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งมีหลายกลุ่มที่ต่อสู้กับทหารสหรัฐฯ หลังการบุกอิรักในปี 2003
ฮิชาม อัล-ฮาเชมี นักวิเคราะห์ในแบกแดด ผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอิรัก ได้ระบุว่า การลักพาตัวครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างความอัปยศอดสูและดูอ่อนแอให้แก่ นายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี แห่งอิรัก ผู้ซึ่งพยายามจะรักษาสมดุลด้านความสัมพันธ์ของประเทศเขาที่มีต่ออิหร่านและสหรัฐฯ
"กลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุนั้นไม่พอใจในความสำเร็จของกองทัพอิรักจากศึกที่รามาดี ซึ่งลุล่วงได้ด้วยความช่วยเหลือของพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ขณะที่พวกกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวไม่ได้มีส่วนร่วมในชัยชนะครั้งนั้น" นักวิเคราะห์ กล่าว
บรรดากลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ถูกกันออกจากการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่เมืองรามาดี เนื่องจากเกรงว่าจะยิ่งซ้ำเติมความตึงเครียดระหว่างนิกายให้เลวร้ายไปมากกว่าเดิมต่อชาวมุสลิมสุหนี่ในเมืองดังกล่าว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันอาทิตย์ ว่ากำลังทำงานร่วมกับทางการอิรักเพื่อหาตำแหน่งของชาวอเมริกันที่ถูกว่าสูญหาย โดยที่ไม่มีการยืนยันในขณะนั้นว่าเป็นการลักพาตัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามในวันอังคาร จอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ระบุว่า ภาพรวมเรื่องนี้เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้นทีละนิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
เคอร์บี้ยังได้ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องที่ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ "จอห์น เคร์รี" ได้ติดต่อกับรัฐมนตรี จาวัด ซารีฟ ของอิหร่าน เกี่ยวกับเรื่องลักพาตัวนี้บ้างหรือไม่
ความเป็นศัตรูต่อกันระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีการยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน เพื่อแลกกับการยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ตามข้อตกลงที่อิหร่านทำกับมหาอำนาจ 6 ชาติ รวมถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างอิหร่าน-สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หลังแลกตัวนักโทษ อเมริกากลับดัดหลังอีกฝ่ายโดยดำเนินการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งต่อ 11 บริษัทและบุคคลที่ให้การสนับสนุนโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน