รอยเตอร์ - แหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเผย จุดยืนที่ริยาดมีต่ออิหร่านเวลานี้อาจสรุปเป็นถ้อยคำสั้นๆ ว่า “พอกันที” หลังผู้ประท้วงอิหร่านบุกเผาทำลายสถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะรานเมื่อวันอาทิตย์ (3 ม.ค.) เนื่องจากโกรธแค้นที่ผู้นำมุสลิมชีอะห์คนสำคัญถูกสั่งประหารชีวิต ขณะที่ริยาดก็ตัดสินใจประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านทันที
แหล่งข่าววงในซึ่งไม่ประสงค์ออกนามอธิบายว่า รัฐบาลซาอุฯ ไม่เพียงโกรธเคืองอิหร่านซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานเท่านั้น แต่ยังไม่พอใจที่สหรัฐฯ ทำนิ่งเฉย ปล่อยให้อิหร่านใช้อิทธิพลก้าวก่ายกิจการในตะวันออกกลาง
สหรัฐฯ และมหาอำนาจอีก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้ทำข้อตกลงสำคัญกับอิหร่านเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว โดยอิหร่านยอมที่จะลดทอนกิจกรรมนิวเคลียร์ลงเพื่อให้ตะวันตกผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจให้ ท่ามกลางความหวาดระแวงของรัฐอ่าวอาหรับบางประเทศที่เกรงว่าวอชิงตันอาจมองข้ามผลประโยชน์ของพวกตน เพื่อรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านไว้
ผู้ประท้วงชาวอิหร่านบุกโจมตีและจุดไฟเผาสถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะรานเมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ (4) หรือเพียง 1 วันหลังจากที่ริยาดประหารนักโทษคดีก่อการร้าย 47 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา ผู้นำมุสลิมชีอะห์คนสำคัญที่มีชื่อเสียงในฐานะนักวิพากษ์วิจารณ์ฝีปากกล้าต่อการปกครองที่กดขี่ของทางการซาอุฯ ต่อชนกลุ่มน้อยชีอะห์ในประเทศ
การสั่งประหาร ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากอิหร่าน และนำมาสู่ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำถึงขีดสุดระหว่างสองชาติคู่อริซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามกันแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในซีเรีย เยเมน เลบานอน หรืออิรัก
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นมหาอำนาจนิกายสุหนี่ และเป็นชาติที่เคร่งศาสนาที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ยึดถือแนวทางอิสลามสาย “วะฮาบีย์” ซึ่งมองว่าชาวชีอะห์เป็นพวกนอกศาสนา
“พอกันที... หลายครั้งแล้วที่อิหร่านหยามหน้าตะวันตกด้วยการยิงขีปนาวุธและสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย โดยไม่มีใครคิดจะห้ามปรามพวกเขา” แหล่งข่าวระบุ
“ทุกครั้งที่อิหร่านทำอะไร สหรัฐฯ จะหลบฉากออกไปเสมอ วันนี้ซาอุดีอาระเบียก็กำลังทำอะไรบางอย่างในซีเรีย อิหร่าน และเยเมน... และพวกเขาไม่แคร์หรอกว่าทำเนียบขาวจะพอใจหรือไม่”
แหล่งข่าวผู้นี้อธิบายในภายหลังว่า รัฐบาลซาอุฯ ไม่ได้มองข้ามความคิดเห็นของสหรัฐฯ แต่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปกป้องผลประโยชน์ของชาติในยามจำเป็น
“ใช่ว่าพวกเขาจะไม่สนใจว่าทำเนียบขาวคิดอย่างไร... แน่นอนว่าซาอุฯ กับสหรัฐฯ จำเป็นต้องร่วมมือกันในบางเรื่อง แต่เวลานี้ซาอุฯ รู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นต้องใช้ไม้แข็งจัดการอิหร่าน เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดเอาไว้”