xs
xsm
sm
md
lg

เผยจีนให้ราคา 700 ล้านยูโรซื้อหุ้นใหญ่ “ท่าเรือปิเรอุส” ของกรีซ -จุดสำคัญใน “เส้นทางสายไหม”

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

COSCO offers 700m euros for Greece’s Piraeus Port
By Asia Unhedged
14/01/2016

คอสโค บริษัทรัฐวิสาหกิจด้านการเดินเรือทะเลของจีน ยื่นข้อเสนอให้ราคา 700 ล้านยูโร (ประมาณ 762 ล้านดอลลาร์ หรือ 28,000 ล้านบาท) เพื่อประมูลซื้อหุ้นราวสองในสามของการท่าเรือปิเรอุส ผู้ดำเนินการท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกรีซ หลังจากที่รอคอยมาอย่างยาวนานถึง 18 เดือน

หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ รายงาน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://europe.chinadaily.com.cn/business/2016-01/14/content_23090494.htm) ว่า ไชน่า คอสโค ชิปปิ้ง กรุ๊ป (China COSCO Shipping Group Co,) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นจากการควบรวมกันหมาดๆ ระหว่างบริษัทไชน่า โอเชียน ชิปปิ้ง กรุ๊ป จำกัด (China Ocean Shipping Group Co หรือ COSCO) กับบริษัทไชน่า ชิปปิ้ง กรุ๊ป จำกัด (China Shipping Group Co) และมีฐานะเป็นกิจการเดินเรือทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแดนมังกรเมื่อวัดกันในด้านศักยภาพ ได้ยื่นเสนอเงินจำนวน 700 ล้านยูโร (762 ล้านดอลลาร์) เพื่อประมูลซื้อหุ้นราวสองในสามของ การท่าเรือปิเรอุส (Piraeus Port Authority SA) รัฐวิสาหกิจผู้บริหารท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศกรีซ หลังจากต้องรอคอยกันมานาน 18 เดือน

ไชน่าเดลี่อ้างรายงานข่าวของ วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal หรือ WSJ) ซึ่งระบุด้วยว่า บริษัท ไชน่า คอสโค โฮลดิ้งส์ (China COSCO Holdings Co,) กิจการหนึ่งในเครือของ คอสโค ชิปปิ้ง ได้ยื่นข้อเสนอประมูลอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลกรีซเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ คอสโค ชิปปิ้ง เป็น 1 ในเพลเยอร์ของแวดวงอุตสาหกรรมนี้รวม 5 ราย ซึ่งแสดงความสนใจตั้งแต่ตอนที่มีการจัดการประมูลกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2014 ที่จะเข้าซื้อหุ้นจำนวน 67% ของการท่าเรือปิเรอุส โดยผู้สนใจรายอื่นๆ ยังมี อาทิ เอพีเอ็ม เทอร์มินอลส์ (APM Terminals) ผู้ดำเนินกิจการท่าเรือคอนเทนเนอร์สัญชาติดัตช์ และ พอร์ตส์ อเมริกา อิงค์ (Ports America Inc) ของสหรัฐฯ

ทางด้านโฆษกของกองทุนเฮลเลนนิก รีพับลิก แอสเสต ดีเวลอปเมนต์ ฟันด์ (Hellenic Republic Asset Development Fund) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการขายหุ้นคราวนี้ ปฏิเสธไม่ขอออกความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ โดยระบุว่าเนื่องจากกระบวนการประมูลยังคงดำเนินอยู่ ยังไม่ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

คอสโค ชิปปิ้ง ยังเสนอเอาไว้ในเงื่อนไขที่ยื่นประมูลว่า บริษัทจะลงทุนเป็นจำนวนเงินอีก 350 ล้านยูโรภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่ที่มีการเซ็นข้อตกลงซื้อขายหุ้นกัน เพื่อใช้ในการปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในท่าเรือปิเรอุส

คอสโค ชิปปิ้ง เป็นผู้ประมูลเพียงรายเดียวซึ่งได้รับหนังสือจากกองทุนเฮลเลนนิก รีพับลิก แอสเสต ดีเวลอปเมนต์ ฟันด์ อันเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมีรัฐบาลกรีซเป็นเจ้าของ ให้ยื่นข้อเสนอประมูลของตนต่อทางการผู้รับผิดชอบของกรีซภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากที่บริษัทชิปปิ้งอื่นๆ 2 รายที่เป็นคู่แข่งขันได้ถอนตัวออกไป ทั้งนี้ในปัจจุบัน คอสโค เป็นผู้ดำเนินการท่าเทียบเรือ 2 ท่าของท่าเรือปิเรอุสอยู่แล้ว

ด้วยความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มพูนความสามารถในการหารายได้ของพวกตน และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นกับพวกคู่แข่งชาวต่างชาติ บริษัทไชน่า โอเชียน ชิปปิ้ง กรุ๊ป จำกัด (China Ocean Shipping Group Co) กับบริษัทไชน่า ชิปปิ้ง กรุ๊ป จำกัด (China Shipping Group Co) 2 รัฐวิสาหกิจใหญ่ด้านกิจการเดินเรือทะเลของจีน ได้ประกาศเข้าควบรวมกิจการกัน และจัดตั้งทีมคณะผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมาในเดือนมกราคมนี้ โดยกลุ่มเครือข่ายกิจการอันเกิดจากการควบรวมกันคราวนี้ มีฐานะเป็นสายการเดินเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีศักยภาพเท่ากับ 8% ของการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ในทั่วทั้งโลก นอกจากนั้นยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนวนมากในด้านท่าเรือ, ลานสินค้าทางเรือ, และทรัพย์สินด้านลอจิสติกส์

เฉิน อิงหมิง (Chen Yingming) รองประธานบริหารของสมาคมท่าเรือจีน (China Ports and Harbors Association) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ต้องใช้เวลานานมากทีเดียวในการรอคอยให้รัฐบาลกรีซคัดเลือก “ผู้ซื้อรายที่ดีที่สุด” แต่ก็เป็นการคุ้มค่าที่จะรอคอยเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจท่าเรือแห่งนี้ ในเมื่อมูลค่าทรัพย์สินกำลังลดต่ำลงมาอย่างฮวบฮาบ ภายใต้บรรยากาศทางธุรกิจของอุตสาหกรรมนี้ในปัจจุบัน

“จากการที่การค้าโลกได้ทรุดตัวลง อุตสาหกรรมการเดินเรือทะเลจึงยังต้องเผชิญช่วงเวลาอันหนักหนาสาหัสของการแข่งขันอย่างดุเดือดในระหว่างพวกยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศในด้านกิจการด้านนี้ ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่พวกเขานำออกมาใช้กัน เป็นต้นว่า การรวมกลุ่มเป็นพันธมิตร และการเสนออัตราค่าขนส่งสินค้าที่ต่ำลงมา ย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือนอัตราผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว" เฉิน แจกแจง

ความสำคัญของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สำหรับผลิตภัณฑ์ของจีนอย่างเช่น เสื้อผ้า, เครื่องจักรกลโรงงาน, เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน, ชิ้นส่วนรถยนต์, และเส้นด้ายที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถือเป็นจุดผ่านเข้าสู่ยุโรปที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นทะเลแห่งนี้ยังเป็นจุดผ่านเข้าสู่ยุโรปที่สำคัญมากของสินค้าประเภทรถยนต์จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกด้วย ดังนั้น เฉินจึงมีความเห็นว่า ท่าเรือปิเรอุส ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่มีที่ตั้งอันเหมาะสมบนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีศักยภาพอย่างมากมายยิ่งกว่าที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ในการดึงดูดพวกบริษัทเดินเรือทะเลระหว่างประเทศ ให้เข้าไปจัดตั้งศูนย์ขนถ่ายสินค้าระดับภูมิภาค ตลอดจนจัดตั้งสำนักงานสาขาสำหรับการให้บริการด้านต่างๆ

ขณะที่ ต่ง ลี่วาน (Dong Liwan) ศาสตราจารย์ด้านอุตสาหกรรมเดินเรือทะแล ของมหาวิทยาลัยการเดินเรือทะเลเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Maritime University) ชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ คอสโค ชิปปิ้ง จะเป็นผู้ชนะในการประมูลซื้อหุ้นปิเรอุสคราวนี้ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในท่าทีของรัฐบาลกรีซ

“การลงทุนในการท่าเรือปิเรอุสของ คอสโค ชิปปิ้ง ยังเป็นการตอบสนองความต้องการของประเทศจีน ในเรื่องการพัฒนาตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) อีกด้วย” ต่ง ชี้ “การลงทุนดังกล่าวจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศจีน ในการสร้างท่าเรือปิเรอุส ให้กลายเป็นท่าเรือที่ต้องแวะจอดกันมากยิ่งขึ้น สำหรับเส้นทางเดินเรือทะเลสายจีน-ยุโรป”

ทั้งนี้ แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เสนอขึ้นโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2013 โดยประกอบไปด้วย แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) และ เส้นทางสายไหมทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (the 21st Century Maritime Silk Road) แผนการริเริ่มนี้ครอบคลุมประชาชนจำนวนถึงราว 4,400 ล้านคน ซึ่งอยู่ในประเทศและดินแดนต่างๆ กว่า 60 แห่ง

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น