รอยเตอร์ - อิหร่านหลุดพ้นจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หลังชาติมหาอำนาจของโลกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษเมื่อวันเสาร์ (16) ตอบแทนที่เตหะรานปฏิบัติตามข้อตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์ โดยในเวลาไล่เลี่ยกัน อิหร่านยังได้ประกาศปล่อยตัวชาวอเมริกัน 5 คน หนึ่งในนั้นคือผู้สื่อข่าววอชิงตันโพสต์ อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงแลกตัวนักโทษกับสหรัฐฯ
เมื่อวันเสาร์ ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงว่า อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกับมหาอำนาจ 6 ชาติเมื่อปีที่แล้ว ในการระงับโครงการนิวเคลียร์อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่กี่นาทีหลังจากนั้นอเมริกาก็ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรด้านการธนาคาร ธุรกิจเหล็ก การขนส่งสินค้าและอื่นๆ ต่ออิหร่าน ที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่ถูกตัดขาดจากตลาดโลกมา 5 ปีเต็ม
เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่เริ่มกระบวนการยกเลิกมาตรการลงโทษ ขณะที่รัฐมนตรีคมนาคมอิหร่านประกาศว่า เตหะรานมีแผนสั่งซื้อเครื่องบินพลเรือนจากแอร์บัสของยุโรป 114 ลำ
เท่ากับว่า นับจากนี้การอายัดสินทรัพย์ของอิหร่านนับหมื่นดอลลาร์จะถูกยกเลิก บริษัททั่วโลกที่เคยถูกสั่งห้ามจะสามารถเข้าไปทำธุรกิจในอิหร่านที่กำลังหิวกระหายในทุกอย่าง ตั้งแต่รถยนต์จนถึงชิ้นส่วนเครื่องบิน หรืออีกนัยหนึ่งคืออิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมชีอะห์ จะมีเงินและเกียรติยศมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศนี้ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกลางเมืองในซีเรีย ที่เตหะรานและพันธมิตรเผชิญหน้ากับกบฏมุสลิมนิกายสุหนี่
ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับอิหร่านถูกจับจ้องอย่างเคลือบแคลงจากพรรครีพับลิกันและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เช่น อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย โดยที่ความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างวอชิงตันกับเตหะรานก็ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
อเมริกายังคงมาตรการลงโทษบางส่วนต่อโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอิหร่านได้ควบคุมตัวลูกเรือของกองทัพเรืออเมริกัน 10 คนในอ่าวเปอร์เซีย แต่ปล่อยตัวคนทั้งหมดในวันต่อมา
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังทำในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักด้วยการอภัยโทษชาวอเมริกัน-อิหร่าน 3 คนที่ถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรการแซงก์ชันอิหร่าน ขณะที่อัยการสหรัฐฯ กำลังทำเรื่องยกเลิกข้อหาชาวอิหร่าน 4 คนนอกสหรัฐฯ
ทางด้านอิหร่านตกลงปล่อยตัวชาวอเมริกัน 5 คน ซึ่งรวมถึง “เจสัน เรซาเอียน” ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รวมถึง “ซาอิด อาเบดินี” บาทหลวงคริสเตียนเชื้อสายอเมริกัน-อิหร่านที่ถูกตัดสินจำคุก 8 ปีเมื่อปี 2013 ข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของอิหร่าน
ข้อตกลงแลกตัวนักโทษนี้เป็นผลจากการติดต่อทางการทูต การหารือลับและการดำเนินการทางกฎหมายนานนับเดือน ซึ่งเกือบล้มเหลวมาแล้วตอนที่วอชิงตันขู่ออกมาตรการแซงก์ชันใหม่หลังจากเตหะรานทดสอบขีปนาวุธเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
การผ่อนคลายความตึงเครียดกับอิหร่านถูกต่อต้านจากผู้สมัครทุกคนที่หวังได้เป็นตัวแทนรีพับลิกันลงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้
โดนัล ทรัมป์ เต็งหนึ่งที่มาแรงไม่หยุด กล่าวระหว่างหาเสียงว่า ดีใจที่คนอเมริกันได้รับการปล่อยตัว แต่การที่คนเหล่านั้นถูกคุมขังในอิหร่านมายาวนานถือเป็นเรื่อง “น่าอัปยศ”
ในทางกลับกัน ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครที่มีคะแนนนำของเดโมแครต อ้างความดีความชอบในฐานะที่มีส่วนในการริเริ่มกดดันอิหร่านด้วยมาตรการแซงก์ชันระหว่างรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างปี 2009-2013 นอกจากนี้คลินตันยังเรียกร้องให้ออกมาตรการลงโทษครั้งใหม่จากการที่เตหะรานทดสอบขีปนาวุธเมื่อเดือนที่แล้ว
การที่อิหร่านหวนกลับคืนสู่ตลาดน้ำมัน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทรุดดิ่ง โดยสัปดาห์ที่แล้วตกทะลุระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี
ทั้งนี้ เตหะรานเผยว่าจะสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำมันได้ 500,000 บาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) ภายในไม่กี่สัปดาห์
การยุติมาตรการลงโทษถือเป็นความสำเร็จสำคัญสำหรับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี นักการศาสนาที่ชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 จากการให้สัญญาว่าจะทำให้ทั่วโลกผ่อนคลายการโดดเดี่ยวอิหร่าน
วันเสาร์ รูฮานีปราศรัยแสดงความยินดีที่มหาอำนาจยุติการแซงก์ชันอิหร่าน และในวันเดียวกันนั้น จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน แสดงความเห็น ซึ่งรวมถึงผ่านบทความในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อิหร่านต้องการมีส่วนร่วมกับนานาชาติในการจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมนิกายสุหนี่ เช่น กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) และอัลกออิดะห์