xs
xsm
sm
md
lg

พินิจนโยบายต่างประเทศ ‘โอบามา’จากการแถลงนโยบายประจำปีครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Goodnight, Mister Obama, sweet dreams
By M K Bhadrakumar
13/01/2016

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวคำแถลงนโยบายประจำปี 2016 ต่อรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) คำแถลงนโยบายปีสุดท้ายของเขานี้ ในส่วนที่พูดถึงเรื่องการต่างประเทศ ต้องถือว่าน่าผิดหวังเอามากๆ ทั้งนี้โอบามากำลังปิดฉากสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา โดยส่งทอดมรดกอันขาดกะรุ่งกะริ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนให้แก่ประธานาธิบดีคนต่อๆ ไป ความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ ปรากฏให้เห็นในความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับ 2 ปรปักษ์รายสำคัญที่สุดของตน อันได้แก่ จีน และรัสเซีย และในสถานการณ์นองเลือดทั้งที่ ซีเรีย, อิรัก, และอัฟกานิสถาน

ถ้าหากใครต้องการมาตรฐานเปรียบเทียบเพื่อใช้ตรวจวัดวินิจฉัยคำแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) 2016 ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแถลงเช่นนี้ต่อรัฐสภาเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรวม 8 ปีของเขาด้วยแล้ว ผมก็ขอแนะนำว่าลองใช้วิธีการอ้อมๆ ดูซิครับ น่าจะบังเกิดผลดีที่สุด ก่อนอื่นเลยขอให้อ่านข้อเขียนของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ “ว็อกซ์ออนไลน์” (Vox Online) ชิ้นที่ประเมินสรุปว่า เมื่อเทียบกับบรรดาประธานาธิบดีอเมริกันด้วยกันแล้ว โอบามาควรจะยืนอยู่ในกลุ่มไหน

ว็อกซ์นั้นให้คะแนนโอบามาสูงลิ่วอย่างน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว โดยเขียนระบุเอาไว้ดังนี้: “โดยทั่วไปแล้วคุณสามารถแบ่งประธานาธิบดีอเมริกันทั้งหลายออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งคือพวกที่ดีนิดหน่อย หรือ เลวเล็กน้อย ทว่าพูดกันถึงที่สุดแล้วก็สมควรที่จะลืมกันไปเลยดีกว่า (เป็นต้นว่า คลินตัน, คาร์เตอร์, ทัฟต์, แฮร์ริสัน) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกที่ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องตามมาอย่างใหญ่โตไม่ว่าในทางดีหรือในทางเลวก็ตาม (เป็นต้นว่า แฟรงคลิน ดี รุสเวลต์, ลินคอล์น, นิกสัน, แอนดริว แจ๊กสัน) สำหรับโอบามา ไม่ว่าคุณจะรักชอบหรือเกลียดชังผลงานที่เขากระทำมา แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลสำเร็จทั้งทางด้านภายในประเทศและทางด้านการต่างประเทศของเขา จะนำพาเขาเข้าไปอยู่ในกลุ่มหลังอย่างหนักแน่นมั่นคง”

บางที ว็อกซ์ อาจจะถูกต้องทีเดียวในเรื่องสัมฤทธิผลของนโยบายภายในประเทศของโอบามา ซึ่งอยู่ในระดับใหญ่โต – ไม่ใช่หรอกครับ ควรต้องบอกว่า อยู่ในระดับสร้างประวัติศาสตร์ใหม่กันทีเดียว ทว่า สำหรับนโยบายการต่างประเทศแล้ว จะบอกว่าประสบความสำเร็จหรือ? มันยังดูตะกุกตะกัก ไม่อาจพูดได้อย่างลื่นไหลชวนให้น่าเชื่อถือเอาเสียเลย สำหรับชาวต่างประเทศคนหนึ่งอย่างผมซึ่งกำลังเฝ้าสังเกตการณ์จากจุดที่ห่างไกลออกมาแล้ว คำแถลงนโยบายประจำปี 2016 ของโอบามา ในส่วนที่พูดถึงเรื่องการต่างประเทศ ต้องถือว่าน่าผิดหวังเอามากๆ ด้วยซ้ำ

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ซึ่งกำลังส่งผลกระทบกระเทือนต่อสันติภาพของโลกอย่างน่าเจ็บปวดที่สุดอยู่ในเวลานี้ อันได้แก่วิกฤตในตะวันออกกลาง โอบามาใช้ท่าทีหลบเลี่ยงไม่ยอมพูดให้ตรงประเด็นเอาดื้อๆ โดยเขากล่าวว่า “ตะวันออกกลางนั้นกำลังอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านซึ่งคงจะกินเวลาถึง 1 ชั่วอายุคนกว่าจะแล้วเสร็จ (วิกฤต) การเปลี่ยนผ่านนี้มีรากเหง้าอยู่ในความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งสามารถสาวย้อนหลังกลับไปได้เป็นพันๆ ปี”

การที่เขาพูดอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร? เขาหมายความว่าภูมิภาคนี้ได้เกิดความปั่นป่วนผันผวนจนกระทั่งควบคุมไม่อยู่แล้ว และจำเป็นต้องใช้กาลเวลามาเป็นตัวสร้างความสมดุลของมันยังงั้นหรือ? หรือเขาต้องการบอกว่าในเวลาอีกประมาณ 15 ถึง 20 ปีข้างหน้า ตะวันออกกลางส่วนที่เป็นชาวมุสลิม จะถูกฉีกกระชากแตกแยกออกไปรวมตัวกันตามลัทธินิกายศาสนา? หรือ เขาจะพูดว่า ภูมิภาคนี้กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตย?

ขณะเดียวกัน รากเหง้าของวิกฤตในภูมิภาคดังกล่าวนั้น จำนวนมากทีเดียวกลับสามารถสืบสาวย้อนรอยไปถึงนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯเองที่มีต่อตะวันออกกลางในรอบระยะเวลาประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาหรือกว่านั้นเสียอีก ทว่าโอบามากลับพยายามที่จะพูดเพื่อนำพาให้สหรัฐฯอยู่ห่างจากความปั่นป่วนวุ่นวายเหล่านั้น –โดยมียกเว้นเฉพาะในเรื่องสงครามต่อสู้กับการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสหรัฐฯเอง หรือที่สหรัฐฯเรียกกันอย่างขรึมขลังว่า “ความมั่นคงของมาตุภูมิ” (homeland security) ทั้งนี้เขาอุทิศคำแถลงของเขาเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียวให้แก่เรื่องสงครามเพื่อต่อสู้เอาชนะกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส), และกลุ่มอัลกออิดะห์นี้ แต่ข้อเสนอแนะของเขากลับมีเพียงแค่ว่า รัฐสภาสหรัฐฯควรต้อง “มอบอำนาจในการใช้กำลังทหาร” แก่ทางฝ่ายบริหาร เพื่อต่อสู้ปราบปรามไอเอส

ทั้งๆ ที่ในทางเป็นจริงแล้ว เวลานี้เหล่าปีศาจร้ายจากภูมิภาคตะวันออกกลางเหล่านี้ กำลังเข้าแอบแฝงพำนักอาศัยอย่างลับๆ อยู่ตามเมืองใหญ่เมืองสำคัญของยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ปารีส หรือ โคโลญ แล้วนี่ไม่ได้เป็นมรดกตกทอดซึ่งคณะบริหารโอบามาเป็นผู้สร้างขึ้นมาด้วยหรอกหรือ?

ขณะเดียวกัน การสร้างความปรองดองทางการเมืองในซีเรีย ก็ได้กลายเป็นพันธะผูกพันที่โอบามาต้องทำให้กับบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯในยุโรป ซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ทว่าการที่จะบรรลุความปรองดองในซีเรียให้สำเร็จนั้น สหรัฐฯจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในเมื่อโอบามายังคงประเมินสถานการณ์อย่างติดข้องไม่ยอมเลิกรา ว่ารัสเซียนั่นแหละเป็นผู้ที่กำลังเติมเชื้อเพลิงให้แก่การสู้รบขัดแย้งในซีเรีย?

เขากล่าวในการแถลงนโยบายคราวนี้ว่า “แม้กระทั่งเมื่อเศรษฐกิจของพวกเขาหดตัวลง แต่รัสเซียก็ยังคงกำลังทุ่มเททรัพยากรเพื่อสนับสนุนค้ำจุนยูเครนและซีเรีย –รัฐที่พวกเขามองว่ากำลังลื่นหลุดออกไปจากวงโคจรของพวกเขา”

มองกันในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่โอบามาพูดเช่นนี้ ก็คือการที่เขากำลังปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเอามากๆ ต่อรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาเอง เพราะมันเป็นการบ่อนทำลายคุณค่าความพยายามอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยของ จอห์น เคร์รี ในการหาทางกุมมือรัสเซียเอาไว้ เพื่อที่จะได้มีช่องทางสำหรับเริ่มต้นกระบวนการปรองดองในซีเรียขึ้นมา

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถัดจากไอเอสและอัลกออิดะห์แล้ว ก็เป็นรัสเซียนั่นแหละที่ติดข้องค้างคาอยู่ในความคิดจิตใจของโอบามา จนกล่าวได้ว่าเขากำลังหมกมุ่นใช้เวลากับแดนหมีขาวมากเกินไปแล้ว เขาไม่สามารถที่จะทำให้ความคิดจิตใจของเขาปลอดโปร่งพ้นออกมาจากความหมกมุ่นที่ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน คือผู้ที่เที่ยวไล่ต้อนรุกฆาตเขาในทุกหนทุกแห่งทุกที่ทุกทาง มันได้กลายเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไปแล้ว และก็กำลังบดบังสร้างความขุ่นมัวให้แก่การใช้ดุลพินิจของเขา

สำหรับในเรื่องเกี่ยวกับจีนล่ะ? สิ่งที่โอบามาพูดออกมาในคราวนี้คือ “เศรษฐกิจจีนซึ่งกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ต้องเผชิญกับกระแสลมต้านไม่หยุดไม่หย่อน” ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง โอบามาสรุปด้วยความพออกพอใจว่า จากการบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) –แน่นอนทีเดียว ยังต้องมีเงื่อนไขว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะต้องยินยอมให้สัตยาบันข้อตกลงฉบับนี้ รวมทั้งเปิดทางให้เขา “มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำข้อตกลงนี้มาบังคับใช้”— เขาก็มีความมั่นอกมั่นใจว่า “จีนไม่ได้เป็นผู้กำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ในภูมิภาคดังกล่าว (ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) เราต่างหากที่เป็นผู้กำหนด” แต่มันเป็นความจริงเช่นนั้นแน่ๆ แล้วหรือ?

น่าสังเกตว่าโอบามาไม่ได้เอ่ยออกมาแม้แต่คำเดียวเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในการปรับคืนสู่ความสมดุล (rebalance strategy) ในเอเชียแปซิฟิก --ทั้งๆ ที่มันเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งก่อรูปขึ้นมาภายใต้การกำกับดูแลรับผิดชอบของเขา การที่เขาปิดปากเงียบเช่นนี้คือการยอมรับว่ามันล้มเหลว หรือเป็นการบ่งบอกถึงการจัดลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว? โอบามาได้ยอมแพ้ ไม่ผลักดันเรื่อง “การปรับคืนสู่ความสมดุล” อีกแล้วใช่หรือไม่?

แน่นอนทีเดียว ส่วนที่ดีที่สุดของการแถลงนโยบายประจำปี 2016 คราวนี้ อยู่ตรงที่การตอกย้ำสิ่งที่เรียกขานกันว่า “หลักการโอบามา” (Obama Doctrine) --นั่นคือการยอมรับว่า ในโลกร่วมสมัย อำนาจของอเมริกันนั้นมีข้อจำกัดอันฉกาจฉกรรจ์หลายๆ ประการ และ “ความเป็นผู้นำหมายความถึงการนำเอาแสนยานุภาพทางทหารมาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาด โดยที่ต้องป่าวร้องเรียกหาความสนับสนุนของทั่วโลก”

เขาพูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมาทีเดียว: “คำตอบของเรา (ต่อปัญหาต่างๆ ของโลก) จำเป็นที่จะต้องมีมากกว่าเพียงแค่การพูดจาอย่างหนักแน่นแข็งขัน หรือการเรียกร้องให้ทิ้งระเบิดปูพรมใส่พลเรือน ... ยิ่งกว่านั้น เรายังไม่สามารถที่จะพยายามเข้าไปเทคโอเวอร์ทุกๆ ประเทศซึ่งตกถลำลงไปในวิกฤต และเข้าฟื้นฟูบูรณะทุกๆ ประเทศเหล่านี้ แท้ที่จริงแล้ว การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่การแสดงความเป็นผู้นำหรอก นั่นกลับเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการหล่นลงไปในหล่มลึก ทำให้เลือดเนื้อของคนอเมริกันต้องไหลนอง และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อย่างอีนุงตุงนังซึ่งในท้ายที่สุดก็เป็นตัวถ่วงรั้งทำให้เราอ่อนแอลง นี่คือบทเรียนจากเวียดนาม บทเรียนจากอิรัก – และเมื่อถึงเวลานี้ เราควรที่จะต้องเรียนรู้ได้เสียทีแล้ว”

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ นะครับ มันยังเร็วเกินไปสักหน่อยที่จะประกาศฟันธงกันตั้งแต่ตอนนี้ว่า “หลักการโอบามา” จะยังได้รับการเชิดชู จะยังได้รับการปฏิบัติตามภายหลังประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในตอนนี้ ความสำเร็จด้านนโยบายการต่างประเทศของโอบามา ก็สามารถนับได้ด้วยมือข้างเดียวด้วยซ้ำ ได้แก่ การปรับปรุงความสัมพันธ์ขั้นปกติกับคิวบา, ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นในประเด็นปัญหาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน, การทำข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, และข้อตกลง ทีพีพี

ความหมายความสำคัญของมรดกเหล่านี้ยังแลดูลดน้อยด้อยค่าลงไปมาก หากเราคำนึงถึงความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ว่า นโยบายที่สหรัฐฯใช้กับคิวบาและอิหร่านในอดีตที่ผ่านมานั้น ได้เดินไปจนถึงทางตันแล้ว ดังนั้นการหันมามีปฏิสัมพันธ์กับ2 ประเทศนี้จึงเป็นเพียงสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ มากกว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวที่หลักแหลมหนักแน่นกว้างไกลอะไร เมื่อคุณทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง สืบเนื่องจากถูกบีบบังคับด้วยสถานการณ์ คุณจะถือว่าสิ่งที่คุณทำเป็นความสำเร็จได้หรือ?

มองกันในอีกแง่มุมหนึ่ง ยังคงสามารถพูดได้ว่า เท่าที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ โอบามากำลังปิดฉากสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา โดยส่งทอดมรดกอันขาดกะรุ่งกะริ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนให้แก่ประธานาธิบดีคนต่อๆ ไป ความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ประการหนึ่งปรากฏให้เห็นในความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับ 2 ปรปักษ์รายสำคัญที่สุดของตน อันได้แก่ จีน และรัสเซีย ขณะที่ความไม่แน่นอนประการที่สองก็คือ เขากำลังก้าวจากไปโดยที่ทิ้งบาดแผลซึ่งกำลังหลั่งเลือดนองเนืองเอาไว้เบื้องหลังทั้งในซีเรีย, อิรัก, และอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าความเจ็บปวดรวดร้าวในสถานที่เหล่านี้ บังเกิดขึ้นเนื่องมาจากความล้มเหลวของนโยบายของเขาเองอย่างน้อยที่สุดก็บางส่วน

ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ว่าโอบามาจะกล่าวเอาไว้เช่นไร แต่นักประวัติศาสตร์ก็กำลังจะวินิจฉัยว่านโยบายอันหุนหันพลันแล่นของเขานั่นเองซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญมากในการทำลายสร้างความวิบัติให้แก่ประเทศ 2 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย และยูเครน การที่โอบามากลับพยายามโยนความผิดในเรื่องเหล่านี้ไปให้แก่รัสเซีย มันก็ทำให้ความคิดจิตใจของเราบังเกิดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่เพียงเท่านั้น การวินิจฉัยเช่นนี้ของเขายังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ทางการเมืองและความจริงใจทางการเมืองของเขาอีกด้วย

โอบามาอาจจะพูดเอาไว้ถูกต้องแล้วที่ว่า เกียรติภูมิในระดับระหว่างประเทศของอเมริกาในทุกวันนี้ มีความสูงส่งกว่าเมื่อตอนที่เขาเข้ารับช่วงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ก็นั่นแหละ เรื่องนี้ย่อมเป็นสิ่งที่พึงคาดหมายเอาไว้อยู่แล้ว เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนหน้าเขา (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) นั้น ได้ปล่อยให้ชื่อเสียงเกียรติยศของอเมริกาในประชาคมโลกเหม็นโฉ่เสียหายไปถึงขนาดนั้น

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว คำแถลงนโยบายประจำปี 2016 คราวนี้ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่า โอบามาเสนอที่จะหยุดพักการผลักดันงานในด้านนโยบายการต่างประเทศ สำหรับช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก 1 ปีของเขา เขาแสดงท่าทีเหมือนกับเป็นเจ้าของร้านซึ่งไม่คาดหมายว่าจะมีธุรกิจอะไรเพิ่มเติมเข้ามา และต้องการแต่จะปิดประตูร้านเพื่อที่จะได้รีบกลับบ้านรับประทานอาหารค่ำ และปลดเกษียณเลิกทำงาน ท่าทีเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ เนื่องจากเขายังมีคำมั่นสัญญาหลายประการที่เคยให้ไว้และยังไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาซึ่งเขาให้ไว้ในคำปราศรัยอันยิ่งใหญ่ที่เขาพูดเอาไว้ในกรุงปราก และในกรุงไคโร เมื่อปี 2009 ว่าด้วยการลดกำลังอาวุธของโลก และว่าด้วย “การเริ่มต้นกันใหม่” ระหว่างโลกมุสลิมกับอเมริกา

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

กำลังโหลดความคิดเห็น