รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีอาห์เมต ดาวูโตกลู แห่งตุรกีระบุในวันอังคาร (12 ม.ค.) ว่ามือระเบิดฆ่าตัวตายที่สังหารนักท่องท่องเที่ยวอย่างน้อย 10 คน เกือบทั้งหมดเป็นชาวเยอรมนี ในใจกลางย่านท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล เป็นสมาชิกต่างชาติของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) พร้อมประกาศลั่นนำตัวผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษและจะเดินหน้าสู้รบกับพวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ต่อไป
ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ออกมาประณามเหตุระเบิดใกล้ๆ กับบลูมอสก์ (มัสยิดสีน้ำเงิน) ในย่านสุลตานาห์เมต อันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากของเมืองอิสตันบูล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวชมนับหมื่นๆ
“ผมขอประณามอย่างแรงกล้าต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายคราวนี้ซึ่งเป็นฝีมือการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายผู้หนึ่งที่มีรากเหง้าจากซีเรีย” เออร์โดกันระบุในการปราศรัยจากเมืองหลวงอังการา ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีนูมัน คูร์ตุลมุส บอกว่าสามารถระบุตัวตนของมือระเบิดได้จากชิ้นส่วนอวัยวะ ณ จุดเกิดเหตุ และอยู่ระหว่างการสืบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชายชาวซีเรียรายนี้ที่เกิดในปี 1988
ด้านนายดาวูโตกลูเปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ของเหตุโจมตีครั้งนี้เป็นชาวต่างชาติและเขาได้คุยกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อแสดงความเสียใจแล้ว หลังพบว่าในบรรดาเหยื่อทั้งหมด มีอยู่ 9 คนเป็นชาวเยอรมนี ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเยอรมนีเช่นกัน
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในกรุงอังการา นายดาวูโตกลู ยังประกาศจะตามล่าตัวพวกที่เกี่ยวข้องกับมือระเบิดและลงโทษคนเหล่านั้น และจะเดินหน้าสู้รบกับพวกไอเอสต่อไป
กระทรวงการต่างประเทศของนอร์เวย์เปิดเผยว่ามีชายชาวนอร์เวย์คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและกำลังเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนสำนักข่าวโดกันรายงานว่ามีชาวเยอรมนี 9 คนและชาวเปรู 1 คนได้รับบาดเจ็บเช่นกัน
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูง 2 นายบอกกับรอยเตอร์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่เหตุโจมตีคาวนี้จะเป็นฝีมือของพวกไอเอส
ตุรกี สมาชิกนาโตเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ ต่อต้านนักรบไอเอสซึ่งยึดครองพื้นที่อันกว้างขวางในประเทศเพื่อนบ้านของตุรกีอย่างซีเรียและอิรัก
เบื้องต้นยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่นอกเหนือจากไอเอสแล้ว พวกกลุ่มฝ่ายซ้ายและนักรบเคิร์ด ซึ่งกำลังต่อสู้กับอังการาในทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ต่างก็เคยปฏิบัติการโจมตีในอดีต ขณะที่สำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดอิสตันบูล เผยว่าเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนชนิดของระเบิดที่ใช้เพื่อหาว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้
ตุรกีเคยตกเป็นเป้าหมายของพวกไอเอสมาแล้ว ด้วยเหตุระเบิด 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว ในเมืองซูรุค ใกล้ชายแดนซีเรียและในกรุงอังการา ที่หนหลังคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 100 ศพ กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของพวกมุสลิมสุหนี่หัวรุนแรงกลุ่มดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ความรุนแรงยังลุกลามขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศที่มีชาวเคิร์ดเป็นคนส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิง 2 ปีระหว่างรัฐกับกลุ่มนักรบของพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ซึ่งต่อสู้เพื่ออำนาจในการปกครองตนเองมานานกว่า 3 ทศวรรษพังครืนลงในเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกพีเคเคมักหลีกเลี่ยงโจมตีเป้าหมายพลเรือนในย่านกลางเมืองนอกภาคตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้แล้วตุรกียังเผชิญภัยคุกคามจากพวกพีวายดีและวายพีจี สองกลุ่มเคิร์ดในซีเรียด้วย
เหตุโจมตีในวันอังคาร (12 ม.ค.) ก่อความกังวลว่ามันอาจก่อความเสียหายเพิ่มเติมแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันสำคัญของตุรกี ซึ่งได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการทูตกับรัสเซียอยู่ก่อนแล้ว หลังมอสโกตอบโต้ด้วยการยกเลิกทัวร์ท่องเที่ยวตุรกี