xs
xsm
sm
md
lg

ตุรกียังวุ่น! “เออร์โดกัน” กลับถึงอิสตันบูล-แต่งตั้งปธ.เสนาธิการทหารคนใหม่ ชาวตุรกีแห่แสดงพลังต้านรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่นครอิสตันบูล หลังเกิดความพยายามก่อรัฐประหาร วันนี้ (16 ก.ค.)
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกีได้เดินทางกลับไปถึงนครอิสตันบูลเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (16 ก.ค.) หลังเกิดความพยายามก่อรัฐประหารขึ้น โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยอมจำนนต่อพวกกบฏ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมตามจตุรัสและถนนหลายสายเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล

เออร์โดกัน ซึ่งได้เดินทางไปพักผ่อนช่วงวันหยุดที่ชายทะเลได้ขึ้นเครื่องบินกลับถึงนครอิสตันบูลเมื่อช่วงรุ่งสาง และปรากฏตัวผ่านสื่อโทรทัศน์ต่อหน้าผู้สนับสนุนจำนวนมากที่ด้านนอกสนามบิน ซึ่งกลุ่มที่พยายามก่อรัฐประหารยังไม่สามารถยึดไว้ได้

เออร์โดกัน ระบุว่า พฤติการณ์ของทหารกลุ่มนี้เข้าข่าย “ก่อกบฏ” และผู้ที่กระทำการจะต้องชดใช้ด้วยราคาแสนแพง

ล่าสุด ได้มีการจับกุมนายทหารจำนวนหนึ่งซึ่งพัวพันกับแผนรัฐประหาร และกำลังสืบสาวไปให้ถึงตัวการใหญ่ ซึ่งจะถือเป็นการ “ล้างบาง” พวกกบฏในกองทัพ

เช้าวันนี้ (16) นายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดิริม แห่งตุรกี ได้ประกาศแต่งตั้ง พล.อ. อูมิต ดุนดาร์ (Umit Dundar) ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเสนาธิการทหาร หลังจากที่ เออร์โดกัน ออกมายอมรับว่า ยังไม่ทราบว่า พล.อ. ฮูลูซี อาการ์ ประธานเสนาธิการทหารคนเดิม ไปอยู่ที่ไหน

เจ้าหน้าที่อาวุโสของตุรกีระบุว่า มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 60 คน และถูกจับกุมอีก 336 คนในเหตุจลาจลครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งคืนจากความพยายามก่อรัฐประหาร โดยผู้ตายส่วนมากเป็นพลเรือน ส่วนพวกที่ถูกจับกุมเป็นทหารเสียส่วนใหญ่

เสียงปืนและระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวทั้งที่นครอิสตันบูลและกรุงอังการา หลังฝ่ายทหารที่รัฐประหารได้บุกยึดสถานที่สำคัญๆ และสั่งให้สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เช้าวันนี้ (16) ทหารที่ร่วมสมคบคิดประมาณ 30 นายได้ยอมวางอาวุธและมอบตัว หลังถูกตำรวจปิดล้อมบริเวณจัตุรัสทักซิม (Taksim) ใจกลางนครอิสตันบูล

สถานีโทรทัศน์เอ็นทีวีอ้างข้อมูลจากสำนักงานอัยการซึ่งระบุว่า มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 42 คนระหว่างการปะทะที่กรุงอังการา ในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 17 นาย

หากการโค่นอำนาจประธานาธิบดี เออร์โดกัน ซึ่งปกครองตุรกีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2003 จนก้าวสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2014 ประสบความสำเร็จ จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจครั้งใหญ่ในตะวันออกกลางในรอบหลายปี และแม้ไม่สำเร็จก็ยังคงส่งผลบั่นทอนเสถียรภาพของตุรกีซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ

ก่อนที่จะกลับถึงอิสตันบูล เออร์โดกัน ได้ปรากฏตัวผ่านเฟซไทม์สซึ่งถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเติร์ก โดยเรียกร้องให้ชาวตุรกีออกมาแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาล พร้อมขู่ว่าพวกที่ก่อรัฐประหารจะต้องชดใช้อย่างเจ็บแสบ

จนถึงช่วงเช้าวันนี้ (16) ยังมีนักการเมืองตุรกีบางคนซ่อนตัวอยู่ภายในอาคารรัฐสภาที่กรุงอังการา ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับรอยเตอร์ว่าเห็นกลุ่มควันลอยขึ้นมาจากบริเวณใกล้ๆ กัน ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า อาคารรัฐสภาถูกยิงถล่มถึง 3 ครั้ง และมีคนบาดเจ็บด้วย

ผู้บัญชาการทหารตุรกีนายหนึ่งระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ที่พวกก่อรัฐประหารใช้เป็นพาหนะถูกเครื่องบินขับไล่ยิงตกที่กรุงอังการา ส่วนสำนักข่าวอนาโดลูรายงานว่ามีตำรวจเสียชีวิต 17 นายบริเวณศูนย์บัญชาการกองกำลังพิเศษ

ชาวตุรกีจำนวนมากได้ฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิวัติ และออกมาชุมนุมตามจัตุรัสใหญ่ๆ ทั้งที่กรุงอังการาและนครอิสตันบูล พร้อมโบกสะบัดธงชาติและป่าวร้องสโลแกนสนับสนุนรัฐบาล

“เรามีนายกรัฐมนตรี เรามีผู้นำสูงสุด เราจะไม่ปล่อยให้ประเทศนี้ถูกทำลายเด็ดขาด” ชายคนหนึ่งร้องตะโกนขึ้นมา ขณะที่กลุ่มสนับสนุน เออร์โดกัน พากันปีนป่ายขึ้นไปบนรถถังที่จอดอยู่บริเวณสนามบินอตาเติร์กในนครอิสตันบูล

เออร์โดกัน และเจ้าหน้าที่ตุรกีกล่าวหาว่าสาวกของ มูฮัมเหม็ด เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน (Muhammed Fethullah Gülen) นักการศาสนา อิหม่าม และนักเขียนชาวตุรกีซึ่งปัจจุบันพำนักในสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารครั้งนี้ ขณะที่ทางกลุ่มได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

สหรัฐฯ ได้ประกาศหนุนหลังรัฐบาล เออร์โดกัน อย่างเต็มที่ โดย จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ต่อโทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เพื่อยืนยันว่าวอชิงตัน “พร้อมสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และสถาบันประชาธิปไตยในตุรกี”

สัญญาณของการก่อรัฐประหารครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีฝูงเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์บินว่อนเหนือกรุงอังการา ขณะที่ทหารกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนพลเข้าไปปิดกั้นสะพานข้ามช่องแคบบอสพอรัสในนครอิสตันบูลที่เชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชีย หลังจากนั้นได้มีการปิดสนามบินหลายแห่ง และการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็ถูกตัดขาด

สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐทีอาร์ที แถลงคำประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ โดยผู้ประกาศรายหนึ่งอ่านคำสั่งของทหารที่กล่าวหารัฐบาลว่าบั่นทอนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม พร้อมระบุว่าประเทศจะถูกบริหารโดย "สภาสันติภาพ" ที่จะรับประกันความปลอดภัยของประชาชน

สำนักข่าวอนาโดลู ระบุว่า ผู้บัญชาการทหารตุรกีอยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกจับเป็น “ตัวประกัน” อยู่ภายในเมืองหลวง แต่นายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดิริม ได้ออกมายืนยันภายหลังว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

แหล่งข่าวในอียูผู้หนึ่งชี้ว่า การก่อรัฐประหารครั้งนี้ “ดูเหมือนจะมีการเตรียมการมาอย่างดีจากผู้มีอำนาจภายในกองทัพ ไม่ใช่ฝีมือทหารยศนายพันแค่ไม่กี่คน พวกเขาทำการปิดสนามบิน ควบคุมสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ และสามารถควบคุมจุดยุทธศาสตร์ในอิสตันบูลไว้ได้หลายแห่ง”

นักการทูตยุโรปผู้หนึ่งซึ่งกำลังรับประทานอาหารค่ำกับเอกอัครราชทูตตุรกีที่เมืองหลวงแห่งหนึ่งของยุโรป ก่อนจะได้รับแจ้งข่าวด่วนทางโทรศัพท์ ระบุว่า “นี่ไม่ใช่การปฏิวัติกิ๊กก๊อก ทูตตุรกีมีสีหน้าตกใจอย่างมาก”

ตุรกีซึ่งมีขนาดกองทัพใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มนาโต ถือเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในการทำสงครามกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในตะวันออกกลาง

ตุรกียังให้การสนับสนุนกบฏซีเรียที่ต้องการโค่นอำนาจประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด และเปิดพรมแดนให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียราว 2.7 ล้านคน






กำลังโหลดความคิดเห็น