เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - บอร์เก เบรนเด รัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์เตรียมเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพฤหัสบดี (7 ม.ค.) นี้ หวังฟื้นฟูการมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลออสโลกับรัฐบาลโคลอมโบที่ก้าวเข้าสู่ภาวะเฉยชา หลังนอร์เวย์คว้าน้ำเหลวในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเพื่อยุติสงครามกลางเมืองในศรีลังกาเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้
การเดินทางเยือนศรีลังกาของเบรนเดจะส่งผลให้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีรายแรกของนอร์เวย์ ที่เดินทางเยือนดินแดนเกาะในเอเชียใต้แห่งนี้นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา
โดยคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ที่มีการเผยแพร่ในวันอังคาร (5 ม.ค.) ยืนยันว่า เป้าประสงค์ของการเยือนศรีลังกาในครั้งนี้คือการรื้อฟื้นช่องทางการติดต่อทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมแสดงความคาดหวังว่าเป้าหมายนี้ของนอร์เวย์น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จด้วยดี จากผลพวงของพัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้นในศรีลังกาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์มีกำหนดเข้าพบหารือกับประธานาธิบดีไมตรีพาลา สิริเสนา แห่งศรีลังกา ตลอดจนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของศรีลังกา รวมถึงแกนนำฝ่ายค้านในรัฐสภาศรีลังกาที่เป็นนักการเมืองเชื้อสายทมิฬด้วยเช่นกัน
เมื่อช่วงต้นทศวรรษปี 2000 รัฐบาลนอร์เวย์รับอาสาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มกบฏทมิฬอีแลม (LTTE) โดยนอร์เวย์สามารถผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงกันได้ชั่วคราวเมื่อปี 2002 แต่ในเวลาต่อมาการเจรจาสันติภาพที่มีนอร์เวย์เป็นคนกลางนี้มีอันต้องล่มลงแบบไม่เป็นท่า หลังจากที่รัฐบาลของศรีลังกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีมหินทา ราชปักษีที่ครองอำนาจระหว่างปี 2005-2015 ออกมาตั้งคำถามแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อความเป็นกลางของนอร์เวย์
เมื่อวันอาทิตย์ (3 ม.ค.) ประธานาธิบดีไมตรีพาลา สิริเสนา แห่งศรีลังกา เปิดเผยว่า มีแผนเดินหน้ามอบที่ดินสำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนให้แก่ประชาชนมากถึง 100,000 รายในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศที่ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายพักชั่วคราว ถึงแม้สงครามกลางเมืองกับกลุ่มกบฏทมิฬอีแลมจะสิ้นสุดมานานกว่า 6 ปีแล้วก็ตาม
ผู้นำศรีลังกาซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วเหนืออดีตประธานาธิบดี มหินทา ราชปักษี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี โดยระบุว่า ตัวเขากำลังจัดตั้งกลไกเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้บรรดาผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศทั้งหมดจากผลพวงของสงครามกลางเมืองที่ได้ชื่อว่านองเลือดและยาวนานที่สุดของภูมิภาคเอเชียใต้ได้มีโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสิริเสนาได้รับการยกย่องในวงกว้างจากการที่เขาเริ่มเดินหน้าส่งคืนที่ดินทำกินบางส่วนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองกับกลุ่มกบฏทมิฬอีแลม แต่ถึงกระนั้นเขาเองยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติต่อความล่าช้าในการผลักดันกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในประเทศ ระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่ยังคงหยั่งรากลึกในสังคมศรีลังกาในปัจจุบัน
นอกเหนือจากผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศแล้ว ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับมอบที่ดินสำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนจากรัฐบาลศรีลังกาในครั้งนี้ยังรวมถึงผู้อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองที่เขตชายฝั่ง “ปุตตาลัม” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าการรับมอบที่ดินจากรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงกลางปีนี้
รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีไมตรีพาลา สิริเสนา ในวัย 64 ปี ยังเตรียมออกมาตรการคู่ขนานภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าด้วยการปลดปล่อยที่ดินของเอกชนในอดีตพื้นที่สู้รบ ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพคืนแก่เจ้าของที่ดินด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ศรีลังกาต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองกับกลุ่มกบฏทมิฬอีแลมระหว่างปี ค.ศ. 1972-2009 ซึ่งความขัดแย้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนในศรีลังกาไปมากกว่า 100,000 ราย ยังไม่นับรวมกับความบาดหมางทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศกับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬที่ยังคงคุกรุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้สงครามกลางเมืองจะสิ้นสุดลงแล้ว