รอยเตอร์ - สำนักงานการบินพลเรือนของซาอุดีอาระเบียในวันจันทร์ (4 ม.ค.) สั่งระงับเที่ยวบินขาเข้าและมุ่งสู่อิหร่านทั้งหมด ตามหลังริยาดตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน ตอบโต้เหตุสถานทูตในเตหะรานถูกโจมตี สถานการณ์ความตึงเครียดที่กำลังลุกลามระหว่างสองชาติ
“จากคำแถลงของประเทศเกี่ยวกับการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน ทางสำนักงานการบินพลเรือนจะระงับเที่ยวบินทั้งหมดทั้งขาเข้าและมุ่งสู่อิหร่าน” สำนักงานการบินพลเรือนของซาอุดีอาระเบียระบุในทวิตเตอร์
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากนายอาเดล อัล-ญูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่าจะยุติการเชื่อมโยงด้านการจราจรทางอากาศและการค้ากับอิหร่าน และเรียกร้องเตหะรานทำตัวเหมือนประเทศปกติทั่วไปแล้วค่อยหวนคืนสู่สัมพันธ์กัน
อัล-ญูเบอีร์ บอกกับรอยเตอร์ว่า เตหะรานต้องรับผิดชอบต่อความตึงเครียดที่คุกรุ่นขึ้น หลังริยาดประหารชีวิตอิหม่ามนิกายชีอะห์ชื่อดัง ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา ที่มีชื่อเสียงในฐานะนักวิพากษ์วิจารณ์ฝีปากกล้าต่อการปกครองที่กดขี่ของทางการซาอุดีอาระเบียต่อชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมชาวชีอะห์ในประเทศเมื่อวันเสาร์ (2 ม.ค.) พร้อมให้จำกัดความเขาในฐานะ “พวกก่อการร้าย”
รัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้ยืนกรานว่าริยาดจะตอบโต้ท่าทีก้าวร้าวของอิหร่าน และกล่าวหาเตหะรานด้วยว่าส่งนักรบไปยังประเทศอาหรับต่างๆ วางแผนโจมตีในประเทศของพวกเขาและเหล่าชาติเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เซีย
การประหาร นิมรา กระพือการประท้วงของชาวชีอะห์ทั่วตะวันออกกลาง และผู้ชุมนุมชาวอิหร่านบุกเข้าไปยังสถานทูตซาอุดีอาระเบียในเตหะราน วางเพลิง และก่อความเสียหายต่างๆ กระตุ้นให้ริยาดตัดความสัมพันธ์และโหมกระพือความเกลียดชังระหว่างสองชาติที่เป็นปรปักษ์อยู่ก่อนแล้ว
นายอัล-ญูเบอีร์ บอกว่า ซาอุดีอาระเบียยังต้อนรับนักแสวงบุญอิหร่านที่ประสงค์มาเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในนครเมกกะและเมืองเมดินา ไม่ว่าจะมาเพื่อร่วมพิธิฮัจญ์หรือช่วงเวลาอื่นๆ ของปี อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าซาอุดีอาระเบียมีสิทธิ์ประหารชีวิตนายนิมรา ที่ถูกกล่าวยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย จัดตั้งเครือข่ายและพร้อมสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธแก่คนเหล่านั้น
ทางการซาอุดีอาระเบียประหารนักโทษ 47 คนเมื่อวันเสาร์ (2 ม.ค.) ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่และต้องคดีเกี่ยวโยงพัวพันกับเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ โดยมี นิมรา อายุ 56 ปี เป็นหนึ่งในจำนวนนักโทษทั้งหมดที่ถูกประหาร
นิมรา ที่ใช้เวลานานหลายสิบปีศึกษาอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาของอิหร่าน แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีบทบาทสำคัญในการประท้วงของชนกลุ่มน้อยชีอะห์ในซาอุดีฯ ที่ได้อิทธิพลจากการปฏิวัติ “อาหรับสปริง” จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 2012 และถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทว่า เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้สนับสนุนการก่อความรุนแรงแต่อย่างใด
ในส่วนของอเมริกาและยุโรปต่างเรียกร้องให้สองฝ่ายผ่อนคลายความตึงเครียด โดยในวันจันทร์ (4 ม.ค.) นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อสายตรงถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งอิหร่านและเตหะราน ขอให้อยู่ในความสงบ “เราเรียกร้องขอความสงบและอย่าทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย สถานการณ์ต้องการความสงบ” เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยกับเอเอฟพี
สหรัฐฯ เองไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับอิหร่าน แต่เริ่มสานสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นนับตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงจำกัดความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของเตหะรานในเดือนกรกฎาคมปีก่อน
วอชิงตันพยายามหลีกเลี่ยงขยายความตึงเตรียดกับอิหร่าน ระหว่างที่กำลังตรวจตราการบังคับใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์ และยังสนับสนุนเตหะรานให้มีบทบาทในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามกลางเมืองในซีเรีย
ตามปกติแล้ว สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกว่ากับซาอุดีอาระเบีย แต่ได้แสดงความไม่พอใจริยาดเป็นอย่างมากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังซาอุดีอาระเบียเลือกเริ่มต้นปี 2016 ด้วยการประหารหมู่นักโทษ