เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ปี 2015 เปิดฉากด้วยข่าวสะเทือนขวัญการสังหารหมู่ในกรุงปารีส เมืองหลวงแดนน้ำหอมยังเป็นที่เกิดเหตุก่อการร้ายนองเลือดในช่วงท้ายของปี ตอกย้ำความเสี่ยงจากลัทธิหัวรุนแรงภายใต้การบัญชาการของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่โยงใยไปถึงศึกกลางเมืองและศึกต่อต้านการก่อการร้ายในซีเรียและอิรักซึ่งดูเหมือนมีสงครามตัวแทนซ้อนอยู่ และผลพวงของสงครามคือวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดในยุโรป นอกจากนั้น ปี 2015 ยังเกิดปรากฏการณ์ลมเปลี่ยนทิศในแวดวงการเมืองบางประเทศ และเหตุการณ์ทั้งร้ายและดีอื่นๆ อีกมากมาย เช่นที่ยกมาเป็นสังเขปดังต่อไปนี้
- มกราคม –
วันที่ 7-9 : ฝรั่งเศส – เหยื่อ 17 คนถูกสังหารหมู่ที่ปารีส ในกองบรรณาธิการนิตยสารแนวเสียดสี “ชาร์ลี เอ็บโด” และที่ซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวยิวอีกแห่งหนึ่งในสองวันต่อมา
วันที่ 26 : ซีเรีย – กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ถูกรุกไล่ออกจากเมืองโคบานี ของซีเรียที่อยู่ติดกับพรมแดนตุรกี หลังต่อสู้กับกองกำลังชาวเคิร์ดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีทางอากาศของพันธมิตรที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ มากว่า 4 เดือน
- กุมภาพันธ์ –
วันที่ 12 : ยูเครน – รัฐบาลยูเครนและกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซีย ยอมรับโรดแมปสันติภาพ “มินสก์ 2” ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย แม้ข้อตกลงหยุดยิงยังไม่อาจสร้างเสถียรภาพอย่างมั่นคง แต่ก็มีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน กระนั้นการปะทะก็กลับมาเข้มข้นขึ้นอีกครั้งช่วงต้นเดือนธันวาคม
- มีนาคม –
วันที่ 17 : อิสราเอล/ดินแดนปาเลสไตน์ – นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ชนะการเลือกตั้ง โครงการก่อสร้างถิ่นฐานใหม่ของชาวยิวที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง และภาวะชะงักงันในกระบวนการสันติภาพ กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงรอบใหม่ ทั้งด้วยการขว้างปาก้อนหิน, การไล่แทง, การโจมตีด้วยการใช้รถพุ่งชน, และการปะทะระหว่างปาเลสไตน์กับกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล
วันที่ 18 : ตูนีเซีย – การโจมตีพิพิธภัณฑ์บาร์โด ในกรุงตูนิส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 คนและตำรวจท้องถิ่น 1 นายเสียชีวิต ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน มีการโจมตีรีสอร์ทตากอากาศแห่งหนึ่ง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิต 36 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ จากนั้นวันที่ 24 พฤศจิกายน เกิดเหตุระเบิดรถบัสรับส่งเจ้าหน้าที่อารักขาประธานาธิบดี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย โดยไอเอสอ้างความรับผิดชอบทั้งสามเหตุการณ์
วันที่ 24 : ฝรั่งเศส – เครื่องบินแอร์บัสของสายการบินโลว์คอสต์ “เยอรมันวิงส์” ตกในเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 150 คนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่สอบสวนระบุว่า แอนเดรียส์ ลูบิตซ์ นักบินผู้ช่วย จงใจบังคับเครื่องบินพุ่งชนเทือกเขา
วันที่ 26 : เยเมน – เครื่องบินของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย เปิดฉากถล่มกบฏชีอะต์กลุ่มฮูติในเยเมน เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีอาเบดรับโบ มานซูร์ ฮาดี ความขัดแย้งนี้ตัวเลขล่าสุดระบุว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 6,000 ราย
- เมษายน –
วันที่ 2: เคนยา/โซมาเลีย – ผู้คนอย่างน้อย 148 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ถูกสังหารหมู่ในเหตุการณ์ที่กลุ่มอัล-เชบับจากโซมาเลีย เข้าโจมตีมหาวิทยาลัยการิสสา ของเคนยา
วันที่ 25 : เนปาล – แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 8,900 คน และทำลายบ้านเรือนประมาณ 500,000 หลัง นอกจากนั้นยังมีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 7.3 ตามมาหลายระลอกในเดือนพฤษภาคม และทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกหลายสิบคน
วันที่ 26 : บุรุนดี – การประท้วงที่ปะทุขึ้นเพื่อคัดค้านประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรันซีซา ซึ่งในที่สุดก็ครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 จนได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยรายในช่วงหลายเดือนต่อมา
- พฤษภาคม –
วันที่ 7 : อังกฤษ – พรรคอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ชนะการเลือกตั้ง ที่จะนำไปสู่การลงประชามติว่าอังกฤษจะยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่
วันที่ 29 : ไนจีเรีย – มูฮัมมาดู บูฮารี ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม ประกาศทำสงครามกับโบโกฮารัม กลุ่มอิสลามิสต์ที่โยงใยกับไอเอส อย่างไรก็ตาม นับจากนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ยังคงสังหารประชาชนมากกว่า 1,500 คน และยังข้ามไปโจมตีเพื่อนบ้าน เช่น คาเมรูน ชาด และไนเจอร์
- มิถุนายน –
วันที่ 1: จีน – เรือสำราญจีนพลิกคว่ำในแม่น้ำแยงซีในบริเวณตอนกลางของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 442 รายจากจำนวนผู้ที่อยู่บนเรือทั้งหมด 454 คน
วันที่ 17 : อเมริกา – มือปืนผิวขาวยิงคนดำ 9 คนเสียชีวิตในโบสถ์เก่าแก่ของคนผิวสีในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำหลายต่อหลายครั้ง และกระตุ้นความตึงเครียดด้านเชื้อชาติลุกโชนในเมืองลุงแซม
วันที่ 26 : สหรัฐฯ – ศาลสูงสุดรับรองสิทธิ์การแต่งงานของคนเพศเดียวกันในทุกมลรัฐ
- กรกฎาคม –
วันที่ 1: อเมริกา/คิวบา – อเมริกาและคิวบาบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์ หลังตัดญาติขาดมิตรกันนาน 54 ปีระหว่างสงครามเย็น การฟื้นสัมพันธ์มีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กรกฎาคม
วันที่ 13 : กรีซ – หลังจากเจรจามายาวนาน ในที่สุดนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ได้ยอมรับแพ็คเกจความช่วยเหลือใหม่ระยะ 3 ปีมูลค่า 86,000 ล้านยูโร (93,000 ล้านดอลลาร์) จากอียู ช่วยให้เอเธนส์ไม่ต้องถอนตัวจากยูโรโซน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน พรรคไซรีซาของเขา ยังคงมีชัยในการเลือกตั้ง
วันที่ 14 : อิหร่าน – อิหร่านและมหาอำนาจโลกบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่จะรับประกันว่า เตหะรานจะไม่พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ หลังการเจรจามาราธอนต่อเนื่อง 18 วัน
- สิงหาคม –
วันที่ 12 : จีน – เกิดระเบิดรุนแรงในโกดังเก็บสารเคมีในเทียนจิน หนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดของจีน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 165 ราย
- กันยายน –
วันที่ 2 : ยุโรป – ภาพศพเด็กชายซีเรียวัย 3 ปี ถูกคลื่นซัดเกยตื้นบนชายหาดตุรกี จุดกระแสความสนใจทั่วโลกต่อวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดของยุโรปนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
วันที่ 3 : กัวเตมาลา – ประธานาธิบดีอ็อตโต เปเรซ ลาออก หลังรัฐสภายกเลิกสิทธิ์คุ้มครอง เนื่องจากถูกกล่าวหาทุจริตหลายคดีและถูกออกหมายจับ
วันที่ 18 : อเมริกา/เยอรมนี – โฟล์คสวาเกนเจอเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ที่สุด หลังถูกเปิดโปงว่า โกงการทดสอบมลพิษในอเมริกา
วันที่ 19-22 : คิวบา – พระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนคิวบาครั้งประวัติศาสตร์ ก่อนเสด็จต่อไปยังอเมริกา นอกจากนั้น พระสันตะปาปายังเสด็จเยือนเคนยา ยูกันดา และสาธารณรัฐแอฟริกากลางตั้งแต่วันที่ 25-30 พฤศจิกายน
วันที่ 24 : ซาอุดีอาระเบีย – เกิดเหตุเหยียบกันตายในพิธีฮัจญ์ โดยมีผู้เสียชีวิต 2,236 รายที่ทุ่งมีนา ใกล้นครเมกกะ
วันที่ 30 : ซีเรีย – รัสเซียเปิดฉากโจมตีทางอากาศในซีเรีย โดยระบุว่าเพื่อเล่นงานพวกไอเอส ขณะที่ตุรกีและพันธมิตรเชื่อว่า เป้าหมายที่แท้จริงของมอสโกคือกลุ่มกบฏสายกลางที่ต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย
- ตุลาคม –
วันที่ 3 : อัฟกานิสถาน – อเมริกาโจมตีโรงพยาบาลในเมืองคุนดุซ ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 42 ราย ระหว่างที่ตอลิบานกำลังอาละวาดอย่างหนักในเมืองนี้ นอกจากนั้นวอชิงตันประกาศคงทหารหลายพันคนในประเทศนี้ต่อหลังปี 2016 โดยอ้างว่า กองทัพอัฟกันไม่สามารถรับมือตอลิบานได้ตามลำพัง
วันที่ 19 : แคนาดา – จัสติน ทรูโดว์ ผู้นำพรรคลิเบอรัล และบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวแคนาดา ชนะการเลือกตั้งและได้ขึ้นบริหารประเทศ
วันที่ 29 : จีน – ปักกิ่งประกาศยุตินโยบายลูกคนเดียว
วันที่ 31 : อียิปต์/รัสเซีย – เครื่องบินโดยสารของรัสเซียตก ขณะบินขึ้นจากเมืองชาร์ม เอล-ชีคของอียิปต์ เพื่อไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 224 คนเสียชีวิต ไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบโดยบอกว่า เป็นการแก้แค้นที่รัสเซียถล่มรังของตนในซีเรีย
- พฤศจิกายน –
วันที่ 1 : ตุรกี – พรรคจัสติซ แอนด์ ดิเวลอปเมนท์ ปาร์ตี้ (เอเคพี) ของประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน กวาดชัยชนะและกลับมาเป็นรัฐบาลต่ออีกสมัย ท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงในการปราบปรามกลุ่มชาวเคิร์ดและการโจมตีของนักรบญิฮัด ซึ่งรวมถึงเหตุระเบิดฆ่าตัวตายสองครั้งในการชุมนุมอย่างสันติเดือนตุลาคมที่มีผู้เสียชีวิต 103 ราย นับเป็นการโจมตีนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตุรกี
วันที่ 7 : จีน/ไต้หวัน - ประธานาธิบดีจีนและไต้หวันหารือกันครั้งประวัติศาสตร์อย่างชื่นมื่น ซึ่งถือเป็นซัมมิตครั้งแรกนับจากสองแผ่นดินแยกจากกันในปี 1949
วันที่ 8 : พม่า – พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของ อองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายหลังจากที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของระบบทหารมาหลายสิบปี
วันที่ 13 : ฝรั่งเศส – เกิดเหตุกราดยิงและระเบิดฆ่าตัวตายในสนามกีฬาแห่งชาติ หอแสดงคอนเสิร์ต บาร์และร้านอาหารในปารีส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 รายและบาดเจ็บอีกนับร้อยคน และเป็นอีกครั้งที่ไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบ
วันที่ 20 : มาลี – การบุกโจมตีโรงแรมหรูในกรุงบามาโก ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย และกลุ่มก่อการร้ายในเครือข่ายอัล-กออิดะห์อ้างความรับผิดชอบ
วันที่ 24 : ตุรกี/รัสเซีย – ตุรกีที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยิงเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียร่วงบริเวณชายแดนซีเรีย โดยอ้างว่า เครื่องบินลำดังกล่าวล่วงล้ำน่านฟ้า นำไปสู่สงครามทางการทูตดุเดือดระหว่างสองประเทศ
- ธันวาคม –
วันที่ 2 : อเมริกา – สามีภรรยามุสลิมหัวรุนแรงสังหารหมู่เหยื่อ 14 คนในซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนถูกตำรวจยิงเสียชีวิตระหว่างพยายามหลบหนี
วันที่ 3 : แอฟริกาใต้ – ออสการ์ พิสโทเรียส นักวิ่งขาพิการชาวแอฟริกาใต้ ที่ยิงแฟนสาวเสียชีวิตในปี 2013 ถูกตัดสินว่า มีความผิดโทษฐานฆาตกรรม หลังจากอัยการยื่นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการประกันตัวและเตรียมยื่นอุทธรณ์ความผิด
วันที่ 6 : เวเนซุเอลา – พรรคแนวร่วมขวา-กลางชนะการเลือกตั้ง และเป็นครั้งแรกที่พรรคฝ่ายค้านได้ครองเสียงข้างมากในสภาในรอบ 16 ปีท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศขุมน้ำมันแห่งนี้
วันที่ 12 : สิ่งแวดล้อม – 195 ชาติอนุมัติข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อน
วันที่ 12 : ซาอุดีอาระเบีย – ผู้สมัครหญิงอย่างน้อย 20 คนชนะการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นเป็นครั้งแรก แม้ประเทศอนุรักษนิยมสุดโต่งแห่งนี้ยังมีข้อจำกัดสิทธิสตรีอีกมากมายก็ตาม
วันที่ 14 : ภาพยนตร์ - “สตาร์วอร์ส: เดอะ ฟอร์ซ อะเวกเคนส์” หนังมหากาพย์ที่ทั่วโลกตั้งตารอได้ฤกษ์ลงโรง รายงานระบุว่า ในบางสถานที่มีแฟนๆ ไปตั้งแคมป์รอขอลายเซ็นและถ่ายภาพดารากันข้ามวันข้ามคืน
วันที่ 16 : อเมริกา – ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี
วันที่ 18 : ซีเรีย – คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อมติกระบวนการสันติภาพเพื่อยุติสงครามในซีเรียที่ยืดเยื้อมาร่วม 5 ปี โดยไม่แตะประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ อนาคตของบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย
วันที่ 18 : รวันดา/คองโก – รวันดาโหวตอนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานาธิบดีพอล คากาเม ปกครองประเทศจนถึงปี 2034 ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนตุลาคม สาธารณรัฐคองโกก็จัดให้มีการทำประชามติที่เปิดทางให้ประธานาธิบดีเดนิส ซัสซู เอ็นเกสโซ บริหารประเทศต่อหลังจากครองอำนาจมาราธอน 31 ปี
วันที่ 20 : จีน – ดินโคลนและขยะสิ่งก่อสร้างซึ่งเก็บกองสูงเป็นภูเขา เกิดถล่มไหลเข้าทำลายอาคาร 33 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่เมืองเซินเจิ้น ของมณฑลกวางตุ้ง มีผู้เสียชีวิตและที่สูญหายไปกว่า 80 คน
วันที่ 21 : ฟุตบอล – สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) มีมติห้ามประธานเซ็ปป์ แบลตเตอร์ และรองประธานมิเชล พลาตินี ทำกิจกรรมเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นเวลานาน 8 ปี เนื่องจากสงสัยว่าทุจริต ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดหลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูง 7 คนของฟีฟ่าถูกจับกุมในการบุกค้นในเมืองซูริคเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม
วันที่ 28 : อิรัก – อิรักประกาศว่าสามารถยึดเมืองรอมาดี เมืองเอกของจังหวัดอันบาร์ กลับคืนจากพวกไอเอส
วันที่ 28 : เกาหลีใต้/ญี่ปุ่น – โซลกับโตเกียวตกลงกันได้ในประเด็นหญิงเกาหลีถูกใช้เป็น “ทาสบำเรอกาม” ในซ่องทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากเป็นปัญหาที่สร้างความบาดหมางให้แก่ 2 ประเทศนี้มาหลายสิบปี