xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศ-รัสเซีย จับมือบรรลุข้อตกลงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มูลค่ามากกว่า 4.4 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online – บรรษัทพลังงานปรมาณูแห่งชาติของบังกลาเทศ ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลรัสเซีย เตรียมเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 2 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้แห่งละกว่า 1,200 เมกะวัตต์ ภายใต้โครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 12,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 445,790 ล้านบาท)

รายงานข่าวล่าสุดในวันเสาร์ (26 ธ.ค.) ซึ่งอ้างถ้อยแถลงของคามรูล อิสลาม ไบเอียน โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบังกลาเทศ ระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกจากทั้งหมดสองแห่งจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 โดยพื้นที่ก่อสร้างจะอยู่ที่เมืองรัปปูร์ในเขตอิสวาร์ดีซึ่งอยู่ห่างจากกรุงธากาที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไปราว 160 กิโลเมตร

โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบังกลาเทศเปิดเผยว่า รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่บังกลาเทศสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ ในสัดส่วนที่สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และว่าบังกลาเทศมีเวลาชำระคืนเงินกู้ยืมก้อนนี้แก่รัสเซียภายใน 28 ปี แต่กรอบเวลานี้สามารถยืดหยุ่นได้หากบังกลาเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

ด้านอาบูล มาอัล อับดุล มูฮิตห์ รัฐมนตรีคลังของบังกลาเทศออกมาระบุว่า นี่จะถือเป็นโครงการพัฒนาด้านพลังงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศของตน ซึ่งติดอันดับหนึ่งในดินแดนที่ประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าขั้นรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

รายงานข่าวระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบังกลาเทศกับรัสเซียนี้จะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี ค.ศ. 2022 ส่วนแห่งที่สองคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในอีก 1 ปีหลังจากนั้น โดยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองแห่งจะใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 60 ปี และสามารถขยายอายุการใช้งานออกไปได้อีก 20 ปี หากมีการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ แหล่งข่าวด้านการทูตในกรุงธากาเปิดเผยว่า “รอสอะตอม” หรือบรรษัทพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซียจะรับหน้าที่บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบังกลาเทศในเชิงพาณิชย์เป็นเวลา 1 ปี ก่อนส่งมอบให้ทางการบังกลาเทศเข้ามารับช่วงต่อ นอกจากนั้น รัสเซียจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนพลังงานในช่วงปีแรก ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวเปิดดำเนินการด้วยเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น