xs
xsm
sm
md
lg

‘แจ๊ก หม่า’ เทคโอเวอร์นสพ.ดังฮ่องกง จะทำให้มีการเสนอ ‘ข่าวจีน’ ได้ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ เหยียว

The West Should Accept China’s Media Model
By George Yeo
15/12/2015

ข่าวเรื่องแจ๊ก หม่า อภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาลีบาบา เข้าเทคโอเวอร์กิจการ “เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” หนึ่งในหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในเอเชีย ถูกตีความอย่างระแวงสงสัยโดยเฉพาะจากโลกตะวันตกว่า ต่อแต่นี้ไปกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะถูกแทรกแซงทางนโยบาย ไม่มีอิสรเสรีในการเสนอข่าวอย่างปราศจากอคติอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จอร์จ เหยียว ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ มีทัศนะมุมมองในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเห็นว่า SCMP น่าจะยิ่งมีการปรับตัวเน้นหนักการเสนอข่าวจีนซึ่งมุ่งรายงานว่าจีนเป็นอย่างไรตามความเป็นจริง อันจะผิดแผกแตกต่างจากสื่อตะวันตกที่มองแดนมังกรผ่านแว่นแห่งค่านิยมของพวกตน และมุ่งเสนอว่าจีนควรจะเป็นอย่างไร

เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา “เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” (South China Morning Post ใช้อักษรย่อว่า SCMP) หนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในเอเชีย ออกคำแถลงระบุว่า ตนเองถูกซื้อโดย อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เนตของจีนซึ่งก่อตั้งและบริหารโดย แจ๊ก หม่า (Jack Ma) ในราคาราวๆ 266 ล้านดอลลาร์ [1] การที่อาลีบาบาเข้าซื้อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความยกย่องนับถือและก่อตั้งตั้งแต่เมื่อปี 1903 ฉบับนี้ ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก มีบางคนคิดว่าอาลีบาบานั้น จำเป็นต้องได้รับไมตรีจิตมิตรภาพจากรัฐบาลจีน และด้วยเหตุนี้ ต่อแต่นี้ไปจะต้องมีเสียสละยอมอุทิศจุดยืนการเสนอข่าวที่ปราศจากอคติของ SCMP แล้วเผยแพร่ข่าวสารความเห็นซึ่งมุ่งปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้รับความโปรดปรานจากปักกิ่ง

ผมเองนั้นมองการซื้อกิจการคราวนี้จากมุมที่แตกต่างออกไป

ในเดือนเมษายนปีนี้ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสผู้หนึ่งจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ส่งอีเมลมาถึงผมเพื่อขอความคิดเห็นว่าด้วยเรื่องธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank ใช้อักษรย่อว่า AIIB) หลังจากที่ลอนดอนตัดสินใจแตกแถวจากสหรัฐฯและหันไปเข้าร่วมในการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งนี้ AIIB ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยประเทศจีน เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีที่ตั้งจุดมุ่งหมายว่าจะให้เงินทุนสนับสนุนโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผมส่งคำตอบไปว่าวอชิงตันกำลังอ่านข้อเสนอของปักกิ่งด้วยความผิดพลาด จึงมองว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ แทนที่จะมีทัศนะไปในแนวทางดังกล่าว เราควรที่จะมองธนาคารแห่งนี้ว่าเกิดขึ้นจากความจำเป็นในทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากความต้องการอันมหาศาลทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียในช่วงหลายสิบปีจากนี้ไป ปรากฏว่าคำตอบของผมถูกทิ้งไปโดยไม่ได้รับการพิจารณาเผยแพร่ บางทีอาจจะเป็นเพราะความคิดเห็นเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับทัศนะซึ่งมีกันอยู่อย่างกว้างขวางทั่วไป ในเรื่องเจตนารมณ์ของประเทศจีน

มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรเลยสำหรับสื่อมวลชนตะวันตก ที่จะมองจีนโดยผ่านแว่นแห่งค่านิยมตะวันตก กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ มองจีนด้วยสายตาที่คอยตัดสินว่าจีนควรจะทำอะไร แทนที่จะมองว่าจีนเป็นอย่างไรและกำลังทำอะไร เรื่องนี้ไม่ดีเลยไม่ว่าสำหรับฝ่ายไหน เพราะมันนำไปสู่ความเข้าใจผิดและการคาดคำนวณกะเก็งอย่างผิดพลาด สิ่งที่ปักกิ่งทำนั้นควรต้องประเมินกันโดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแดนมังกรเอง ตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ของจีน เป็นความพยายามที่จะรื้อฟื้นสร้างเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ขึ้นมาบนพื้นฐานของประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ เวลานี้โครงการนี้กำลังแสดงบทบาทอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่ง และมีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนมหาทวีปยูเรเชียทีเดียว ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา การค้าขายของจีนนั้นมีการขึ้นๆ ลงๆ ตามการก้าวผงาดและการเสื่อมถอยในอำนาจของปักกิ่ง เมื่อมองด้วยทัศนะมุมมองเช่นนี้แล้ว แผนการริเริ่มหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง ซึ่งจะมีธนาคาร AIIB คอยให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย

การค้าของจีนในสมัยก่อนๆ นั้น อาศัยประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่แห่งอำนาจอิทธิพลของพวกเขากันเอง แต่การค้ากับจีนในยุคศตวรรษที่ 19 กลับมีความผิดแผกแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะนโยบายการทูตแบบใช้เรือปืน (gunboat diplomacy) (ของโลกตะวันตก) บังคับให้กลับกลายสภาพไปเป็นเช่นนั้น สหราชอาณาจักรได้พรากฮ่องกงไปจากจีนเมื่อปี 1842 ภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (First Opium War) และหลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (Second Opium War) สิ้นสุดลงในปี 1860 พวกเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ของฝ่ายตะวันตก ก็มีอำนาจออกปฏิบัติการนอกอาณาเขต โดยคอยทำหน้าที่ตรวจสอบเรือต่างๆ ซึ่งจอดอยู่ตามเมืองท่าสำคัญๆ ของประเทศจีน

แนวความคิดเบื้องหลังแผนการริเริ่มหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง มีความคล้ายคลึงกับแนวความคิดเบื้องหลังการค้าของจีนในสมัยก่อนๆ และในบางแง่บางมุมยังอาจเปรียบเทียบได้กับอินเทอร์เน็ตในยุคสมัยใหม่ แต่ละประเทศต่างเป็นผู้ดูแลรักษาระบบปฏิบัติการภายในของตนเอง ผู้เข้าร่วมต่างยอมรับภาษาหรือพิธีการสำหรับการติดต่อ (protocol) ในระดับที่สูงยิ่งขึ้น (อย่างเช่น กฎกติกาในทางการค้า, สิทธิในทรัพย์สิน, วิธีแก้ไขข้อพิพาท) เพื่อให้การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจสามารถบังเกิดขึ้นได้ ประเทศต่างๆ ยังคงส่งอิทธิพลต่อกันและกัน ทว่าดำเนินไปอย่างช้าๆ บนพื้นฐานของการชักจูงโน้มน้าวและการดูดซับ นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีแสนยานุภาพทางทหารเพื่อการพิทักษ์คุ้มครองเส้นทางในการลำเลียงขนส่งสินค้ากันแล้ว เงื่อนไขที่จะต้องมีขึ้นมาก่อนจึงจะทำการติดต่อค้าขายกันได้นั้น ยังคงได้แก่สภาวการณ์ที่ค่อนข้างสงบสันติ ทว่าข้อพิจารณาอันสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือข้อพิจารณาในทางเศรษฐกิจ ไมใช่เรื่องของการเป็นผู้พิชิตหรือการเข้ายึดครองอาณานิคม

การไม่เข้าแทรกแซงในระบบปฏิบัติการของกันและกันเช่นนี้เอง เป็นหลักการประการหนึ่งในการทูตของจีนมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว เมื่อตอนที่จีนเริ่มการเจรจาเรื่องการค้าเสรีกับสมาคมอาเซียนในปี 2002 จู หรงจี (Zhu Rongji) นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นกล่าวว่า จีนไม่ได้มุ่งเสาะแสวงหาให้ตนเองมีฐานะพิเศษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขากล่าวด้วยว่าถ้าหากข้อตกลงที่จัดทำกันนำไปสู่ความไม่สมดุลโดยที่จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบแล้ว ก็ควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขในข้อตกลงดังกล่าวเสียใหม่ และในการประชุมซัมมิตกับบรรดาผู้นำแอฟริกันในภาคใต้ของแอฟริกาตอนต้นเดือนธันวาคมนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ให้คำมั่นที่จะใช้เงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ ในรูปความช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆ ในแอฟริกา พร้อมกับกล่าวย้ำว่าจีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของแอฟริกา

เป็นธรรมดาอยู่เองที่พวกผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกต่างแสดงความระแวงสงสัยต่อคำแถลงของจู และของสี โดยบ่อยครั้งมักมองความเคลื่อนไหวต่างๆ ของจีนว่าเป็นการมุ่งหาประโยชน์ให้ตนเองอย่างน่าละอาย และแสดงให้เห็นการไม่คำนึงถึงศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ ถ้าหากไม่ใช่เป็นความไร้ศีลธรรมไร้กฎเกณฑ์อย่างโต้งๆ อันที่จริงความเคลื่อนไหวต่างๆ ของจีนก็เพื่อมุ่งหาประโยชน์ให้ตนเองจริงๆ นั่นแหละ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีนั้นจักต้องวางพื้นฐานอยู่บนผลประโยชน์ที่ร่วมกันต่างฝ่ายต่างได้ ประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ได้สอนคนจีนว่า ไม่มีผลดีอะไรเลยจากการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของคนอื่น ในเวลาที่ผลประโยชน์ของจีนเองไม่ได้รับความกระทบกระเทือน

วิธีการของปักกิ่งในการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้น มีความผิดแผกแตกต่างถึงระดับแนวความคิดทีเดียว กับวิธีการของตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการของวอชิงตัน ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯกำหนดเป้าหมายให้ตนเองว่าจะต้องเปลี่ยนชาติอื่นๆ ให้ยอมรับค่านิยมแบบประชาธิปไตยของตน สหรัฐฯจึงเป็นมหาอำนาจแบบที่วางตัวเป็นมิชชันนารี ขณะที่จีนไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เป็นเรื่องจำเป็นและเหมาะสมสำหรับโลกตะวันตก และจริงๆ แล้วก็สำหรับมหาอำนาจรายสำคัญๆ ทั้งหลายทุกๆ ราย ที่จะต้องทำการวิเคราะห์จีนและทำความเข้าใจจีน อย่างปลอดไร้อคติ ตลอดจนวิเคราะห์ทำความเข้าใจท่าทีที่ปักกิ่งมีต่อฮ่องกง การที่อาลีบาบาเข้าซื้อ SCMP ควรที่จะพิจารณาภายใต้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์แห่งการวิวัฒนาการของฮ่องกง จากการมีฐานะเป็นอาณานิคมแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร สู่การเป็นเขตบริหารพิเศษแห่งหนึ่งของจีน เมื่อตอนที่ฮ่องกงเป็นอาณานิคมแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักรนั้น SCMP เป็นหนังสือพิมพ์กระแสหลักที่มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ของลอนดอน ครั้นเมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตกอยู่ในมือของเจ้าพ่อสื่ออย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอค (Rupert Murdoch) ผู้ซึ่งนำ SCMP ออกมาจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 1987 โลกทัศน์แบบลอนดอนก็เปลี่ยนไป กลายเป็นโลกทัศน์แบบแองโกล-แซกซอน ขึ้นมาแทนที่ ในปี 1993 โรเบิร์ต ก๊วก (Robert Kuok) ชาวจีนโพ้นทะเลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ควบคุมบริษัท SCMP ไว้ ปรากฏว่าข่าวเกี่ยวกับจีนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นอย่างมหาศาล โลกทัศน์ของ SCMP ได้เปลี่ยนไปกลายเป็นโลกทัศน์แห่ง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (one country, two systems) อันเป็นชื่อของนโยบายที่ปักกิ่งใช้ในการปกครองฮ่องกง ทว่าเป็นการมองด้วยนโยบายดังกล่าวนี้ จากทัศนะมุมมองของฝ่ายท้องถิ่นฮ่องกง เจ้าของกิจการนั้นแสดงอิทธิพลของตนได้ โดยผ่านทางการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำ ไม่ใช่โดยอาศัยการเข้าแทรกแซงกองบรรณาธิการ คำถามจึงมีอยู่ว่า แจ๊ก หม่า ผู้เป็นเจ้าของอาลีบาบา จะแสดงอิทธิพลชนิดไหนใน SCMP ในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป

หลังจากปี 1997 เมื่อสหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน บทบาทของ SCMP ในฮ่องกงก็ได้ลดความสำคัญลงไป เมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในท้องถิ่นทั้งหลาย พวกผู้นำรัฐบาลฮ่องกงในปัจจุบันมีความห่วงใยมากกว่า เกี่ยวกับสิ่งที่ตีพิมพ์สิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนเหล่านี้ ซึ่งอ่านโดยผู้คนเกินกว่าครึ่งไปมากมายนักของประชากรทั้งหมด 7 ล้านคนของมหานครแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของ SCMP ต่อผู้คนที่อ่านภาษาอังกฤษทั้งที่อยู่ในฮ่องกงและที่อยู่ข้างนอกออกไป กลับเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากการเสนอข่าวและความเห็นเกี่ยวกับแผ่นดินใหญ่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ทุกวันนี้ SCMP กลายเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดในโลกในเรื่องการเสนอข่าวจีน ไม่มีหนังสือพิมพ์อื่นใดอีกแล้วที่อุทิศทั้งเวลาและที่ทางให้แก่จีนอย่างที่ SCMP กระทำอยู่ ในจำนวนผู้อ่านเวอร์ชั่นดิจิตอลที่กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ พูดอย่างคร่าวๆ ได้ว่าสองในสามทีเดียวเป็นผู้ที่อยู่นอกฮ่องกงและนอกประเทศจีน

หม่าจะต้องเคารพความมุ่งมาดปรารถนาของชาวฮ่องกงภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเวลากำลังเคลื่อนเข้าไปใกล้ปี 2047 มากขึ้นทุกที โดยที่ในปีดังกล่าวเป็นเวลาที่จะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องฐานะการแยกตัวออกมาเป็นเขตบริหารพิเศษต่างหากของฮ่องกง สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากเวลานั้นเป็นเรื่องระหว่างปักกิ่งกับฮ่องกง หรือหากพูดให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้นอีก ก็ควรจะบอกว่า เป็นเรื่องระหว่างประชาชนของจีนแผ่นดินใหญ่กับประชาชนของฮ่องกง ธรรมนูญปกครองฮ่องกง หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ในเวอร์ชั่น 2.0 จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่า กฎหมายพื้นฐานเวอร์ชั่น 1.0 หรือว่ากลับย่ำแย่ลงไป? หรือว่าจะมีการยกเลิกกฎหมายเช่นนี้ไปเลย? ในฐานะที่เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อภาคส่วนสำคัญภาคส่วนหนึ่งของสังคมฮ่องกง โลกทัศน์ของ SCMP จำเป็นที่จะต้องนำเอาความท้าทายต่อการดำรงคงอยู่นี้มากลั่นกรองสังเคราะห์ให้เข้ากับตนเอง การที่จะทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องทำการประเมินอย่างปลอดอคติ ต่อทิศทางและโอกาสต่างๆ ของประเทศจีนในช่วงหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้ไป

ทัศนะแบบปลอดอคติเกี่ยวกับประเทศจีนนี้ จะทำให้ SCMP เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญสำหรับผู้อ่านภาษาอังกฤษซึ่งสนอกสนใจในการติดตามการเปลี่ยนผ่านอย่างมโหฬารน่าตื่นใจของประเทศจีน ถ้า หม่า เข้าแทรกแซงนโยบายของกองบรรณาธิการของ SCMP แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็จะไม่เพียงสูญเสียพื้นที่ภายในใจของผู้อ่านเท่านั้น หากยังจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย อนาคตของอาลีบาบานั้นผูกพันมัดติดอยู่ในอนาคตของประเทศจีน มันเป็นผลประโยชน์ของอาลีบาบา และก็เป็นผลประโยชน์ของจีนด้วย ในการให้ส่วนอื่นๆ ของโลกได้มองเห็นจีนอย่างที่มันเป็น ทั้งความดีความได้เปรียบและความเลวความเสียเปรียบทั้งหลายทั้งปวง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนนั้นจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อพวกเราทั้งหมด

(จากคอลัมน์ Argument ของ Foreign Policy Magazine)

จอร์จ เหยา เป็นอดีตนักการเมืองชาวสิงคโปร์ ปัจจุบันเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนาลันทา, อินเดีย เขาเป็นสมาชิกของพรรคพีเพิลส์ แอคชั่น ปาร์ตี้ (พีเอพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลสิงคโปร์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ของสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2011 ทั้งรัฐมนตรีข่าวสารและศิลปะ (ปี 1991-99), รัฐมนตรีสาธารณสุข (1994-97), รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม (1999-2004), และรัฐมนตรีต่างประเทศ (2004-11) กระทั่งเมื่อเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส.แก่พรรคฝ่ายค้านในปี 2011 เขาจึงประกาศอำลาวงการเมือง

หมายเหตุ
[1] สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวเรื่องอาลีบาบาเข้าซื้อหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เอาไว้ ดังนี้:

“อาลีบาบา” ตกลงจ่าย $266 ล้านซื้อ “เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์”

รอยเตอร์ – บริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (Alibaba Group Holding Ltd) เห็นชอบในข้อตกลงมูลค่า 266 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าครอบครอง เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ และทรัพย์สินด้านสื่ออย่างอื่นๆ ของบริษัท SCMP กรุ๊ป จำกัด (SCMP Group Ltd) โดยที่การซื้อขายกันคราวนี้ก่อให้เกิดความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับทิศทางอนาคตแห่งความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อดังของฮ่องกงฉบับนี้

ในหนังสือชี้แจงส่งถึงตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ (14 ธ.ค.) SCMP กรุ๊ปหยิบยกเรื่องอนาคต “ที่ไม่มีความแน่นอน” ของอุตสาหกรรมการจัดพิมพ์แบบดั้งเดิม มาเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งเบื้องหลังการที่ตนเองตกลงขายในคราวนี้ พร้อมกับเสริมด้วยว่า ทางด้านอาลีบาบา นั้น มีความสามารถที่จะ “ปลดล็อกปล่อยมูลค่าอย่างใหญ่โตมากขึ้น” ออกมาจากธุรกิจนี้

ข้อตกลงซื้อขายด้วยเงินสดทั้งหมดคราวนี้ เป็นการถ่ายโอนอำนาจควบคุมหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีอายุเก่าแก่ถึง 112 ปีฉบับนี้ จาก โรเบิร์ต ก็วก เจ้าพ่อทรงอิทธิพลชาวมาเลเซีย มาอยู่ในมือของ แจ๊ก หม่า อภิมหาเศรษฐีชาวจีน ในช่วงเวลาที่กำลังมีความกังวลห่วงใยกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อสภาวการณ์ที่ปักกิ่งควบคุมนครซึ่งมีอิสรเสรีสูงที่สุดของจีนแห่งนี้

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำของฮ่องกง เป็นผู้รายงานข่าวและแสดงความคิดเห็นในประเด็นและหัวข้อต่างๆ ซึ่งถือกันว่ามีความอ่อนไหวสูงในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยที่นั่น แม้กระทั่งเว็บไซต์ของสื่อระหว่างประเทศจำนวนมาก ก็ยังถูกปิดกั้นเข้าไปดูไม่ได้

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจมากที่จะต้องคอยติดตามดูว่า พวกนักข่าวและเจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการชุดปัจจุบันจะยังอยู่ต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องมีคุณค่าที่จะคอยเฝ้าจับตากัน” เจมส์ ซุง (James Sung) นักวิเคราะห์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง (City University of Hong Kong) กล่าวแสดงความเห็น

ขณะที่เจ้าของใหม่อย่าง หม่า เป็นที่ทราบกันอยู่ว่ามีเส้นสายการติดต่อสัมพันธ์ทางการเมืองชั้นดีในแดนมังกร ทว่านักวิเคราะห์คนอื่นๆ ยังคงมองว่า การเปลี่ยนเจ้าของคราวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรอย่างที่บางผู้บางคนกำลังพยายามโหมประโคม ในเมื่อ ก็วก ก็เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 1993 แล้ว

“มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ว่า ก่อนหน้านี้ SCMP มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่จากอิทธิพลทางการเมือง ... ก่อนหน้านี้ เจ้าของก็เป็นเจ้าพ่อธุรกิจผู้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน” ศาสตราจารย์ฟรานซิส ลี (Francis Lee) ซึ่งสอนอยู่ที่ คณะหนังสือพิมพ์และการสื่อสาร (School of Journalism and Communication) ของมหาวิทยาลัยไชนีส ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ชี้

ทางด้าน โจ ไช่ (Joe Tsai) รองประธานบริหาร (Executive Vice Chairman) ของอาลีบาบา ก็กล่าวในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อ่าน ปฏิเสธเสียงวิจารณ์ที่ว่า อาลีบาบาจะทำให้กองบรรณาธิการขาดความเป็นอิสระ แต่ก็เสริมด้วยว่า โลกจำเป็นที่จะต้องมี “ทัศนะหลายๆ ด้านเมื่อนำเสนอข่าวสารและความเห็นเกี่ยวกับจีน”

SCMP กรุ๊ป แสดงความคาดหมายว่าจะมีรายรับประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงจากการขายทรัพย์สินคราวนี้ บริษัทวางแผนนำเงินรายรับที่ได้นี้มาจ่ายเป็นเงินปันผลพิเศษ

หุ้นของ SCMP กรุ๊ป ถูกสั่งระงับการซื้อขายมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2013 เนื่องจากบริษัททำไม่ได้ตามข้อบังคับของตลาดว่าด้วยสัดส่วนต่ำสุดของทุนเรือนหุ้น ซึ่งจะต้องนำออกมาให้ประชาชนได้ซื้อขาย

ขณะที่อาลีบาบา ได้เข้าครอบครองหรือเข้าลงทุนในบริษัทสื่อและบริษัทด้านคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ โดยที่เมื่อเดือนมิถุนายน บริษัทตกลงจ่ายเงิน 194 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหุ้นในจำนวนที่ไม่มีการเปิดเผยของ ไชน่า บิสซิเนส นิวส์ (China Business News) ซึ่งเป็นบริษัทสื่อด้านการเงินภายในประเทศจีน
(จาก http://www.reuters.com/article/us-scmp-group-alibaba-idUSKBN0TX01S20151214#m61HzUTq6dLs1VST.97)


กำลังโหลดความคิดเห็น