xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : กลุ่ม ส.ส.สหรัฐฯ กดดัน “เลิกซื้อ” กุ้งแช่แข็งจากไทย หลังสุดทน!! ข่าวสาวพม่านั่งปอกกุ้งจนแท้งตกเลือดฉาวไปทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ผู้จัดการออนไลน์ - กลุ่มสมาชิกรัฐสภาคองเกรส ซึ่งรวมไปถึง คริส สมิท (Chris Smith) ตัวแทนจากรัฐนิวเจอร์ซี ออกแถลงการณ์ด่วนในวันจันทร์ (14 ธ.ค.) ประณามและประกาศให้ **บอยคอตสินค้าทะเลแช่แข็งจากไทย** ที่เกิดจากการใช้แรงงานทาสต่างด้าว หลังพบแรงงานทาสต้องทำงานหนัก 16 ชม.ต่อวัน นั่งปอกกุ้งสดหนัก 80 กก.จนแท้งตกเลือด และรวมไปถึงการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย

บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(15) ว่า ส.ส.รัฐนิวเจอร์ซีย์ สายพรรครีพับลิกัน และ สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านต่างประเทศของสภาคองเกรส คริส สมิท (Chris Smith) ได้ออกแถลงการณ์ด่วนร่วมกับเพื่อนสมาชิกสภาคองเกรส เรียกร้องให้มีการกดดันไทยในเรื่องการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง “ด้วยการบอยคอตสินค้าอาหารทะเลจากไทย” ว่า “พวกเราทั้งหมดอาจค้นพบว่า กุ้งที่อยู่ในจานอาหารตรงหน้าที่พวกเรากำลังรับประทานอยู่อย่างไม่รู้ตัวนี้ เป็นผลผลิตที่เกิดจากเลือดเนื้อของแรงงานทาส แต่เมื่อเราได้รับรู้ถึงสิ่งนี้แล้ว ผมคิดว่าถือเป็นหน้าที่ทางจริยธรรมของพวกเรา ที่ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้พวกเราตัดสินใจได้ทันทีว่า สมควรบอยคอตผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งจากไทย” สมิทแถลง

ด้านหนังสือพิมพ์ฮ่องกง เดอะสแตนดาร์ด รายงานถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้จับมือร่วมกันเพื่อกดดันรัฐบาลไทยอย่างหนักในปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของไทย ด้วยการประกาศเรียกร้องทั่วโลกไม่ให้ซื้อขายสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งผลิตในไทยที่ได้จากการใช้แรงงานทาสเถื่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ถูกขายทอดไปให้นายจ้างคนไทยหลังจากเดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปัญหาแรงงานทาสและอุตสหกรรมจับสัตว์น้ำของไทยถูกสื่อเอพีตีแผ่อย่างต่อเนื่อง และทำให้ไทยถูกจัดลดระดับในด้านสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา

ด้านมาร์ก ลากอน (Mark Lagon) ประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชน ฟรีดอม เฮาส์ (Freedom House) ที่มีฐานในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้จากการรายงานของสื่อฮ่องกงว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของการจ่ายค่าแรงต่ำ หรือสภาพการทำงานที่โหดร้าย และนี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการลดค่าใช้จ่ายมหาศาลในการผลิตสินค้า แต่นี่เป็นการกดขี่ “ความเป็นมนุษย์” ของเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์อย่างร้ายแรง…ซึ่งประชาชนชาวอเมริกันไม่สามารถอดทนต่อสิ่งนี้ที่เกิดขึ้นได้”

เป็นเรื่องที่น่าสลดใจเป็นอย่างมากในรายงานเอพีที่ได้เปิดเผยออกมาในวันจันทร์ (14) ที่ผ่านมาว่า พบแรงงานพม่าถูกใช้งานเยี่ยงทาส ทำงานอย่างหนักตลอดเวลา 16 ชม.ในการปอกกุ้งสดที่มีน้ำหนักราว 175 ปอนด์ หรือราว 80 กก. เพื่อแลกกับค่าจ้างเพียง 4 ดอลลาร์ หรือราว 120 บาทต่อวัน ในขณะที่ค่าครองชีพในไทยกระฉุดไปที่ค่าอาหารต่อมื้อโดยเฉลี่ยมื้อละ 2 ดอลลาร์ หรือ 60 บาท หรือไม่ก็คนงานเหล่านั้นก็ไม่ได้รับเงินค่าแรงเลย และยังพบว่ามีแรงงานเหล่านี้จำนวนมากถูกขังให้ทำงานโดยนายจ้างคนไทยเป็นนานหลายเดือน จนถึงขั้นเป็นปี และเกือบไม่มีการอนุญาตพักเพื่อรับประทานอาหาร

โดยสื่อฮ่องกงรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ขิ่น ซิน โซ (Khine Zin Soe) แรงานพม่าวัย 24 ปีได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ว่า เธอทำงานปอกกุ้งในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ที่สถานประกอบการแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร

แรงงานพม่าได้เปิดใจทั้งน้ำตาต่อว่า เธอถูกนายจ้างชาวไทยทารุณอย่างหนักด้วยการสั่งให้ยืนปอกกุ้งจนทำให้แท้งบุตรในครรภ์ และมีอาการตกเลือดเป็นเวลานานร่วม 4 วัน ซึ่งเสี่ยงถึงชีวิต

เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า สถานประกอบการเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อรับรองอุตสาหกรรมประมงในไทย

โดยเฉพาะในตัว จ.สมุทรสาคร และมีการกดขี่ใช้แรงงานเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีความสูงไม่ถึงโต๊ะทำงาน จนทำให้นายจ้างชาวไทยต้องบังคับให้เธอยืนบนม้านั่งทำงานทั้งวันร่วมไปกับผู้ใหญ่

สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า หนึ่งในโรงงานที่ถูกทลายโดยทางการไทย คือ The Gig Peeling Factory หรือโรงงานเดอะกิกปอกกุ้งในสมุทรสาคร และมีแรงงานพม่าเช่น ทิน โย วิน (Tin Nyo Win) ลูกจ้างแรงงานต่างชาติที่ถูกนายจ้างคนไทยใช้หมายเลขเรียกแทนชื่อ ลดความเป็นคนลงเหลือแค่หมายเลขเครื่องจักรในโรงงานแห่งนี้

สำหรับทิน โย วิน แล้ว เขาคือหมายเลข #31 สำหรับนายจ้างคนไทยเท่านั้น และไม่ใช่เพียงแต่ชายชาวพม่าวัย 22 ปีคนนี้ที่ต้องทนถูกกดขี่อย่างโหดร้าย แต่ภรรยา ไม ซาน(Mi San) และเพื่อนร่วมงานแรงงานพม่าอีกเกือบ 100 ชีวิตยังต้องทำงานในสภาพป่าเถื่อนเช่นนี้ หลังจากคนเหล่านี้ถูกขายทอดมาให้นายจ้าง

โดยเดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า เจ้านายคนไทยสั่งให้แรงงานพม่าทั้งหมดต้องตื่นทำงานในเวลา 2.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ผับและบาร์เพิ่งเลิกสำหรับคนไทย แต่สำหรับชีวิตในโรงงานปอกกุ้งย่านสมุทรสาครแห่งนี้ แรงงานทั้งหมดจะได้ยินเสียงถีบที่ประตูอย่างแรง พร้อมคำข่มขู่ประกาศว่า “จะยอมตื่นเองหรือจะโดนกระทืบ” และทำให้คนเหล่านั้นต้องเริ่มต้นทำงานปอกกุ้งถึง 16 ชม.เต็มติดต่อกัน ในขณะที่มือทั้งสองต้องแช่อยู่ในน้ำเย็นจัดตลอด

เอพีรายงานเพิ่มเติมในจุดนี้ว่า โดยหนึ่งในหมายเลขแรงงานพม่าได้ให้ความเห็นว่า “พวกเขาไม่ยอมให้เราพักเลย” Eae Hpaw วัย 16 ปีกล่าว ขณะที่พบเห็นร่องรอยแผลเป็นบนแขนของเธอจากการติดเชื้อและอาการแพ้เกี่ยวข้องกับกุ้ง “เราเลิกงานตอนราวๆ 19.00 น. จากนั้นก็จะอาบน้ำและเข้านอน ก่อนจะเริ่มงานอีกครั้งตอนราวๆ 03.00 น.”

นอกจากนี้ ทิน โย วิน หรือหมายเลข #31 ที่ถูกขายมาให้นายจ้างที่ “โรงงานเดอะกิกปอกกุ้ง” ได้เปิดเผยต่อว่า เขาและภรรยา ไม ซาน ถูกตวาดหลังจากไม่สามารถใช้มือทั้งสองข้างปอกได้รวดเร็วพอตามความต้องการของนายจ้างคนไทย และถูกเรียกด้วยคำด่าว่า “ควาย”

และคนทั้งคู่จะได้รับอนุญาตให้ออกไปซื้ออาหารจากภายนอกได้ก็ต่อเมื่อ ทิน โย วิน หรือภรรยา หนึ่งในนั้นต้องนั่งทำงานอยู่ภายในตัวโรงงานเป็นหลักประกันให้นายจ้างคนไทยรับรู้ว่า ผู้ที่ออกไปข้างนอกจะไม่หลบหนี และนอกจากนี้ คนงานต่างด้าวชาวพม่าที่มีชีวิตไม่ต่างจากทาสผิวดำในช่วงยุคทาสรุ่งเรืองในอเมริกา ต้องทนใช้ห้องน้ำรวมที่สกปรกและเหม็น และมีอุจาระล้นออกมา รวมไปถึงกลิ่นหม็นเน่าจากท่อระบายน้ำเสียที่อยู่ด้านนอกของตัวโรงงานซึ่งเป็นสถานที่ปอกกุ้งสำหรับส่งออก

นอกจากนี้มีรายงานว่า ในแต่ละวันคนงานทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาเพียงแค่ 15 นาทีในการรับประทานอาหารเท่านั้น

ขณะที่ไทยยูเนียน (Thai Union) บริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทย จากการรายงานของสื่อฮ่องกง เดอะสแตนดาร์ดยอมรับว่า “ไม่ทราบถึงที่มากุ้งเหล่านี้”

โดย ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนียนได้ออกแถลงการณ์แก้ตัวในเรื่องนี้หลังจากมีการเปิดเผยจากเอพีว่า “ทางเราตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ถึงแม้ว่าในการตรวจสอบตามปกติ **เป็นการยากที่จะรับรองว่าผลิตภัณฑ์ก่อนกระบวนการทั้งหมดที่ได้รับมาจากภายนอกจะทำตามมาตรฐานของบริษัท ไทยยูเนียน** ” ซึ่งอาจหมายความว่าทางไทยยูเนียนยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบของตัวเองให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทได้

เดอะสแตนดาร์ดยังเปิดเผยต่อว่า ด้านสถานทูตไทยในวอชิงตันได้ออกแถลงการณ์ด่วนถึงปัญหานี้หลังมีการรายงานจากเอพีว่า ทางรัฐบาลไทยจะนำตัวผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการผิดกฎหมายทั้งหมดมาลงโทษ “ทางเราขอปฎิญาณเพื่อให้มั่นใจว่าสายพานการผลิตสินค้าอาหารทะเลไทยจะปลอดจากขบวนการค้ามนุษย์ และแรงงานทาส”

ในแถลงการณ์นี้ยังชี้ต่อว่า ทางไทยได้ออกกฎหมายเพื่อกวาดล้างการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายในอุตสาหากรรมอาหารทะเลและอาหารแปรรูปของไทย และจะร่วมมือกับองค์กรในประเทศและนานาชาติในแก้ปัญหาด้วยการเร่งสร้างการตระหนักต่อปัญหา และการเพิ่มการตรวจสอบ”

อย่างไรก็ตาม สื่อฮ่องกงชี้ว่าถึงแม้ปัญหาแรงงานทาสจะสำคัญมากเพียงใด จนทำให้สหรัฐฯต้องออกโรงประณามและเรียกร้องให้ร่วมบอยคอตไม่ซื้อสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทย แต่ทว่า กาวิน กิบบอนส์ (Gavin Gibbons) ตัวแทนจาก กลุ่มการค้าธุรกิจอาหารทะเลสหรัฐฯภายใต้ชื่อที่คล้ายกับองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ “สถาบันการประมงแห่งชาติ” (National Fisheries Institute) หรือ NFI ซึ่งเป็นตัวแทนถึง 75% ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากทะเลในสหรัฐฯ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า “การแบนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากไทยไม่ใช่การแก้ปัญหา”

กิบบอนส์ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อว่า “หากคุณไม่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์แช่แข็งอาหารทะเลจากไทย คุณไม่ต้องพูดถึงเลยในเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานทาส เพราะคุณไม่มีความสามารถในการต่อรองเพื่อทำการแก้ไขในสิ่งนี้ได้ เพราะไม่มีศักยภาพที่จะผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณไม่สามารถจะได้กล่าวว่า “นี่เป็นนโยบายของผม และหากพวกคุณไม่ทำตามกฎพวกนี้ และไม่ยอมอนุญาตให้บุคคลที่สามเข้าทำการตรวจสอบ พวกคุณจะต้องสูญเสียช่องทางในการเข้าสู่ตลาดอย่างช่วยไม่ได้”

สื่อฮ่องกงยังชี้ว่า ลูกค้าธุรกิจเกี่ยวข้องกับอาหารทะเลแช่แข็งในสหรัฐฯส่วนใหญ่ต่างกล่าวว่า พวกเขาต่างต้องพึ่งพาบรรดาบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งจากไทย

แต่อย่างไรก็ตาม บัดดี กาเล็ตตี (Buddy Galetti) ประธานบริษัทนำเข้าเซาท์วินด์ส ฟูดส์ (Southwind Foods) ที่มีฐานอยู่ในแอลเอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นแย้งในเรื่องนี้ว่า “ผมพนันได้เลยว่า หากห้างวอลล์มาร์ท เครือภัตตาคารเรด ล็อบสเตอร์ และรวมไปถึงบริษัทโครเกอร์ หยุดการสั่งซื้อจากไทยโดยสิ้นเชิงจนกว่าจะมีการแก้ไขในเรื่องแรงงานทาส ผมคิดว่าในไม่ช้า ไทยจะถูกบีบเพราะไม่มีทางเลือกนอกจากต้องแก้ไขปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้น”

กาเล็ตตียังเสริมต่อว่า บริษัทของเขาสั่งนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทยน้อยมาก “พวกบริษัทยักษ์ใหญ่สร้างภาพทำตัวคล้ายโป๊ปที่มีศีลธรรมสูงส่ง แต่กลับเลือกที่จะทำธุรกิจกับโจร” กาเล็ตตีให้ความเห็นทิ้งท้าย


ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนียน กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ทางเราตระหนักถึงเรื่องนี้  แต่ถึงแม้ว่าในการตรวจสอบตามปกติ เป็นการยากที่จะรับรองว่าผลิตภัณฑ์ก่อนกระบวนการทั้งหมดที่ได้รับจากภายนอกจะทำตามมาตรฐานของบริษัทไทยยูเนียน

(กลาง) ขิ่น ซิน โซ (Khine Zin Soe) แรงานพม่าวัย 24 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เธอต้องทำงานปอกกุ้งในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ที่สถานประกอบการแห่งหนึ่งในจ.สมุทรสาคร














กำลังโหลดความคิดเห็น