เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเปิดหน่วยงานทางการทูตแห่งใหม่ในสัปดาห์นี้ มีหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองเกี่ยวกับการก่อการร้ายข้ามชาติ เพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธในต่างแดนซึ่งพลเมืองญี่ปุ่นเคยตกเป็นเหยื่อมาแล้ว
ทางการญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายที่อาจจะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมืองปลาดิบในต่างประเทศ หลังเกิดกรณีนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ฆ่าตัดคอพลเมืองญี่ปุ่น 2 รายเมื่อต้นปีนี้ รวมถึงวิกฤตตัวประกันที่โรงแยกก๊าซอินอามีนาสในแอลจีเรียเมื่อปี 2013 ซึ่งทำให้มีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปถึง 10 คน
โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและหัวหน้าโฆษกรัฐบาล ระบุว่า หน่วยงานใหม่ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ จะทำหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองเกี่ยวกับการก่อการร้าย
“เราจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการก่อการร้าย และปกป้องพลเมืองญี่ปุ่นจากอันตรายทั้งปวง” สุกะ แถลงต่อสื่อมวลชน
หน่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองซึ่งจะเริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) จะมีบุคลากรประมาณ 20 คนในกรุงโตเกียว และอีก 20 คนประจำการอยู่ตามสถานทูตญี่ปุ่นในต่างประเทศ โดยเน้นไปที่ 4 ภูมิภาคใหญ่ๆ ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ-ตะวันตก
นักการทูตญี่ปุ่นคนหนึ่งเผยว่า เดิมทีรัฐบาลมีแผนที่จะเปิดหน่วยงานนี้ในเดือนเมษายน ปี 2016 ทว่าเหตุวินาศกรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เช่น กรณีนักรบอิสลามิสต์โจมตีกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ทำให้รัฐบาลตัดสินใจเลื่อนกรอบเวลาดำเนินงานให้ใกล้เข้ามา
ญี่ปุ่นไม่เคยเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติมาก่อน จนกระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ในอดีตก็เคยเผชิญเหตุโจมตีมาบ้าง เช่น กรณีเที่ยวบิน 472 ของสายการบิน เจแปน แอร์ไลน์ส ถูกจี้กลางอากาศในทศวรรษ 1970 โดยฝีมือกลุ่ม เจแปนนิสต์ เรด อาร์มี ทื่มีความเชื่อมโยงกับองค์กรชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง
สุกะ ยังเป็นตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับสหรัฐฯ และรับปากว่าญี่ปุ่น “จะร่วมมือกับวอชิงตันและชาติพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อสกัดกั้นการก่อการร้าย” หลังจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ปราศรัยถ่ายทอดสดจากทำเนียบขาวเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (6) โดยประณามเหตุกราดยิงในมลรัฐแคลิฟอร์เนียว่าเป็น “การก่อการร้าย” พร้อมประกาศว่าสหรัฐฯ จะต้องกวาดล้างไอเอสให้ราบคาบ
รัฐบาลโตเกียวได้ทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านข่าวกรอง รวมถึงการส่งดาวเทียมหลายดวงขึ้นสู่วงโคจรเพื่อสอดแนมกิจกรรมนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ยังต้องการแสดงให้นานาชาติเชื่อมั่นในมาตรการรักษาความปลอดภัย ก่อนที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ในเดือน พ.ค.ปีหน้า และกีฬาโอลิมปิกในปี 2020