xs
xsm
sm
md
lg

รอยเตอร์ตีข่าว “ไทยยูเนียนกรุ๊ป” พับแผนซื้อกิจการอาหารทะเลกระป๋อง “บัมเบิลบี” ในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - บริษัท ไทย ยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก ประกาศยกเลิกแผนซื้อกิจการ “บัมเบิลบี ซีฟูดส์” ผู้นำด้านอาหารทะเลสำเร็จรูปในภูมิภาคอเมริกาเหนือ วันนี้ (4 ธ.ค.) หลังทางการสหรัฐฯ ชี้ขาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการแข่งขันในตลาดอาหารทะเล

ข้อตกลงซื้อกิจการซึ่งมีมูลค่าราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ ไทย ยูเนียน สามารถผูกขาดแบรนด์อาหารทะเลชั้นนำในอเมริกาเหนือ รวมถึงทูน่ากระป๋อง 2 ใน 3 ยี่ห้อดังที่ขายดีที่สุดในสหรัฐฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์กระตุ้นรายได้ให้ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย ยูเนียน ฟูดส์ (ทียูเอฟ) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ โดยยืนยันว่า ไทย ยูเนียน ยังมีแผนที่จะซื้อกิจการบริษัทอาหารทะเลอื่นๆ ในต่างแดน เพื่อดันผลประกอบการให้สำเร็จตามเป้าที่วางไว้

“เราจะมีเงินสดสำหรับนำไปซื้อกิจการของบริษัทอื่นๆ... ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้สำหรับปี 2020”

ไทย ยูเนียน พยายามอย่างสูงที่จะผลักดันให้ข้อตกลงซื้อกิจการ บัมเบิลบี ซีฟูดส์ ได้ไฟเขียวจากรัฐบาลอเมริกัน หลังประกาศบรรลุข้อตกลงกันเมื่อ 1 ปีก่อน แต่ในที่สุดก็ต้องตัดสินใจพับแผน เมื่อเห็นว่าโอกาสที่ทางการสหรัฐฯ จะอนุมัติเป็นไปได้ยาก

“ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์มากกว่า หากปราศจากข้อตกลงนี้” บิล แบร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฝ่ายต่อต้านการผูกขาดการค้า ระบุในคำแถลง

“จากการสอบสวนของเราทำให้เชื่อได้ว่า หุ้นส่วนทั้งสองฝ่ายทราบดีอยู่แล้วว่าการแข่งขันในตลาดทุกวันนี้ก็ไม่เป็นธรรมนัก และถ้ายอมให้มีการผูกขาดเพิ่มขึ้นอีก ก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง”

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า ตลาดทูน่ากระป๋องถูกผูกขาดมานานแล้วโดย 3 แบรนด์ใหญ่ๆ และหากอนุมัติให้ ไทย ยูเนียน เข้าซื้อกิจการ บัมเบิลบี ซีฟูดส์ ก็จะส่งผลให้อาหารทะเลกระป๋องแบรนด์อื่นๆ ที่จัดจำหน่ายโดย 2 บริษัทนี้ ถูกผูกขาดตามไปด้วย

“กระทรวงยุติธรรมได้แจ้งไปยังบริษัททั้งสองแห่งแล้วว่า เรามีความกังวลว่าข้อเสนอควบรวมกิจการจะยิ่งบั่นทอนการแข่งขันในตลาด”

ประธานทียูเอฟ ยืนยันว่า บริษัทจะยังไม่ขายแบรนด์ “ชิกเกน ออฟ เดอะ ซี” ซึ่งมีฐานการผลิตในเมืองซานดิเอโก ซึ่งแต่เดิมมีแผนที่จะขายทิ้งหากการเข้าซื้อกิจการบัมเบิลบี ซีฟูดส์ เป็นไปด้วยดี

“เราตัดสินใจจะพัฒนาโครงสร้างธุรกิจที่เรามีอยู่ต่อไป และไทย ยูเนียน ยังคงมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดอาหารทะเลสำเร็จรูปในอเมริกาเหนือ”

ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า ชิกเกน ออฟ เดอะ ซี สามารถทำรายได้สูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2013


กำลังโหลดความคิดเห็น