อาร์ทีนิวส์/รอยเตอร์ - รัสเซียใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด “ซู-34” ติดขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ ดำเนินภารกิจในซีเรียเป็นครั้งแรก ท่ามกลางข้อพิพาทกับตุรกีในเหตุ ซู-24 ถูกสอยร่วง จากการเปิดเผยของโฆษกกองทัพอากาศมอสโกในวันจันทร์ (30 พ.ย.) ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มีโอกาสหารือกับบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิกฤตความขัดแย้งในดินแดนที่ถูกสงครามฉีกขาดนี้ รอบนอกการประชุมโลกร้อนในเมืองหลวงของฝรั่งเศส
“วันนี้เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดซู-34 ได้ดำเนินการโจมตีเป็นเที่ยวแรก โดยมันไม่ได้แค่บรรจุระเบิดลูกทิ้งอานุภาพสูงแล้ว มันยังติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลางและพิสัยไกลด้วย” อิกอร์ คลิมอฟ โฆษกกองทัพอากาศรัสเซียเผย “เครื่องบินติดตั้งขีปนาวุธในวัตถุประสงค์ป้องกันตนเอง ขีปนาวุธมีกลไกค้นหาเป้าหมายและมีประสิทธิภาพในการโจมตีเป้าหมายทางอากาศภายในรัศมี 60 กิโลเมตร”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเครื่องบินเอฟ-16 ของตุรกี ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดซู-24 ของรัสเซียที่กำลังปฏิบัติภารกิจในซีเรียตกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทางอังการาอ้างว่ามันละเมิดน่านฟ้าของประเทศ แต่มอสโกปฏิเสธและอ้างข้อมูลข่าวกรองของกองทัพยืนยันว่าซู-24 ลำดังกล่าวไม่เคยออกนอกน่านฟ้าของซีเรียเลย
ตามหลังเหตุเครื่องบินถูกยิงตก ประธานาธิบดีปูตินเมื่อวันเสาร์ (28 พ.ย.) ลงนามในกฤษฎีกากำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อตุรกี ในนั้นรวมถึงแบนองค์กรต่างๆ ของชาวเติร์กและห้ามนำเข้าสินค้าบางอย่าง ห้ามเครื่องบินเช่าเหมาลำและขายแพกเก็จทัวร์ไปยังตุรกี และระงับยกเว้นวีซาแก่พลเมืองตุรกี ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (26 พ.ย.) มอสโกได้เรียกผู้แทนทางทหารประจำตุรกีกลับประเทศ ในขณะที่กระทรวงกลาโหมเผยว่าได้ระงับความร่วมมือทางทหารกับอังการาทุกช่องทาง ในนั้นรวมถึงการจัดตั้งสายด่วนเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของรัสเซียในซีเรีย
รัสเซียเริ่มโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายต่างๆ ของพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในซีเรียมาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน โดยปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามคำร้องของของดามัสกัส
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เข้าสู่ความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น จากเหตุเครื่องบินรัสเซียตกตามแนวชายแดนตุรกี-ซีเรีย นับเป็นครั้งแรกที่ชาติสมาชิกหนึ่งของพันธมิตรนาโตสอยเครื่องบินรัสเซียร่วงนับตั้งแต่ปี 1952 กัดเซาะความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่มีบทบาทสำคัญในวิกฤตความขัดแย้งซีเรีย
วิกฤตดังกล่าวเช่นเดียวกับสถานการณ์ในยูเครน กระตุ้นให้ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีปูติน เปิดหารือกันรอบนอกการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในเมืองหลวงของฝรั่งเศสในวันจันทร์ (30 พ.ย.)
โอบามา ได้ย้ำถึงความสำคัญของการเล่นงานเป้าหมายต่างๆ ของไอเอสและไม่ใช่การพุ่งเป้าถล่มกลุ่มกบฏที่ต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด “ประธานาธิบดีทั้ง 2 ท่าน หารือกันถึงความจำเป็นที่ต้องสานต่อความคืบหน้าของการเจรจาที่กรุงเวียนนา ขั้นตอนที่จะนำมาซึ่งการหยุดยิงและใช้ทางออกทางการเมืองคลี่คลายสงครามกลางเมืองในซีเรีย” เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผย อ้างถึงโต๊ะหารือนานาชาติเกี่ยวกับวิกฤตซีเรียในเมืองหลวงของออสเตรีย
เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเผยต่อว่านายโอบามาบอกกับปูตินว่าเขาเชื่อว่าส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนถ่ายทางการเมืองก็คือนายอัสซาดต้องลงจากอำนาจ ขณะที่ผู้นำทั้งสองระบุว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจะเดินหน้าในกระบวนการด้านการทูตต่อไป
นอกจากนี้แล้ว นายโอบามาแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนักบินรัสเซีย หลังถูกตุรกียิงเครื่องบินตกตามแนวชายแดนซีเรีย เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้มอสโกส่งระบบขีปนาวุธล้ำสมัยเข้าไปยังซีเรีย โดยในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเผยว่านายโอบามาสนับสนุนให้ทั้งรัสเซียและตุรกีลดความตึงเครียดระหว่างกัน
ระหว่างการสนทนาที่ใช้เวลาราว 30 นาที ประธานาธิบดีโอบามายังเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้แนวทางการทูตคลี่คลายวิกฤตยูเครน พร้อมระบุว่าอาจถอนมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซีย หากมอสโกปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงที่บรรลุกันในกรุงมินสก์