xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ กลายเป็นผู้นำของ ‘โลกเสรี’ ในการสู้รบปราบปราม ‘ไอเอส’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Vladimir Putin, Leader of the Free World
By David P. Goldman
18/11/2015

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเวลานี้กำลังกลายเป็นผู้นำของโลกเสรี ในการต่อสู้ปราบปรามลัทธิก่อการร้ายอิสลามิสต์ เขากำลังกลายเป็นชี้นำทิศทางให้แก่การใช้ความพยายามในเรื่องนี้ของฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมทั้งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการให้อเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ในสภาพที่ประธานาธิบดีอเมริกันกลายเป็นผู้ไม่ยินดีที่จะต่อสู้ทำศึก ขณะที่ยุโรปก็ขาดไร้สมรรถนะทางทหาร รัสเซียจึงสามารถเข้ากุมบังเหียนการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มไอซิส โดยที่ส่งกำลังรบออกมาทำสงครามนอกประเทศเพียงแค่เครื่องบินรบ 30 กว่าลำและกองทหารอีกราว 5,000 คนเท่านั้น

ถ้าหาก มิคาอิล บุลกาคอฟ (Mikhail Bulgakov)[1] กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง และใช้ดินแดนเลแวนต์ (Levant)[2] มาเป็นท้องเรื่องเพื่อเขียนภาคต่อของนวนิยายเรื่อง “The Master and Margarita”[3] ของเขาแล้ว เขาก็คงไม่สามารถประดิษฐ์คิดสร้างฉากเหตุการณ์ที่ขมุกขมัวน่าขนลุกขนพองได้มากกว่าสิ่งซึ่งเราพบเห็นอยู่ในซีเรียปัจจุบัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เวลานี้กำลังกลายเป็นผู้นำของโลกเสรีในการต่อสู้ปราบปรามลัทธิก่อการร้ายอิสลามิสต์ เขากำลังชี้นำทิศทางให้แก่การใช้ความพยายามในเรื่องนี้ของฝรั่งเศสและเยอรมนี นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการให้อเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องนี้ ขณะที่ฝรั่งเศสลุกโซซัดโซเซขึ้นมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แดนน้ำหอมอยู่ในสภาพที่ทั้งขาดไร้กระดูกสันหลังและขาดไร้พลังดิบเถื่อนเพื่อทำการแก้แค้นให้ตนเองจากการกระทำของกลุ่มไอซิส (ISIS)[4] และรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องเกาะแขนของแดนหมีขาว อย่างไรก็ดี ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเช่นนี้ มันมีความหมายมากกว่าเพียงแค่การเข้ามีส่วนร่วมมือกันในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

เมื่อปี 2008 ผมเคยเสนอให้เลือก ปูติน เป็นประธานาธิบดีอเมริกัน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.atimes.com/atimes/Central_Asia/JA08Ag01.html) แน่นอนครับ นั่นเป็นการพูดตลกยั่วเย้าเท่านั้น แต่ว่าในเวลานี้ ปูตินกำลังเป็นผู้ที่บังคับกดดันให้ประธานาธิบดีของสหรัฐฯต้องเดินตามเขาอยู่จริงๆ รวมทั้งกำลังชี้นำทิศทางความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายฝรั่งเศสและเยอรมนีอีกด้วย ไม่มีใครเลยที่ได้เคยคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าเอาไว้ว่า ปูตินจะสามารถก้าวผงาดขึ้นสู่ความเป็นผู้นำระดับโลกได้อย่างโดดเด่นเช่นนี้ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับแวดวงการเงินที่ผมคุ้นเคยแล้ว รัสเซียอยู่ในจุดยืนแบบ “กองทุนอีแร้ง” (vulture fund) กำลังคอยตามเก็บตามกว้านซื้อสินทรัพย์ของพวกพันธมิตรตะวันตกผู้เสียขวัญในราคาที่ถูกแสนถูก เมื่อเผชิญกับประธานาธิบดีอเมริกันผู้ไม่ยินดีที่จะต่อสู้ทำศึก และเหล่าพันธมิตรยุโรปของอเมริกาซึ่งสมรรถนะทางทหารได้หดเหี้ยนลงจนแทบไม่หลงเหลือความสำคัญอะไรอีกต่อไปแล้ว สหพันธรัฐรัสเซียจึงตรงเข้ากุมบังเหียนโดยที่ส่งกำลังรบออกมาทำสงครามนอกประเทศเพียงแค่เครื่องบินรบ 30 กว่าลำและกองทหารอีกราว 5,000 คนเท่านั้น หากลองสอบค้นดูตลอดทั่วทั้งประวัติศาสตร์ทางการทูต เราคงไม่พบกรณีอื่นใดอีกแล้วที่สามารถก่อให้เกิดผลมากมายขนาดนี้โดยที่ลงทุนลงแรงเพียงน้อยนิดแค่นี้ ในฐานะที่ผมเป็นชาวอเมริกันคนหนึ่ง ผมมีความอัปยศอดสูอย่างล้ำลึก ณ จุดที่เหตุการณ์เปลี่ยนผันมาถึงขนาดนี้ได้ ความเจ็บช้ำของผมสามารถบรรเทาลงได้บ้างเล็กน้อย ก็เพียงเพราะความสะใจสมน้ำหน้าที่ได้เห็นพวกผู้คนชั้นนำและสถาบันซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา ต้องรับความอัปยศอดสูอย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าผมเสียอีก

โลกกำลังถูกผลักดันเดินหน้าไปด้วยกฎเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปจากเมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ปูตินได้ตอบคำถามซึ่งผมหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเมื่อเดือนกันยายนแล้ว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://atimes.com/2015/09/vladimir-putin-spoiler-or-statesman/) ประธานาธิบดีโอบามานั้น ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมซัมมิต (ของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก หรือ จี20) ที่เมืองอันตัลยา (Antalya) ประเทศตุรกี ว่า “ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ผมก็มีความยินดีจากการที่มอสโกกำลังติดตามไล่ล่ากลุ่มไอซิล ... เรากำลังเฝ้าดูว่า ในทางเป็นจริงแล้ว รัสเซียจะสรุปปิดท้ายด้วยการทุ่มเทความสนอกสนใจไปที่เป้าหมายต่างๆ ซึ่งเป็นพวกโอซิลจริงๆ หรือไม่ ถ้าหากรัสเซียทำเช่นนั้นจริงๆ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่เรายินดีต้อนรับ” หลังจากที่ในสัปดาห์นี้รัสเซียและฝรั่งเศสทำการถล่มโจมตีทางอากาศใส่ที่มั่นสำคัญๆ ของไอซิสในร็อกเกาะห์ (Raqqa) แล้ว ประเด็นที่โอบามาหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามนี้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ที่จะถกเถียงกันอีกต่อไป เวลานี้มันดูราวกับว่าเป็นอีกยุคหนึ่งเป็นอีกสมัยหนึ่งจากตอนที่ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney)[5] ประกาศว่า รัสเซียคือภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ใหญ่ที่สุดของอเมริกา ตรงกันข้าม รัสเซียขณะนี้กลับกำลังช่วยเหลือกระทำเรื่องที่มีอันตรายให้แก่อเมริกา โอบามาช่างไม่เอาไหนเสียจริงๆ ! เมื่อถึงช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไปสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โลกจะกลายเป็นสถานที่ซึ่งผิดแผกแตกต่างออกไปอย่างมโหฬาร ถึงตอนนั้น ยังมีใครสนใจถามถึงปัญหายูเครนอีกไหม? หากมีคนถาม คำตอบก็คงออกมาว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องอะไรอย่างนี้มาก่อน และไม่เห็นน่าสนใจเลย

โอบามานั้นต้องการเป็นเพียงผู้ตาม ไม่ใช่เป็นผู้นำ (ดูรายละเอียดทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ http://www.americanthinker.com/articles/2015/11/obama_not_interested_in_winning.html#ixzz3rrJeZE4Q) ดังที่เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าวระหว่างอยู่ที่เมืองอันตัลยา ดังนี้: “สิ่งที่ผมไม่มีความสนใจที่จะกระทำเลย ก็คือการแสดงทีท่า หรือการเที่ยวไล่ตามแนวความคิด (จำพวกเชิดชูคุยโต) เกี่ยวกับความเป็นผู้นำของอเมริกัน หรือ การเป็นผู้ชนะของอเมริกัน หรือคำขวัญคำปลุกใจอย่างอื่นๆ ที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างพร้อมกันไปกับแนวความคิดจำพวกนี้ ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้นกับสิ่งที่กำลังจะต้องกระทำกันจริงๆ เพื่อพิทักษ์ปกป้องประชาชนชาวอเมริกัน เพื่อพิทักษ์ปกป้องประชาชนในภูมิภาคนี้ผู้ซึ่งกำลังถูกเข่นฆ่า ตลอดจนเพื่อพิทักษ์ปกป้องบรรดาพันธมิตรของเราและประชาชนอย่างเช่นฝรั่งเศส ... ผมมีอะไรมากมายนักที่จะต้องทำ จนไม่มีเวลาให้แก่สิ่งเหล่านี้ได้” ไม่เป็นไร รัสเซียมีความยินดีนักหนาที่จะให้โอกาสแก่เขาในการเดินตามหลัง! การที่โอบามาลังเลใจไม่นำกองกำลังภาคพื้นดินของอเมริกันเข้าไป ส่งผลทำให้อเมริกาต้องหลุดออกจากการแข่งขัน เช่นเดียวกับการตั้งกฎเกณฑ์การสู้รบทางอากาศซึ่งมุ่งเน้นที่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวง จนทำให้เที่ยวบินของอเมริกันซึ่งมุ่งเข้าถล่มโจมตีไอซิสนั้น มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้มีการหย่อนระเบิดลงไปจริงๆ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.washingtontimes.com/news/2015/may/31/us-bombers-hold-fire-on-islamic-state-targets-amid/?page=all) ฝ่ายรัสเซียไม่ได้ใจเสาะเกี่ยวกับความเสียหายข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นถึงขนาดนี้ และจึงน่าที่จะออกปฏิบัติการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าฝ่ายอเมริกันมาก

ในอีกด้านหนึ่ง ปูตินยังบอกกับพวกผู้บังคับบัญชาทหารของเขา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ft.com/intl/cms/s/fb9f90ea-8d4c-11e5-a549-b89a1dfede9b,Authorised=false.html?siteedition=intl&_i_location=http%3A%2F%2Fwww.ft.com%2Fcms%2Fs%2F0%2Ffb9f90ea-8d4c-11e5-a549-b89a1dfede9b.html%3Fsiteedition%3Dintl&_i_referer=&classification=conditional_standard&iab=barrier-app) ว่า “หมู่เรือรบของฝรั่งเศสหมู่หนึ่งที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน กำลังจะเดินทางมาถึงยุทธภูมิแห่งการปฏิบัติการของพวกท่านในเร็วๆ นี้ พวกท่านต้องดำเนินการติดต่อโดยตรงกับฝ่ายฝรั่งเศส และทำงานกับพวกเขาแบบเดียวกับการทำงานกับพันธมิตร” การเป็นพันธมิตรดังกล่าวนี้จะออกมาในลักษณะเช่นใด? เพียงแค่ดูตัวเลขข้อมูลดิบๆ ก็สามารถให้ภาพอันกระจ่างชัดเจนได้ กองทัพอากาศรัสเซียนั้นมีฝูงบินที่ใช้เครื่องบินขับไล่อันทันสมัยเป็นจำนวน 67 ฝูง (เปรียบเทียบกับฝรั่งเศสที่มี 11 ฝูง) แล้วยังมีฝูงบินเครื่องบินทิ้งระเบิด 15 ฝูง (ฝรั่งเศสได้ปลดประจำการเครื่องบินทิ้งระเบิด มิราจ 6 Mirage VI ของตนไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 1996) , และฝูงบินโจมตี 14 ฝูง ทั้งนี้มีอยู่ถึง 25 ฝูงทีเดียวที่ใช้เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินซึ่งน้ำหนักเบากว่า เอ-10 “วอร์ตฮ็อก” (A-10 “Warthog”) ของอเมริกาเล็กน้อย ได้แก่ ซู-24 (SU-24) และ ซู-25 (SU-25) แม้กระทั่งเมื่อนำเอาปัจจัยเรื่องการซ่อมบำรุงที่ย่ำแย่ของรัสเซีย ซึ่งทำให้เครื่องบินอยู่ในภาวะบินไม่ได้เป็นจำนวนมาก เข้ามาคำนวณด้วยแล้ว รัสเซียก็ยังคงมีแสนยานุภาพทางอากาศอันใหญ่โตมหึมากว่าพันธมิตรชาวฝรั่งเศสของตนเป็นอย่างมากอยู่นั่นเอง

หากฝรั่งเศสต้องการเข้ามีส่วนร่วมในการรณรงค์ทำสงครามที่ซีเรีย ให้มากกว่าเพียงแค่พอเป็นสัญลักษณ์เท่านั้นแล้ว ปารีสก็จะต้องโยกย้ายเครื่องบินขับไล่ซึ่งเวลานี้กำลังให้การสนับสนุนบุคลากรทางทหารมากกว่า 5,000 คนในแอฟริกาออกมา มีคนเล่าให้ผมฟังว่าทางกองทัพอากาศของเยอรมนีจะช่วยเหลือเรื่องนี้ ด้วยการเพิ่มความขยันและขจัดความเกียจคร้านในแอฟริกาลงไป เพื่อให้เครื่องบินฝรั่งเศสสามารถถอนตัวออกมาประจำการทางแถบเลแวนต์ได้ ถึงแม้เยอรมนีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สู้รบที่ซีเรียอย่างเป็นทางการ แต่เบอร์ลินก็ดูเหมือนกำลังร่วมมือประสานงานกับรัสเซียและฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด แม้ว่ากองบินทหารของเยอรมันเองมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ว่าอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.rt.com/news/183120-germany-air-force-military/)

การที่รัสเซียมีทั้งความเต็มอกเต็มใจและทั้งความสามารถที่จะใช้กำลังในซีเรีย ทำให้ปูตินมีช่องทางเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สำหรับการเดินหมากทางการทูตได้อย่างยืดหยุ่น นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ของออสเตรเลีย เพิ่งแถลงในวันพุธ (18 พ.ย.) ว่า รัสเซียอาจยินยอมโยนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียทิ้งไป และเห็นชอบกับการทำข้อตกลงแบ่งปันอำนาจในซีเรียที่อิงอยู่กับชาติพันธุ์ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา ในทำนองเดียวกับโมเดลซึ่งใช้อยู่ในเลบานอน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.afr.com/news/politics/game-plan-to-destroy-islamic-state-20151118-gl1tbb) ในฐานะผู้นำของแนวร่วมทางการทหารซึ่งมุ่งหมายที่จะปราบปรามไอซิส ปูตินย่อมสามารถที่จะยินยอมปล่อยอัสซาดให้ตกเวทีไป โดยมีข้อแม้ว่าฝ่ายตะวันตกต้องเห็นชอบที่จะให้รักษาสถานีทหารเรือของรัสเซียที่เมืองตาร์ตุส (Tartus) เอาไว้ต่อไป นอกจากนั้น เมื่อมองกันในบริบทของภาพทางการทูตที่กว้างขวางขึ้นไปอีก ปูตินยังน่าจะคาดหมายเอาไว้ด้วยว่า ในการเจรจาต่อรองกันโดยองค์รวม ส่วนหนึ่งที่ฝ่ายตะวันตกจะต้องอ่อนข้อให้ ได้แก่ประดามาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ใช้เล่นงานรัสเซียเมื่อตอนที่แดนหมีขาวเข้ายึดแหลมไครเมียนั้น จะมีการยกเลิกกันไปอย่างเงียบๆ ด้วย

ตะวันออกกลางที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมมาก กำลังจะปรากฏโฉมขึ้นมา รัสเซียกับจีนในอดีตนั้นมุ่งผูกพันธมิตรกับอิหร่านเพื่อคัดค้านพวกสุหนี่ เหตุผลสำคัญทีเดียวอยู่ตรงที่ว่า เพราะประชากรชาวมุสลิมในประเทศของพวกเขาเอง ซึ่งเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ นั้น ต่างเป็นชาวสุหนี่ทั้งสิ้น ถ้าแนวร่วมที่นำโดยรัสเซียประสบความสำเร็จในการสร้างความอัปยศให้แก่ไอซิส รัสเซียกับจีนย่อมสามารถลดการใช้สอยพวกพันธมิตรชาวชีอะห์ที่ช่างเอะอะโวยวายและควบคุมยากของพวกเขา ทั้งนี้ถึงแม้รัสเซียกับอิหร่านจับมือเป็นพันธมิตรกันในการต่อต้านไอซิส แต่พวกเขาก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามที่ ซาเฮบ ซาเดกี (Saheb Sadeghi) บรรณาธิการของ “ดีโปแมต” (Diplomat) วารสารว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของอิหร่าน ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ใน “อัล-มอนิเตอร์” (Al-Monitor) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/11/iran-russia-syria.html?utm_source=Al-Monitor+Newsletter+%5BEnglish%5D&utm_campaign=f5671bb2d3-November_11_2015&utm_medium=email&utm_term=0_28264b27a0-f5671bb2d3-93069625) ดังนี้:

ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงกำลังพยายามหาทางชุบชีวิตกองทัพซีเรียขึ้นมาใหม่ ในขณะเดียวกับที่ตนเองเพิ่มความเกี่ยวข้องพัวพันในประเทศนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มอสโกมีความเชื่อว่าหนทางเดียวเท่านั้นที่จะส่งอิทธิพลต่ออนาคตของซีเรียได้ ก็คือต้องฟื้นฟูกองทัพซีเรียให้กลับคืนสู่สภาพก่อนที่จะย่ำแย่เสื่อมทรุดเนื่องจากสงครามกลางเมืองในปี 2011 --พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นกองทัพซีเรียที่ปราศจากอิทธิพลทางศาสนา ซึ่งรัสเซียสามารถที่จะเข้าควบคุมได้โดยง่าย

ในอีกด้านหนึ่ง อิหร่านกลับเลือกใช้เส้นทางที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ตอนที่อิหร่านมองเห็นกองทัพซีเรียใกล้ที่จะพังครืนนั้น สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ได้ทุ่มความสนใจไปที่การทำให้กองกำลังอาวุธทั้งหลายที่อยู่นอกกองทัพ ซึ่งสมาชิกเป็นพวกอาสาสมัคร บังเกิดความเข้มแข็งขึ้นมา ดังนั้น อิหร่านจึงได้จัดตั้งกองกำลังอาวุธขนาดมหึมาที่สมาชิกเป็นพวกอาลาวีย์ (Alawites)[6] กองกำลังเหล่านี้เองที่เวลานี้กลายเป็นกองกำลังอาวุธหลักในการสู้รบทำศึกกับกลุ่มฝ่ายค้านติดอาวุธกลุ่มต่างๆ และมีประสิทธิภาพมากกว่ากองทัพซีเรียด้วยซ้ำเมื่ออยู่ในสนามรบ กองกำลังอาสาสมัครเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนราว 200,000 คน รับคำสั่งจากอิหร่านแทนที่จะเป็นรัฐบาลซีเรีย ตามรายงานบางกระแสระบุว่า ยังมีชาวชีอะห์ทั้งจากอิรัก, เลบานอน, และอัฟกานิสถาน จำนวนราว 20,000 คนเข้าร่วมกับกองกำลังพวกนี้ด้วย กองกำลังอาสาสมัครเหล่านี้อาจจะแสดงบทบาทที่สำคัญในการตัดสินอนาคตข้างหน้าของซีเรีย ยิ่งกว่านั้น สาธารณรัฐอิสลามยังหวังที่จะอาศัยพวกเขาเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากรัฐบาลอัสซาด


อย่างไรก็ตาม เพียงแค่กองกำลังอาวุธนอกกองทัพที่อิหร่านหนุนหลังเหล่านี้โดยลำพัง ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วงชิงดินแดนคืนมาจากไอซิสได้ ดังมีตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นจากกองกำลังอาวุธชาวเคิร์ด ซึ่งเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นกองกำลังสู้รบภาคพื้นดินที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดแล้วในซีเรีย ด้วยเหตุนี้ บางทีรัสเซียและเหล่าพันธมิตรอาจจะต้องแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดส่งกองทหารภาคพื้นดินเข้าไป ไอซิสนั้นไม่น่าจะสามารถเผชิญหน้ากับกองทัพภาคพื้นดินสมัยใหม่ที่สู้รบประสานไปกับการสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด แต่ในสภาพการสู้รบเช่นนี้ คุณค่าของการที่อิหร่านมีส่วนร่วมในความพยายามทางทหารย่อมจะหดหายลงไป ตลอดจนความสามารถของอิหร่านที่จะส่งอิทธิพลต่อผลลัพธ์ทางการเมืองซึ่งจะปรากฏต่อไปในอนาคตก็ย่อมจะลดน้อยลงเช่นกัน รัสเซียนั้นต้องการชนะสงครามภาคพื้นดินและควบคุมเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับภาวะสันติภาพที่จะติดตามมา โดยไม่ต้องการถูกแทรกแซงจากพวกนักเผชิญโชคผู้เที่ยวเทศนาเรื่องวันสิ้นโลกอย่างอิหร่าน

สมควรตั้งข้อสังเกตในที่นี้ด้วยว่า ทั้งพวกเจ้าหน้าที่รัสเซียและสื่อมวลชนแดนหมีขาวต่างปิดปากเงียบ เกี่ยวกับรายงานข่าวที่ว่าอิสราเอลได้เปิดการโจมตีทางอากาศใส่คลังแสงอาวุธของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ที่สนามบินกรุงดามัสกัสในสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงกลาโหมของอิสราเอลนั้น ใช้ท่าทีเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติเป็นปกติ โดยทั้งไม่ยอมรับและไม่ปฏิเสธรายงานข่าวที่ปรากฏขึ้นในสื่อซีเรียเช่นนี้ ทว่ารายงานข่าวของสื่อมวลชนอิสราเอลซึ่งพยายามสืบสาวเรื่องนี้ ดูจะได้รับการยืนยันโดยที่แหล่งข่าวขอร้องไม่ให้ระบุชื่อ มีแหล่งข่าวชาวอิสราเอลหลายรายเหมือนกัน ที่บอกกับผมว่า การโจมตีคลังแสงดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาจริงๆ และเกิดขึ้นใต้จมูกของกองทัพอากาศรัสเซียด้วย วิทยุบีบีซีภาคภาษารัสเซียชี้ว่า การโจมตีของอิสราเอลเช่นนี้ในอดีตที่ผ่านมาต้องถูกประณามอย่างเป็นทางการจากมอสโก (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.bbc.com/russian/international/2015/11/151103_russia_israel_syria_coordination) การที่ในคราวนี้รัสเซียนิ่งเงียบ บ่งชี้ให้เห็นว่ามอสโกอาจมีการเปิดไฟเขียวยินยอมให้ทำการโจมตี ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ มอสโกก็ดูจะกำลังส่งข้อความไปถึงพวกเฮซบอลเลาะห์ว่า พวกเขาควรต้องหลีกเลี่ยงการสู้รบปรบมือกับอิสราเอล และหันมายึดมั่นอยู่เฉพาะกับการไล่ล่าสังหารชาวสุหนี่ในซีเรีย

มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนชายขอบซึ่งระบุว่า จีนได้เข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับการสู้รบขัดแย้งในซีเรียแล้ว และเรื่องนี้ได้ถูกนำมากล่าวซ้ำโดย เบน คาร์สัน (Ben Carson) ผู้ลงแข่งขันเป็นตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่แสนจะอาภัพอับโชค รายงานข่าวเช่นนี้ผิดพลาดไม่มีมูลความจริงอย่างแน่นอน ไม่เพียงเนื่องจากจีนขาดไร้ทั้งทรัพยากรด้านข่าวกรองและทรัพยากรทางการทูตที่จะนำตนเองไปพัวพันกับการทะเลาะเบาะแว้งอันยุ่งเหยิงในซีเรียเท่านั้น แต่กองทัพอากาศของแดนมังกรในปัจจุบันยังไม่ได้มีเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน แบบเดียวกับ เอ-10 ของอเมริกัน หรือ ซู-24 ของรัสเซีย แม้แต่ลำเดียว กองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังไม่ได้รับการติดอาวุธพรักพร้อมสำหรับการเข้าไปแทรกแซงต่างประเทศ และจีนไม่มีทั้งความตั้งใจตลอดจนความสามารถที่จะทำการแทรกแซงเช่นนั้นได้ ปักกิ่งดูมีความสุขแล้วที่จะยืนอยู่แถวๆ ฉากภูมิหลัง และให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ ต่อบทบาทของรัสเซียในภูมิภาคแถบนี้

กระนั้น ในอีกแง่มุมหนึ่ง ปักกิ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเหนืออิหร่าน และอาจมีช่องทางใช้เรื่องนี้เพื่อหยุดยั้งเตหะรานจากการเข้าไปก่อกวนสร้างความยุ่งยากวุ่นวายในภูมิภาค เมื่อ 2 ปีก่อนผมเคยคาดเดาว่าจีนอาจจะกลายเป็นผู้นำของระบอบ “Pax Sinica”[7] ในตะวันออกกลาง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.atimes.com/atimes/Middle_East/MID-02-281013.html) บัด แมคฟาร์เลน (Bud McFarlane) กับ อิลัน เบอร์แมน (Ilan Berman) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เขียนเสนอเอาไว้ใน วอลล์สตรีทเจอร์นัล วันที่ 18 พฤศจิกายน ว่า “การกดดันปักกิ่งให้ต้องใช้อิทธิพลที่ตนมีอยู่อย่างกว้างขวางเหนือเตหะราน มาบังคับให้เตหะรานต้องเดินไปในเส้นทางที่บันยะบันยังมากยิ่งขึ้นนั้น ทั้งสามารถและทั้งควรที่จะถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ เรื่องหนึ่งของอเมริกา" (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.wsj.com/articles/a-role-for-china-to-rein-in-iran-1447781709)

จีนนั้นมีอะไรใหญ่โตทีเดียวที่จะต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับประชากรชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอุยกูร์ 15 ล้านคนในมณฑลซินเจียง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกสุดของประเทศ เวลานี้มีพวกแบ่งแยกดินแดนชาวอุยกูร์หลายร้อยคนกำลังสู้รบให้แก่ไอซิสในซีเรีย และฝ่ายจีนกล่าวหาตุรกีว่าจัดหาพาสปอร์ตตลอดจนตระเตรียมเส้นทางผ่านอันปลอดภัยให้แก่พวกผู้แบ่งแยกดินแดนซึ่งออกจากจีนไปสู่ตุรกีโดยผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งบอกกับผมว่าพวกสถานเอกอัครราชทูตตุรกีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโกดังเก็บพาสปอร์ตเปล่าๆ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับให้ชาวอุยกูร์ได้ใช้ เป็นจำนวนถึง 100,000 เล่ม ไม่เพียงเท่านั้น มีรายงานว่าพวกชาวซาอุดีอาระเบียผู้มั่งคั่งร่ำรวยก็กำลังให้ทุนหนุนหลังสถานศึกษาศาสนาอิสลามแบบลัทธิวาห์ฮิบี (Wahhabi) ในประเทศจีน และประชากรมุสลิมของจีนจำนวนไม่น้อยทีเดียวได้ถูกกล่อมเกลากลายเป็นพวกที่มีแนวความคิดรุนแรง

จากเหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ จีนจึงมีความสนใจอย่างล้ำลึกที่จะทำให้ไอซิสพ่ายแพ้ ปักกิ่งมีเหตุผลมากพอๆ กับมอสโกที่จะหวาดวิตกต่อการแพร่กระจายเชื้อร้ายของนักรบญิฮัดชาวสุหนี่ ตลอดจนการที่อิสตันบูลและบางส่วนบางกลุ่มในซาอุดีอาระเบียกำลังให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ แก่พวกนักรบญิฮัด ถ้าหากรัฐกาหลิบในซีเรีย-อิรักที่พวกอิสลามิสต์ประกาศอวดอ้างตั้งขึ้นมาเอง มีอันพังครืนลงมาอย่างน่าอัปยศอดสู มันย่อมบดขยี้ขวัญกำลังใจของพวกที่ต้องการเลียนแบบทั้งในจีนและทั้งในรัสเซีย ดังนั้น ปักกิ่งจะต้องหาหนทางต่างๆ เพื่อสนับสนุนความพยายามของปูติน แต่ไม่มีการจัดส่งจัดหาทรัพยากรทางทหารเข้าร่วมสมทบอย่างตรงไปตรงมาหรืออย่างเห็นได้ชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับฝรั่งเศสนั้น เมื่อหลายวันก่อนผมเขียนเอาไว้ว่า ฝรั่งเศสจะไม่ทำอะไรเลยเพื่อตอบโต้เหตุสังหารหมู่ในกรุงปารีส (ดูรายละเอียดได้ที่ http://atimes.com/2015/11/why-france-will-do-nothing-about-the-paris-massacre/) ผมคงจะคาดหมายผิดเสียแล้ว เนื่องจากรัสเซียจะทำอะไรเยอะแยะอย่างแน่นอน และผลพวงต่อเนื่องที่ติดตามมาก็คือ ฝรั่งเศสก็จะต้องทำอะไรมากขึ้นกว่าเพียงแค่การกวาดจับพวกผู้ต้องสงสัยหน้าเดิมๆ เท่านั้น

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

เดวิด พี. โกลด์แมน เขียนเรื่องให้เอเชียไทมส์โดยใช้นามปากกาว่า “สเปงเกลอร์” (Spengler) มาตั้งแต่ปี 2000 เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ London Center for Policy Research และเป็น Wax Family Fellow อยู่ที่ Middle East Forum หนังสือเรื่อง How Civilizations Die (and why Islam is Dying, Too) ของเขา ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Regnery Press ในเดือนกันยายน 2011 หนังสือรวมข้อเขียนทางด้านวัฒนธรรม, ศาสนา, และเศรษฐศาสตร์ของเขา ที่ใช้ชื่อว่า It’s Not the End of the World – It’s Just the End of You ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Van Praag Press ในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน เขายังเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ทั่วโลก ให้กับ Bank of America และเคยดำรงตำแหน่งอาวุโสในบริษัทการเงินอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งที่ Reorient Group (Hong Kong) ซึ่งเขาเป็นกรรมการจัดการผู้หนึ่งอยู่ในปัจจุบัน

หมายเหตุผู้แปล

[1]มิคาอิล บุลกาคอฟ (Mikhail Bulgakov) นักเขียนนวนิยายและบทละครชาวรัสเซียชื่อดัง มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1891 ถึง 1940

[2]ดินแดนเลแวนต์ (Levant) ดินแดนชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในช่วงที่อยู่ระหว่างตอนเหนือของคาบสมุทรอาราเบีย กับตอนใต้ของตุรกี ปกติมักหมายครอบคลุมดินแดนของอิสราเอล, จอร์แดน, เลบานอน, ปาเลสไตน์, และซีเรีย ในปัจจุบัน

[3]นวนิยายเรื่อง “The Master and Margarita” นวนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของ มิคาอิล บุลกาคอฟ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20

[4]กลุ่มไอซิส (ISIS) ผู้เขียน เดวิด โกลด์แมน ใช้คำย่อนี้ โดยที่กลุ่มนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม “รัฐอิสลาม” Islamic State ใช้ตัวย่อว่าไอเอส IS ตลอดจนใช้ตัวย่อว่า “ไอซิล” ISIL และ “ดาเอช” Daesh อีกด้วย

[5]มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งปี 2012 เขาพ่ายแพ้ให้แก่ บารัค โอบามา

[6]พวกอาลาวีย์ (Alawites) ถือว่าเป็นนิกายย่อยนิกายหนึ่งของชีอะห์ ชาวอาลาวีย์เป็นชนกลุ่มน้อยในซีเรียแต่มีอิทธิพลสูง ตระกูลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ก็เป็นชาวอาลาวีย์

[7]“Pax Sinica” คำภาษาละติน แปลว่าสันติภาพภายใต้จีน คำๆ นี้ลอกเลียนจาก Pax Romana หรือ สันติภาพภายใต้โรมัน ซึ่งหมายถึงสมัยของความสันติสุขอันยืนยาวของจักรวรรดิโรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 และที่ 2


กำลังโหลดความคิดเห็น