xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญจีนระบุ ‘นโยบายลูก 2 คน’ ไม่ทำให้ ‘อัตราเกิด’ พุ่งสูงตามที่ต้องการ

เผยแพร่:   โดย: ไฉซินออนไลน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Two-child policy won’t bring desired baby boom, Chinese experts say
From Caixin.com
13/11/2015

เนื่องจากผู้หญิงในวัยที่เหมาะสมแก่การมีบุตร กำลังมีจำนวนลดน้อยลง อีกทั้งจำนวนผู้ที่ปรารถนาจะเป็นคุณแม่ ก็หดหายไปเรื่อยๆ พวกผู้เชี่ยวชาญจึงมีความเห็นกันว่า รัฐบาลแดนมังกรอาจจะต้องผิดหวังกับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนโยบายวางแผนครอบครัวครั้งล่าสุดของตน

ทางการจีนตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้ที่จะยกเลิกนโยบายให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น ทว่าพวกผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าการเปลี่ยนแปลงคราวนี้จะไม่ได้ผล หากไม่ประกาศใช้นโยบายให้ความสนับสนุนประการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย

หวัง เพ่ยอัน (Wang Peian) รองรัฐมนตรีของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและการวางแผนครอบครัว (National Health and Family Planning Commission) แสดงความสนับสนุนนโยบายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ซึ่งจะให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้ 2 คน โดยบอกว่า “จะเพิ่มผู้คนจำนวนมากกว่า 30 ล้านคนเข้าอยู่ในกำลังแรงงานของประเทศภายในปี 2050 ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพทางด้านประชากรที่จำเป็นสำหรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ ไฉซิน ไปสัมภาษณ์ขอความคิดเห็น ต่างบอกว่ารัฐบาลจีนน่าจะต้องผิดหวัง เนื่องจากผู้หญิงในวัยที่เหมาะสมแก่การมีบุตร กำลังมีจำนวนลดน้อยลง และจำนวนผู้ที่ปรารถนาจะเป็นคุณแม่ก็หดหายไปเรื่อยๆ

การทำสำมะโนประชากรทั่วประเทศเมื่อปี 2010 บ่งชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังมุ่งหน้าเดินไปสู่ปัญหาร้ายแรงในทางประชากร เนื่องจากจำนวนผู้หญิงที่อยู่ในวัยเหมาะสมแก่การมีบุตร นั่นคือผู้ที่มีอายุระหว่าง 22 จนถึง 30 ปีนั้น จะลดลงถึง 40% ทีเดียวภายในปี 2025

ด้วยเหตุผลข้อนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงโต้แย้งว่า รัฐบาลจำเป็นถึงขั้นต้องยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดในเรื่องขนาดครอบครัวไปเลย ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ด้านประชากร

“ประเทศจีนจำเป็นต้องนำเอานโยบายทั้งหลายที่ส่งเสริมสนับสนุนการกำเนิดทารก ออกมาใช้ให้ได้ภายในปี 2018 จึงจะมีเวลาประมาณ 6 ถึง 7 ปีในการผลักดันอัตราเกิดให้เพิ่มสูง และจึงจะสามารถทำให้จำนวนประชากรเข้าสู่ระดับที่มีเสถียรภาพ” เหลียง เจี้ยนซาง (Liang Jianzhang) อาจารย์ของวิทยาลัยการบริหารกวงหวา (Guanghua School of Management) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และ หวง เหวินเซิง (Huang Wenzheng) นักประชากรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) เมืองบัลติมอร์, สหรัฐอเมริกา เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่ภายหลังจีนประกาศข่าวเรื่องนโยบายลูก 2 คนนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นักวิชาการ 2 รายนี้ระบุว่า ช่วงเวลาระหว่างปี 2018 ถึง 2024 จะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับจีนที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีทารกเกิดใหม่เพิ่มขึ้น และจึงจะสามารถหลีกหนีปัญหาขนาดประชากรของประเทศลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบได้

ทางด้าน เฉิน หยูหวา (Chen Youhua) อาจารย์ทางสังคมวิทยา ณ มหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายล่าสุดนี้ทั้งน้อยเกินไปทั้งช้าเกินไป เขาบอกว่า รัฐบาลควรต้องผ่อนคลายนโยบายคุมกำเนิดของตนตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 แล้ว เมื่อตอนที่อัตราเจริญพันธุ์ (fertility rate) ลดต่ำลงกว่าระดับที่จำเป็นสำหรับการรักษาขนาดประชากรของประเทศให้มีเสถียรภาพ

ทว่าเสียงเรียกร้องที่ให้ผ่อนคลายนโยบายก่อนหน้านี้ ได้ถูกกลบมิดด้วยงานวิจัยซึ่งรัฐบาลหนุนหลังที่ทำนายว่าประชากรจะเพิ่มจำนวนในอัตราน่าพอใจภายในปี 2020 “การศึกษาวิจัยเหล่านี้ประเมินอัตราเกิดที่เป็นไปได้เอาไว้สูงเกินจริง และคำทำนายก็ห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันเป็นอย่างมาก” เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวยอมรับ โดยขอไม่ให้เอ่ยนามของตน

ความลังเลยังมีอยู่

อันที่จริง การถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรการควบคุมจำนวนประชากรได้ดำเนินไปอย่างดุเดือดมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว “เมื่อมองย้อนหลังกลับไป มันน่าจะดีกว่าถ้าหากทิ้งนโยบายมีลูกคนเดียวกันตั้งแต่ตอนนั้น” เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติผู้นี้บอก

กระนั้น ดูเหมือนว่าการผ่อนคลายรอบล่าสุดนี้ยังไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลมีความโน้มเอียงที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่านี้แล้ว ดังที่เจ้าหน้าที่ผู้นี้ชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีความลังเลใจที่จะยกเลิกข้อห้ามข้อจำกัดเกี่ยวกับขนาดของครอบครัวไปทั้งหมด “มันจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ถึง 8 ปี” สำหรับให้พวกเจ้าหน้าที่ประเมินผลที่เกิดจากนโยบายในปัจจุบัน แล้วจึงจะมีการผ่อนปรนลดหย่อนการควบคุมกันมากกว่านี้ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุ

ปัญหาอยู่ที่ว่าคู่สมรสทั้งหลายดูไม่ตื่นเต้นกระตือรือร้นอะไรที่จะมีบุตรเพิ่ม นี่เป็นความลังเลใจที่พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาทางด้านประชากร

การสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยเว็บพอร์ทัลด้านข่าวชื่อดัง Sina.com หลังจากที่มีการยกเลิกกฎระเบียบให้มีลูกได้เพียงคนเดียว พบว่ามีผู้ตอบคำถามเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาต้องการมีลูกคนที่สอง ความรู้สึกเช่นนี้ก็ปรากฏให้เห็นเช่นกันในการศึกษาวิจัยที่จัดทำโดยคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยส่วนกลางด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ (Central University of Finance and Economics) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งพบว่าจากปี 1980 ถึงปี 2011 จำนวนคู่สมรสที่ปรารถนาจะมีบุตรคนที่สอง ได้ลดฮวบลงจาก 59% เหลือแค่ 15%

หากรัฐบาลยังไม่ได้ตระหนักรับรู้ถึงแนวโน้มเช่นนี้มาก่อน ก็คงจะได้เรียนรู้แล้วหลังจากการประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการวางแผนครอบครัวบางส่วนบางประการเมื่อปี 2013 โดยในการเปลี่ยนแปลงคราวนั้นมีการอนุญาตให้คู่สมรสซึ่งพ่อหรือแม่ของพวกเขาแต่ละคนเป็นบุตรเพียงคนเดียวของครอบครัว สามารถที่จะมีลูกคนที่สองได้ ทว่าการผ่อนคลายเช่นนั้นกลับทำให้มีทารกเกิดใหม่เพิ่มพิเศษขึ้นมาเพียงแค่ 470,000 รายในปี 2014 ห่างไกลมากจากตัวเลข 2 ล้านคนที่รัฐบาลทำนายเอาไว้

พวกผู้เชี่ยวชาญกลัวว่า คู่สมรสทั้งหลายอาจจะตอบสนองอย่างไม่น่าพอใจทำนองเดียวกันต่อการเปลี่ยนแปลงล่าสุดคราวนี้ “ปี 2017 จะเป็นผู้ที่มีทารกเกิดใหม่มากที่สุดนับจากปี 1991 เป็นต้นมา แต่ตัวเลขก็จะยังคงห่างไกลจากระดับเฉลี่ยในทศวรรษก่อนๆ “ หวง กล่าวกับ ไฉซิน

กระทั่งสมมุติว่าอัตราเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นไปอีกเกือบ 1 ใน 3 หลังจากยกเลิกนโยบายทั้งหลายในการควบคุมประชากรไปทั้งหมด ภายในปี 2050 จำนวนของทารกเกิดใหม่ก็จะยังคงตกลงไป 42% จากระดับปัจจุบัน โดยจะมีจำนวนเพียงแค่ราว 8 ล้านคน บทความของหวงและเหลียงระบุ พร้อมกับชี้ด้วยว่า อัตราตายของแต่ละปีในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้จะอยู่ที่ 23 ล้านคน ดังนั้นประชากรจึงยังคงมีจำนวนหดหายลงเรื่อยๆ

เหลียงบอกว่า เขาคิดว่าการลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ของจำนวนประชากรนี้ จะเริ่มต้นเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ด้วยซ้ำ นั่นคือจะเริ่มเห็นในปี 2025 “อัตราเกิดนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับทดแทน (เด็กที่เกิดใหม่มีจำนวนน้อยกว่าคนที่ตาย) มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้นการลดต่ำลงของประชากรในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น” เขาบอกกับ ไฉซิน


กำลังโหลดความคิดเห็น