เอเอฟพี - มูดี้ส์ เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ย.) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของโตชิบา ไม่กี่วันหลังจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ทางอิเล็กทรอนิกส์แถลงผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างหนักช่วงครึ่งปีแรก
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้ปรับลดความน่าเชื่อถือของบริษัทญี่ปุ่นลงจาก Baa2 สู่ Baa3 และยังปรับเปลี่ยนแนวโน้มของโตชิบาจาก “เสถียร” เป็น “ลบ” ด้วย
“ความเคลื่อนไหวของอันดับความน่าเชื่อถือมีต้นตอจากถ้อยแถลงของโตชิบาแถลงผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งบ่งชี้ว่าความสามารถในการกำไรและสร้างกระแสเงินสดลดลงอย่างมาก” มาซาโกะ คูวาฮารา นักวิเคาะห์ระดับอาวุโสของมูดี้ส์กล่าวในถ้อยแถลง
“แนวโน้มในทางลบสะท้อนถึงความกังวลของเราต่อปฏิบัติการต่างๆ ของบริษัทและความสามารถในการลดความเสี่ยงที่เกิดจากค่าใช้จ่ายประจำที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงในระยะยาว เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างการดำเนินงานต่างๆ ด้วยวิธีการที่ได้ผลและยั่งยืน”
การปรับลดคราวนี้มีขึ้นหลังจาก โตชิบาเมื่อวันเสาร์ (7 พ.ย.) แถลงผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 90,000 ล้านเยน (737 ล้านดอลลาร์ หรือ 26,000 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ จนถึงเดือนกันยายน
บริษัทแห่งนี้อ้างถึงความตกต่ำของธุรกิจพีซีและเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ธุรกิจโมโครชิปซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของพวกเขาต้องเผชิญกับภาวะราคาดำดิ่งที่ก่อแรงกดดันแก่ผลประกอบการของบริษัท
ตัวเลขผลประกอบการดังกล่าวถือเป็นการขาดทุนช่วงครึ่งแรกปีเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีของโตชิบา ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พวกเขามีกำไร 137,800 ล้านเยน
ก่อนหน้านี้ โตชิบาต้องพัวพันกับข่าวครึกโครมที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องอื้อฉาวทางบัญชีที่ก่อความเสียหายมากที่สุดของญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ (7 พ.ย.) ทางบริษัทดำเนินการฟ้องร้องอดีตผู้บริหารหลายคนจากบทบทของพวกเขาต่อเหตุตกแต่งบัญชีให้มีกำไรเกินจริงมานานหลายปี
เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ประธานและผู้บริหารระดับสูงอีก 7 คนของ “โตชิบา” ยื่นใบลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีอื้อฉาวแต่งบัญชีบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ให้มีกำไรเกินจริงมานานหลายปีรวมแล้วกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์
ฮิซาโอะ ทานากะ ประธานกรรมการบริหาร และโนริโอะ ซาซากิ รองประธานกรรมการของโตชิบา เป็น 2 ใน 8 ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท ยื่นจดหมายลาออก หลังจากผู้ตรวจสอบอิสระที่บริษัทว่าจ้างตรวจพบว่า ผู้บริหารอาวุโสเกี่ยวข้อง “อย่างเป็นระบบ” ในการแต่งบัญชีเพื่อรายงานผลกำไรสูงเกินจริงมานานหลายปีซึ่งถือเป็นหนึ่งในกรณีอื้อฉาวทางบัญชีร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบหลายปีที่ผ่านมา