นับเป็นข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่คนทั่วโลกกำลังติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด สำหรับกรณีเครื่องบินโดยสาร “เมโทรเจ็ต” ของรัสเซียตกทางภาคเหนือของอียิปต์เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ต.ค. จนทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 224 ชีวิตเสียชีวิตยกลำ ซึ่งขณะนี้ยังคงมีการตั้งข้อสันนิษฐานไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริง
เที่ยวบิน 7K-9268 ของสายการบินโคกาลีมาเวีย (Kogalymavia) หรือ เมโทรเจ็ต ซึ่งมีผู้โดยสารชาวรัสเซีย 214 คน ชาวยูเครน 3 คน และลูกเรืออีก 7 คน ได้หายไปจากจอเรดาร์หลังเทคออฟออกจากท่าอากาศยานในเมืองชาร์มเอลชัยค์ของอียิปต์ไปได้เพียง 23 นาที
บันทึกข้อมูลการบินอย่างเป็นทางการยังไม่ถูกเปิดเผย แต่มีรายงานจากสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ของรัสเซียที่อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า มีการค้นพบเสียงที่ไม่สามารถระบุต้นตอได้ภายในห้องนักบิน ก่อนที่เครื่องบินลำนี้จะหายไปจากจอเรดาร์ และข้อมูลจากล่องดำสามารถชี้ว่า “เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันและคาดไม่ถึง” แต่แหล่งข่าวผู้นี้ยืนยันว่า นักบินไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือใดๆ เลย
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ทางการรัสเซียประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศแก่เหยื่อเครื่องบินตก ซึ่งมีตั้งแต่ทารกเพศหญิงอายุเพียง 10 เดือน เรื่อยไปจนถึงหญิงชราวัย 77 ปี
ซากเครื่องบินและชิ้นส่วนร่างกายผู้โดยสารถูกพบกระจัดกระจายกินพื้นที่ราว 6-8 ตารางกิโลเมตร ห่างจากเมือง เอล-อาริช ของอียิปต์ไปทางใต้ราว 100 กิโลเมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบสวนคนหนึ่งชี้ว่า สภาพศพของผู้โดยสารบ่งชี้ว่าน่าจะเกิดการระเบิดขึ้น ก่อนที่เครื่องบินจะกระแทกพื้น
สายการบินได้มีถ้อยแถลงแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้โดยสารและลูกเรือ พร้อมยืนยันว่านักบิน วาเลอรี เนมอฟ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีประสบการณ์ขับเครื่องบินโดยสารมาแล้วกว่า 12,000 ชั่วโมง และรับหน้าที่ควบคุมเครื่องบินแอร์บัส A321 มาแล้วถึง 3,860 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่สายการบินระบุด้วยว่า เครื่องบินลำนี้น่าจะตกเพราะ “ปัจจัยภายนอก” เพราะไม่มีเหตุขัดข้องทางเทคนิคใดๆ ที่จะเป็นต้นเหตุให้เครื่องบินแตกกระจายกลางอากาศได้
“เราตัดประเด็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค หรือความผิดพลาดของตัวนักบินเองออกไปแล้ว” อเล็กซานเดอร์ สมีร์นอฟ รองผู้อำนวยการเมโทรเจ็ตบอกกับสำนักข่าวเอพี “คำอธิบายเพียงอย่างเดียวที่เป็นไปได้คือ อิทธิพลจากภายนอกที่กระทำต่อเครื่องบิน”
สมีร์นอฟ ยังเอ่ยถึงเครื่องบินแอร์บัส A321 ว่าเป็นรุ่นที่มีประวัติน่าเชื่อถือ และความผิดพลาดของนักบินไม่น่าจะก่อให้เกิดหายนะถึงขั้นนี้ได้ เพราะเครื่องบินเองก็มีระบบ fail-proof ที่จะช่วยป้องกันการกระทำผิดพลาดของมนุษย์อยู่แล้วส่วนหนึ่ง
สมมติฐานเกี่ยวกับสาเหตุการตกของเมโทรเจ็ตที่มีการพูดถึงในเวลานี้ อาจแบ่งได้เป็น 3 ข้อใหญ่ๆ
- การลอบวางระเบิด
ข้อสันนิษฐานนี้มีขึ้นหลังจาก อเล็กซานเดอร์ เนราดโก หัวหน้าสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติรัสเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ชิ้นส่วนที่พบในจุดตกบ่งชี้ว่าเครื่องบินแตกกระจายขณะอยู่เหนือพื้นดิน ส่วน วิกเตอร์ หยาง รองผู้อำนวยการอีกคนของเมโทรเจ็ต ก็ยืนยันว่า ลูกเรือไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือใดๆ ไปยังศูนย์ควบคุมการบินก่อนที่เครื่องจะตก
พอล โรเจอร์ส ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงนานาชาติและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ดในอังกฤษ บอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “เรื่องการวางระเบิดแก้แค้นอาจเป็นไปได้... เพราะรัสเซียเริ่มใช้ปฏิบัติการทางทหารแทรกแซงสงครามซีเรียเมื่อไม่นานมานี้ และหากข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้องก็จะถือว่าเป็นความสูญเสียร้ายแรงที่เกิดจากการตัดสินใจของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แต่รัฐบาลอียิปต์และรัสเซียคงไม่อยากจะยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นการก่อการร้าย”
โฆษกทำเนียบเครมลิน ยืนยันกับบีบีซีว่า มอสโกยังไม่ได้ตัดประเด็นการก่อการร้ายออกไป
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. แหล่งข่าวนิติเวชระบุว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะมีต้นตอจาก "ระเบิด" แต่ไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับน้ำมัน เครื่องยนต์ หรือวัตถุระเบิด ส่วนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารรัสเซียจะมีต้นตอจากระเบิดที่ถูกซุกไว้โดยพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส) หรือไม่ก็เครือข่ายของพวกเขา
- ความเสียหายที่ส่วนหางเครื่องบิน
จากประวัติการซ่อมบำรุงพบว่า แอร์บัสลำนี้มีอายุการใช้งานมาแล้ว 18 ปี และเคยตกกระแทกรันเวย์ขณะร่อนลงจอดที่สนามบินกรุงไคโรเมื่อปี 2001 จนทำให้ส่วนหาง “ได้รับความเสียหายอย่างหนัก”
ข้อมูลที่ว่านี้น่าสนใจ เพราะเคยมีเครื่องบินโดยสารอย่างน้อย 2 ลำที่แตกกระจายกลางอากาศจากผลของอุบัติเหตุก่อนหน้าซึ่งทำให้ชิ้นส่วนเครื่องบินอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ หนึ่งในนั้นคือ เที่ยวบิน 123 ของสายการบิน เจแปน แอร์ไลน์ส ที่ตกเมื่อปี 1985 คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวม 520 คน และมีผู้รอดชีวิตเพียง 4 คน และถือเป็นโศกนาฏกรรมการบินที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
การระเบิดที่เกิดขึ้นบริเวณส่วนท้ายของ โบอิ้ง 747 ลำนี้ ทำให้ความดันอากาศในห้องโดยสารลดลงอย่างกะทันหันหลังขึ้นบินไปได้เพียง 12 นาที และเมื่อตรวจดูประวัติการซ่อมบำรุงก็พบว่า แผงกั้นปรับความดันอากาศท้าย (aft pressure bulkhead) ซึ่งเป็นส่วนสุญญากาศที่กั้นระหว่างห้องโดยสารและส่วนหางของเครื่องบิน เคยรับความเสียหายจากอุบัติเหตุเมื่อราวๆ 7 ปีก่อนหน้านั้น
- จรวดของกลุ่มไอเอส
เครือข่ายไอเอสในอียิปต์ได้ออกมา “อ้างผลงาน” สอยเครื่องบินรัสเซียร่วงทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ทว่าทางการหมีขาวและผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าไอเอสจะมีศักยภาพ และอาวุธที่ทันสมัยพอจะโจมตีเครื่องบินโดยสารซึ่งอยู่สูงถึง 31,000 ฟุตได้
ประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แห่งอียิปต์ ระบุว่า ทฤษฎีนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุก็อาจจะยังเป็นปริศนาต่อไปอีกหลายเดือน
เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า ตนยังไม่ได้รับข้อมูลยืนยันได้ว่าเหตุเครื่องบินโดยสารของรัสเซียตกในอียิปต์เป็นฝีมือกลุ่มก่อการร้าย แม้ไอเอสจะอ้างความรับผิดชอบก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่เพนตากอนก็ไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องขีปนาวุธมากนัก เพราะจรวดที่จะยิงเครื่องบินโดยสารซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินหลายหมื่นฟุตได้มีแต่ “รัฐ” เท่านั้นที่เป็นเจ้าของ
กล่องดำบันทึกข้อมูลการบินถูกเก็บกู้ออกมาได้สำเร็จและได้ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้ว ซึ่งผลวิเคราะห์ข้อมูลเสียงภายในห้องนักบินอาจจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า เครื่องบินลำนี้พบจุดจบจากการระเบิด เหตุขัดข้องทางเทคนิค หรือว่าสาเหตุอื่นๆ
สายการบินลุฟต์ฮันซา เอมิเรตส์ และแอร์ฟรานซ์ ประกาศจะงดใช้เส้นทางผ่านคาบสมุทรไซนาย จนกว่าจะทีมสอบสวนจะค้นพบสาเหตุการตกของเมโทรเจ็ต ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) เคยประกาศเตือนไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมว่า ให้เครื่องบินพลเรือนของอเมริกาหลีกเลี่ยงการบินผ่านคาบสมุทรไซนายที่ความสูงต่ำกว่าระดับ 26,000 ฟุต