รอยเตอร์ - รัฐสภามัลดีฟส์เมื่อวันพฤหัสบดี (5 พ.ย.) ลงมติถอดถอนรองประธานาธิบดี จากคำกล่าวหาว่าเขามีบทบาทในเหตุระเบิดบนเรือเร็วของประธานาธิบดี หนึ่งวันหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เรียกเสียงประณามจากประชาคมนานาชาติ
สถานการณ์ความยุ่งเหยิงที่กำลังห้อมล้อมหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้หนักหนาสาหัสกว่าเดิม หลังจากเมื่อวันพุธ (4 พ.ย.) รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ตามหลังเหตุระเบิดบนเรือเร็วของประธานาธิบดีอับดุลลา ยามีน เมื่อวันที่ 28 กันยายน ซึ่งทางรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นความพยายามลอบสังหาร
ในวันพฤหัสบดี (5 พ.ย.) รองประธานาธิบดีอาห์เมด อาดีบ ซึ่งโดนควบคุมฐานเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดดังกล่าว ถูกสมาชิกรัฐสภาลงมติถอดถอนด้วยคะแนน 61 เสียงจากทั้งหมด 85 เสียง ขณะที่ทางอูมาร์ นาซีร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเผยว่านายอาดีบ จะถูกถอดจากตำแหน่งและประธานาธิบดียามัน จะเป็นคนแต่งตั้งผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางการยกระดับรักษาความปลอดภัยในกรุงมาเล ด้วยพบเห็นทหารลาดตระเวนไปตามท้องถนนสายต่างๆ 2 วันก่อนหน้าที่พรรคฝ่ายค้านหลักนัดชุมนุมใหญ่ เพื่อประท้วงเรียกร้องปล่อยตัวอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหมด นาซีด คู่อริของนายยามีน ซึ่งถูกพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม จำคุก 13 ปี ในฐานความผิดก่อการร้ายที่เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ
สหรัฐฯ เครือจักรภพและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ เรียกร้องมัลดีฟส์ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินและยุติปรามปราบฝ่ายต่อต้าน ในขณะที่นายยามีนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอ้างภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ หลังเจ้าหน้าที่พบระเบิดใกล้บ้านพักของเขาในเมืองหลวง เช่นเดียวกับอาวุธที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้ซึ่งเชื่อว่าถูกขโมยมาจากคลังแสงของกองทัพ
เอฟบีไอสหรัฐฯ ซึ่งได้รับคำร้องขอช่วยตรวจสอบเหตุระเบิดบนเรือเร็ว บอกว่าไม่พบหลักฐานพอที่จะสรุปได้ว่ามันเกิดจากวัตถุระเบิด เพิ่มข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นตอที่แท้จริง อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีต่างประเทศของมัลดีฟส์ อ้างว่าคณะสืบสวนจากศรีลังกาและซาอุดีอาระเบียพบร่องรอยของระเบิดแรงสูง รัฐบาลจึงเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นการลอบวางระเบิด
นายยามีนลงมืออย่างรวดเร็วเพื่อปราบปรามพวกที่ต้องสงสัยที่ไม่ภักดี ด้วยรองประธานาธิบดีอาห์เมด อาดีบ ผู้ควบคุมตัวฐานเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดและผู้ต้องสงสัยหลายคนถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากมาเลเซียและศรีลังกากลับสู่มัลดีฟส์ แต่นายอาดีบปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง