รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - กองทัพเรือสหรัฐฯ มีแผนจะส่งเรือตรวจการณ์ลาดตระเวนเข้าไปภายในรัศมี 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะเทียมของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ประมาณ 2 ครั้งทุกๆ 3 เดือน เพื่อย้ำเตือนให้จีนและชาติอื่นๆ ตระหนักถึงสิทธิของสหรัฐฯ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่เพนตากอนเปิดเผยในวันจันทร์ (2 พ.ย.) ขณะที่ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของอเมริกาก็พูดย้ำที่ปักกิ่งในวันอังคาร (3) ว่า กองทัพสหรัฐฯจะยังคงออกปฏิบัติการในน่านน้ำและน่านฟ้าทุกหนแห่งซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต อย่างไรก็ตาม ความพยายามของวอชิงตันและโตเกียวในการผลักดันประเด็นนี้เข้าไปในคำแถลงร่วมที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมเอเชีย-แปซฟิก ทำท่าจะล้มเหลว
สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้นำแผนปฏิบัติการของกองทัพเรือออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ระบุว่า เรือรบอเมริกันจะออกไปตรวจการณ์ถึงภายในเขตน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลของเกาะเทียมต่างๆ ซึ่งจีนสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้ ประมาณไตรมาสละ 2 ครั้งหรือบ่อยกว่านั้นเล็กน้อย เพราะเห็นว่าความถี่ขนาดนี้กำลังพอดี ไม่เป็นการยั่วยุจนเกินไป และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแสดงสิทธิของอเมริกาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอยู่เป็นกิจวัตร รวมทั้งเตือนจีนและชาติอื่นๆ เกี่ยวกับจุดยืนของสหรัฐฯ
ทางด้าน เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ ก็กล่าวที่กรุงวอชิงตันในวันจันทร์ (2) ว่า กองทัพสหรัฐฯ จะมีการแสดงออกเพิ่มเติม เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการปกป้องเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้
ขณะที่ พล.ร.ท.จอห์น อาควิลิโน รองผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ รับผิดชอบดูแลปฏิบัติการ แผน และยุทธศาสตร์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การลาดตระเวนใกล้เกาะเทียมของจีนจะมีขึ้นอีกเมื่อใด แต่ก็บอกว่า “เรามีการส่งเรือออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ตลอดเวลาทั่วโลก และจะยังคงดำเนินต่อไป”
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 27 ต.ค. เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี “ยูเอสเอส แลสเซน” ได้ล่องเข้าไปเฉียดเกาะเทียมที่ปักกิ่งสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้ ทำให้ผู้บัญชาการทหารเรือจีนต้องแจ้งเตือนไปยังฝ่ายสหรัฐฯ ว่า เหตุการณ์เล็กๆ เช่นนี้อาจเป็นชนวนให้เกิดสงครามทางเรือในทะเลจีนใต้ หากวอชิงตันไม่หยุดการกระทำยั่วยุในเขตน่านน้ำพิพาท
กระทรวงกลาโหมของจีนแถลงในวันอังคาร (2) ว่า ระหว่างพบปะหารือกับ พลเรือเอกแฮร์รี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางมาเยือนกรุงปักกิ่ง พลเอก ฝ่าน ฉางหลวง รองประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีน กล่าวว่า การกระทำของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้สามารถที่จะก่อให้เกิด “การคาดคำนวณผิด” ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งอาจเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อ แฮร์ริส ไปแสดงปาฐกถาที่ศูนย์สแตนฟอร์ด เซนเตอร์ ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในวันเดียวกันนั้น เขายังคงยืนยันว่า “ท้องทะเลหลวงและน่านฟ้าระหว่างประเทศเป็นของทุกๆ คน และไม่ได้อยู่ใต้การปกครองของชาติหนึ่งชาติใด” ดังนั้น “กองทัพของเราจะยังคงบิน, แล่นเรือ, และออกปฏิบัติการ ณ ที่ใดก็ตาม และเมื่อใดก็ตามซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต โดยที่ทะเลจีนใต้ก็ไม่ได้เป็น และก็จะไม่เป็น ข้อยกเว้น”
ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่าในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ร่วมทั้งประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ ดังเช่น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย, และออสเตรเลีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันพุธ (4) นี้ วอชิงตันกับโตเกียวพยายามที่จะผลักดันให้คำแถลงสุดท้ายของที่ประชุมบรรจุเรื่องทะเลจีนใต้เข้าไว้ด้วย
เจ้าหน้าที่กลาโหมอาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ เผยว่า ปักกิ่งประกาศชัดเจนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ว่า ไม่ต้องการให้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ระหว่างการประชุมคราวนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมมีความเห็นต่างออกไป
แหล่งข่าววงในยังเผยว่า ญี่ปุ่นเรียกร้องให้มาเลเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม “ปรับปรุง” ร่างคำแถลงที่จัดภาพเตรียมไว้ โดยเพิ่มเติมประเด็นทะเลจีนใต้เข้าไปด้วย
กระนั้น ร่างคำแถลงที่มาเลเซียจัดเตรียมยังไม่มีการพาดพิงถึงประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในการกล่าวเปิดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมเฉพาะ 10 ชาติอาเซียนเมื่อวันอังคาร (3) ไฮชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย ยังไม่กล่าวถึงสถานการณ์ทะเลจีนใต้แม้แต่น้อย