รอยเตอร์ - จิมมี โมราเลส อดีตนักแสดงตลกวัย 46 ปี ซึ่งไม่มีประสบการณ์เล่นการเมืองมาก่อน คว้าชัยชนะถล่มทลายในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกัวเตมาลา เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.) ซึ่งสะท้อนถึงกระแสความเบื่อหน่ายนักการเมือง หลังเกิดคดีคอร์รัปชันอื้อฉาวที่ทำให้ประธานาธิบดีคนก่อนต้องหลุดจากเก้าอี้ไปเมื่อเดือนกันยายน
โมราเลส ซึ่งลงสมัครในนามพรรค เนชันแนล คอนเวอร์เจนส์ ฟรอนต์ (เอฟซีเอ็น) ได้รับคะแนนโหวตสูงถึงร้อยละ 72.4 จากผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งที่ผ่านไปแล้วประมาณ 70%
อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ซานดรา ตอร์เรส ที่ลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ได้ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ หลังผลการนับคะแนนพบว่าเธอได้รับเสียงโหวตจากประชาชนเพียงร้อยละ 27.6
“ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ ผมได้รับอาณัติจากชาวกัวเตมาลา ซึ่งอาณัติดังกล่าวก็คือการปราบปรามการทุจริตคอรัปชันที่กำลังกัดกินสังคมของเรา ขอพระเจ้าคุ้มครองท่าน และขอบคุณทุก ๆ คน” โมราเลส ออกมาประกาศต่อผู้สนับสนุน
อดีตประธานาธิบดี ออตโต เปเรซ แห่งกัวเตมาลา ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทหารเพื่อขึ้นศาลในความผิดฐานอยู่เบื้องหลังขบวนการรีดไถสินบนจากนักธุรกิจ หรือที่รู้จักในนามคดี La Linea
ด้วยความที่เป็นคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ และยึดอาชีพตลกให้ความบันเทิงต่อผู้ชมมายาวนานถึง 14 ปี ทำให้ โมราเลส สามารถเข้าถึงจิตใจประชาชนซึ่งเบื่อหน่ายพฤติกรรมโกงกินของนักการเมืองอาชีพ จนออกมาชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศและบีบให้อดีตประธานาธิบดี ออตโต เปเรซ ต้องพ้นตำแหน่งไปเมื่อเดือนที่แล้ว
“เราเบื่อพวกนักการเมืองหน้าเดิม ๆ เต็มทน อันที่จริงฉันไม่ได้เชื่อคำสัญญาของ จิมมี โมราเลส เท่าใดนัก และไม่ได้อยากออกไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่เขาเป็นตัวเลือกเดียวที่เรามี” อานา ฟูเอนเตส แม่ค้าขายของริมถนนวัย 36 ปี กล่าว
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ตำหนิ โมราเลส ว่าขาย “นโยบายเพ้อฝัน” เช่น การแจกสมาร์ทโฟนให้เด็ก ๆ หรือการบังคับให้ครูต้องติด GPS เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาไปสอนหนังสือจริงๆ เป็นต้น ขณะที่คำแถลงนโยบายของเขาซึ่งมีความยาวแค่ 6 หน้ากระดาษ ก็แทบไม่ให้ข้อมูลว่าเขาจะบริหารประเทศไปในทิศทางใด
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ พรรคเอฟซีเอ็นของเขาจะมีจำนวน ส.ส.เพียง 11 คน จากทั้งหมด 158 ที่นั่งในสภาชุดใหม่
“เขาไม่มีทั้งโครงการและทีมงาน... แต่เนื่องจากประชาชนไม่พอใจสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ คนส่วนใหญ่เลยไม่คำนึงถึงความจริงข้อนี้เวลาออกไปใช้สิทธิ์” อูโก โนวาเลส นักวิเคราห์การเมืองจากสถาบันคลังความคิด ASIES ในกัวเตมาลา ระบุ
ชาวกัวเตมาลาส่วนใหญ่ไม่เลือก ตอร์เรส วัย 60 ปี เป็นผู้นำ เพราะมองว่าเธอก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบเก่า
ตอร์เรส ชูนโยบายขยายสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงในสมัยที่อดีตประธานาธิบดี อัลวาโร โกลอม สามีของเธอยังบริหารประเทศ แต่นักวิจารณ์ชี้ว่า เธอเอาโครงการประชานิยมพวกนี้มาล่อใจคนจนในชนบทเท่านั้น
โมราเลส ซึ่งประกาศตัวเป็น “ผู้นิยมสายกลาง” จะต้องทำให้ชาวกัวเตมาลาเชื่อถือให้ได้ว่า พรรคของเขาไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพซึ่งเคยปราบปรามและสังหารหมู่ประชาชนในสงครามกลางเมืองช่วงปี 1960 - 1996
แม้สมาชิกรุ่นก่อตั้งของพรรคเอฟซีเอ็นจะมีทหารรวมอยู่ด้วย แต่ โมราเลส ยืนยันว่า แกนนำพรรครุ่นปัจจุบันล้วนแต่เป็นพลเรือน
นักวิจารณ์บางคนยังเป็นห่วงเรื่องที่อดีตดาราตลกผู้นี้ขู่จะหยิบยกข้อพิพาทดินแดนระหว่างกัวเตมาลากับเบลีซขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง