xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ญี่ปุ่นมุ่งหน้าเยือน “เอเชียกลาง” หวังผูกสัมพันธ์ทางธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นและ อากิเอะ ภริยาของเขา ก่อนออกเดินทางเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์สู่มองโกเลียและประเทศแถบเอเชียกลาง 5 แห่ง
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นเริ่มการเดินทางเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์สู่มองโกเลียและประเทศแถบเอเชียกลาง 5 แห่งในวันนี้ (22 ต.ค.) โดยมุ่งความสนใจที่เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในข้อตกลงธุรกิจต่างๆ ในขณะที่จีนกำลังขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาครุ่มรวยทรัพยากรแห่งนี้

ผู้นำสายอนุรักษนิยมรายนี้ซึ่งกำลังพยายามทำให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ขับเคลื่อนอีกครั้ง ได้ออกเดินทางร่วมกับผู้แทนของบริษัทญี่ปุ่นราว 50 บริษัท เขาได้มาถึงกรุงอูลานบาตอร์แล้วในวันนี้ (22) ซึ่งเป็นการเยือนมองโกเลียครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ปี 2013

หลังจากนั้นเขาจะเดินทางต่อไปยังคาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน และเขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่ไปเยือนเติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กิสถานอย่างเป็นทางการ

“มองโกเลียและเอชียกลางเป็นศูนย์กลางของเอเชียและมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่ง” อาเบะ บอกกับผู้สื่อข่าวที่สนามบินแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวก่อนออกเดินทาง

ประเทศเหล่านี้ “พึ่งพาอาศัยการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ แต่ตอนนี้กำลังมองหาระบบโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง เนื่องจากพวกเขาต้องการมีเศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเป็นพื้นฐาน”

“ผมต้องการจะสร้างความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในความสัมพันธ์ที่กำลังพัฒนากับแต่ละประเทศ”
อาเบะจับมือกับนายกรัฐมนตรี ชีเหม็ด ไซข่านบิเล็ก ของมองโกเลีย ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในกรุงอูลานบาตอร์
อาเบะออกเดินทางทั่วโทกอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เขาขึ้นครองอำนาจเมื่อปลายปี 2012 โดยไปเยือนมาแล้วหลายสิบประเทศ ในความพยายามที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัย

ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ บริษัทวิศวกรรม JGC และอีก 4 บริษัทของญี่ปุ่นคาดว่าจะลงนามข้อตกลงมูลค่า 8.3 พันล้านดอลลาร์ในเติร์กเมนิสถานสำหรับการก่อสร้างโรงงานที่เชื่อมต่อกับแหล่งก๊าซธรรมชาติหลายแห่ง หนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นแนวหน้านิกเกอิรายงาน

ในขณะที่คู่แข่งอย่างจีนพยายามที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) อาเบะได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มยอดขายโครงสร้างพื้นฐานจากบริษัทญี่ปุ่นทั่วโลก รวมทั้งในเอเชียกลาง ขึ้นเป็น 3 เท่าสู่ 30 ล้านเยนภายในปี 2020

AIIB ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลกที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตันและธนาคารพัฒนาเอเชียที่มีฐานในกรุงมานิลา ซึ่งบริหารงานโดยผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดอย่างญี่ปุ่นนับตั้งแต่มันถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1966

สหรัฐฯ และญี่ปุ่นปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมธนาคาร AIIB ที่นำโดยจีน

ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า อิทธิพลของจีนในเอเชียกลางกำลังเติบโตขึ้นในขณะที่อิทธิพลของรัสเซียเริ่มลดลง ทำให้ปักกิ่งกลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายใหญ่สุดของภูมิภาคนี้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้เผยโฉม “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ซึ่งเป็นทัศนวิสัยการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มพลังการค้าทางบกและการรวมตัวทางเศรษฐกิจทั่วทั้งทวีปยูเรเซีย ในระหว่างการปราศรัยของเขาในประเทศรุ่มรวยพลังงานอย่างคาซัคสถานเมื่อปี 2013