เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีออกโรงเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียและบรรดารัฐเศรษฐีอาหรับแถบภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแสดงบทบาทมากขึ้นในการร่วมแบกรับภาระในการรับมือกับวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพหนีภัยสงครามชาวซีเรีย อิรักและอัฟกานิสถานที่เดินทางเข้าสู่ยุโรป
รายงานข่าวที่มีการเผยแพร่ในวันอังคาร (20 ต.ค.) โดยสำนักข่าวซาอุดี เพรส เอเจนซี (เอสพีเอ) ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลริยาดห์ ระบุว่า ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังเดินทางเข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียที่กรุงริยาดห์ โดยกล่าวว่าเยอรมนีต้องการเห็นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในระดับที่มากกว่าที่เป็นอยู่ในการจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่บรรดาผู้อพยพหนีภัยสงครามที่กำลังไหลบ่าจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรป
ถ้อยแถลงล่าสุดของรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี มีขึ้นในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นเวลา 4 วัน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อโน้มน้าวให้บรรดารัฐเศรษฐีอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียเพิ่มบทบาทในการแสดงความรับผิดชอบให้มากขึ้นต่อวิกฤตผู้อพยพที่กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ดี รายงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งอ้างแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงริยาดห์ระบุว่า ความมุ่งหวังของรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีในการโน้มน้าว ให้บรรดารัฐเศรษฐีอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือแบกรับผู้อพยพลี้ภัย โดยเฉพาะจากสงครามกลางเมืองในซีเรียนั้นคงประสบความสำเร็จไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียได้เปิดรับผู้อพยพจากซีเรียเข้าประเทศไปแล้วกว่า 500,000 ราย ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก็รับชาวซีเรียเข้าไปลี้ภัยในประเทศแล้ว 100,000 ราย นับตั้งแต่ที่สงครามกลางเมืองในซีเรียปะทุขึ้น เมื่อเดือนมีนาคมปี 2011
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีออกโรงยืนยันเมื่อ 11 ต.ค. โดยระบุว่าไม่มีแผนปรับขึ้นภาษีเพื่อหาเงินรายได้เข้าคลัง ไว้รองรับวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป ที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
โดยนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีเปิดเผยถึงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน “บิลด์” โดยระบุเศรษฐกิจของเยอรมนีมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่องมานานหลายปี และสถานะทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเวลานี้ก็อยู่ในสภาพที่ดี ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องนำมาตรการปรับขึ้นภาษีมาใช้ เพื่อรองรับวิกฤตการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางเข้าสู่เยอรมนีและยุโรป แต่ถึงกระนั้น ผู้นำหญิงของเยอรมนีก็ปรารถนาจะเห็นบรรดารัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง ร่วมแสดงบทบาทในการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเน้นย้ำว่าวิกฤตผู้อพยพไม่ใช่ปัญหาที่ยุโรปต้องแบกรับแต่เพียงฝ่ายเดียว
จนถึงขณะนี้ ทางการเยอรมนีซึ่งได้ชื่อว่ามีขนาดของเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในสหภาพยุโรป ประเมินตัวเลขผู้อพยพลี้ภัยที่คาดว่าจะต้องรับเข้าประเทศในปีนี้ ไว้ที่ราวๆ 800,000-1,000,000 คน แม้จะมีความเป็นไปได้ที่เยอรมนี อาจต้องเผชิญกับการไหลบ่าเข้าประเทศของผู้อพยพมากกว่าที่คาดไว้ คือ 1.5 ล้านคนก็ตาม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลแห่งเยอรมนี ถือเป็นผู้นำโลกตะวันตกรายแรกที่ตัดสินใจเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยที่หนีตายจากภัยสงครามและความทุกข์ยากมาจากตะวันออกกลาง ซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้รัฐบาลเบอร์ลินได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ แต่ในทางกลับกันการยอมรับผู้ลี้ภัยมากเป็นประวัติการณ์ก็ได้สร้างภาระหนักแก่รัฐบาลเบอร์ลิน และกลายเป็นวิกฤตที่กำลังบั่นทอนคะแนนนิยมของนายกฯ หญิงเหล็กในสายตาชาวเยอรมันด้วยในขณะเดียวกัน