รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ออกโรงยืนยันในวันอาทิตย์ (11 ต.ค.) โดยระบุว่าไม่มีแผนปรับขึ้นภาษีเพื่อหาเงินรายได้เข้าคลังไว้รองรับวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป ที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีเปิดเผยถึงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน “บิลด์” ฉบับที่จะตีพิมพ์ในวันจันทร์ (12 ต.ค.) โดยนางแมร์เคิลระบุว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่องมานานหลายปี และสถานะทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเวลานี้ก็อยู่ในสภาพที่ดี ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องนำมาตรการปรับขึ้นภาษีมาใช้เพื่อรองรับวิกฤตการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเข้าสู่เยอรมนีและยุโรป
ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ (10 ต.ค.) หนังสือพิมพ์ “ซุดดอยต์เชอ ไซตุง” รายงานว่า รัฐบาลเมืองเบียร์ ตลอดจนคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commision) กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีเพื่อหารายได้เพิ่มเติมรองรับค่าใช้จ่าย สำหรับรับมือการไหลบ่าของผู้อพยพถึงแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในรัฐบาลเยอรมนีและสหภาพยุโรป (อียู) จะออกมาปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อดังอย่างบิลด์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากเอกสารลับฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่าทางการเยอรมนีอาจต้องเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยถึง 1.5 ล้านคนในปี 2015 นี้ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประเมินที่รัฐบาลเบอร์ลินประกาศไว้หลายแสนคน
จนถึงขณะนี้ เยอรมนีซึ่งได้ชื่อว่ามีขนาดของเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในสหภาพยุโรป ยังประเมินตัวเลขผู้อพยพลี้ภัยที่จะรับเข้าประเทศในปีนี้ ไว้เพียงราวๆ 800,000-1,000,000 คน
อย่างไรก็ตาม บิลด์ได้อ้างข้อมูลจากเอกสารฉบับหนึ่งที่ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีคาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาเพิ่มเติมอีกกว่า 920,000 คนภายในช่วง 3 เดือนสุดท้ายซึ่งจะทำให้ยอดผู้ขอลี้ภัยตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน
เอกสารลับดังกล่าวยังประเมินต่อไปอีกว่า ผู้อพยพแต่ละคนที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องจะพาสมาชิกในครอบครัวเข้าไปอยู่ในเยอรมนีเฉลี่ย “4-8 คน” และหากคำนวณจากตัวเลขผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลประเมินไว้เพียง 920,000 คน จะพบว่าในทางปฏิบัติอาจมีผู้อพยพมากถึง “7.36 ล้านคน” ที่มีสิทธิ์ย้ายเข้าไปยังเยอรมนี โดยอาศัยสายสัมพันธ์ทางครอบครัวและเครือญาติ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีตัดสินใจเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยที่หนีตายจากภัยสงครามและความทุกข์ยากมาจากตะวันออกกลาง และแอฟริกาซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้รัฐบาลเบอร์ลินได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ แต่ในทางกลับกันการยอมรับผู้ลี้ภัยมากเป็นประวัติการณ์ก็ได้สร้างภาระหนักแก่รัฐบาล และกลายเป็นวิกฤตที่กำลังบั่นทอนคะแนนนิยมของนายกฯ หญิงเหล็กในสายตาชาวเยอรมันด้วยในขณะเดียวกัน