xs
xsm
sm
md
lg

ทางสะดวกสำหรับ ‘อาเบะ’ ที่จะช่วงชิงความเป็นผู้นำใน ‘เอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Game On! For Abe in Asia
BY Peter Lee
09/10/2015

สหรัฐฯกำลังช่วยเหลือญี่ปุ่นให้มีเหตุผลความชอบธรรมในการขยายบทบาทความเป็นผู้นำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยข้อตกลง TPP หรือในทางการทหาร โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องภัยคุกคามจากเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของจีนในทะเลจีนใต้ วอชิงตันอาจจะเชื่อว่าการเพิ่มบทบาทเช่นนี้ของญี่ปุ่น ยังต้องอยู่ภายในกรอบแห่งการพึ่งพาอาศัยการปกป้องคุ้มครองจากสหรัฐฯ ทว่านั่นเป็นมายาภาพที่กำลังพังทลาย

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2015 หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) พาดหัวข่าว ด้วยข้อความดังนี้:

อาเบะประกาศ: ญี่ปุ่นพร้อมเป็นผู้นำในเอเชีย-แปซิฟิก
(ดูรายละเอียดได้ที่ http://blogs.wsj.com/japanrealtime/2015/10/06/japan-ready-to-lead-in-asia-pacific-abe-says/)

ผมคาดหมายว่า เจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลจำนวนหนึ่งภายในแวดวงชนชั้นนำของกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้ที่รักใคร่ชื่นชอบญี่ปุ่น อาจจะถึงกับเกิดอาการพ่นเอาซูชิอาหารเช้าของพวกเขาออกมาจากปากก็เป็นได้ เมื่อเจอเข้ากับพาดหัวข่าวเช่นนี้

“แต่ ... นี่เป็นเรื่องที่บอกกันว่าจะยังไม่เกิดขึ้นไปอีกหลายสิบปีไม่ใช่เหรอ! แอช คาร์เตอร์ สัญญาเอาไว้อย่างนี้นะ!” พวกเขาอาจจะละล่ำละลักถามไถ่

ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) ได้เคยพูดเอาไว้จริงๆ ว่า “เราจะยังคงเป็นมหาอำนาจด้านความมั่นคงตัวหลัก ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปเป็นเวลาอีกหลายสิบปีข้างหน้า” (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.washingtonpost.com/news/checkpoint/wp/2015/05/27/defense-secretarys-warning-to-china-u-s-military-wont-change-operations/) สันนิษฐานได้ว่าเขาพูดเช่นนี้ก็อาจจะเนื่องจากเชื่อถือพึ่งพาสมมุติฐานที่ว่า กว่าจะถึงเวลาที่คำทำนายของเขาถูกพิสูจน์ว่าผิดพลาดไม่เป็นความจริง เขาก็จะปลอดภัยอยู่ในสุสานของเขา และถึงมีใครต่อว่าต่อขานยังไงเขาก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ใจเย็นๆ ก็ได้ครับ ท่านผู้ทรงอำนาจอิทธิพล เพราะวอลล์สตรีทเจอร์นัลเพียงแค่กำลังล้อพวกคุณเล่นเท่านั้นแหละ

สิ่งที่อาเบะพูดจริงๆ นั้นมีว่า:

“ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯจะร่วมกันนำพาเอเชียแปซิฟิกไปสู่เป้าหมายแห่งการเปลี่ยนให้ภูมิภาคนี้กลายมาเป็นมหาสมุทรแห่งเสรีภาพและความมั่งคั่งไพบูลย์ โดยการทำงานเป็นหุ้นส่วนกันกับบรรดาประเทศที่มีค่านิยมต่างๆ ร่วมกัน เป็นต้นว่าค่านิยมในเรื่องเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, และหลักนิติธรรม”

พูดยังงี้ฟังแล้วรื่นหูกว่าใช่ไหมครับ มันเป็นเรื่องของการร่วมกันนำ

ผมคิดว่า ก็เหมือนกับเมื่อคู่รัก 2 คนกำลังเต้นรำกันอยู่นั่นแหละ ทั้งคู่ต่างก็กำลังทำหน้าที่นำ

อย่างไรก็ตาม ผมละสงสัยจริงๆว่า ชาติสมาชิกรายอื่นๆ ของ ทีพีพี (TPP ย่อมาจาก Trans-Pacific Partnership สำหรับภาษาไทย นิยมเรียกว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแปลมาจากคำเรียกขานเดิมของข้อตกลงนี้ที่ใช้ว่า Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement –ผู้แปล) จะรู้สึกยังไงกับย่อหน้าที่น่าสนใจมากดังต่อไปนี้ ซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ครั้งเดียวกัน:

ข้อตกลงการค้าหุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิก --ซึ่งตกลงเห็นพ้องกันแล้วโดยญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, และชาติแปซิฟิกอื่นๆ อีก 10 ชาติ— จะ “เปิดทางให้พวกประเทศที่มีความคิดเห็นแบบเดียวกัน มาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เสรี, ยุติธรรม, และเปิดกว้าง” อาเบะ กล่าว

มันยังจะสร้างกฎกติกาให้ทุกๆ คนมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทเอกชนทั้งหลายสามารถแข่งขันกับพวกวิสาหกิจที่มีรัฐเป็นเจ้าของ ในการดำเนินโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ อาเบะบอก พร้อมยกตัวอย่างว่า อย่างเช่น พวกระบบรางรถไฟความเร็วสูง, โรงไฟฟ้า, และสนามบิน


ถ้าผมกำลังตีความคำพูดของอาเบะนี้ไปอย่างผิดๆ ไม่ถูกต้องแล้ว ก็ขอได้โปรดชี้แจงให้ผมได้เข้าใจอย่างถูกต้องด้วยนะครับ แต่นี่ดูเหมือนกับการบอกว่า หากชาติสมาชิก TPP รายใด พยายามที่จะเข้าประมูลรับจัดทำโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วปรากฏว่ามีการเสนอเงื่อนไขข้อกำหนดซึ่งญี่ปุ่นตีความว่าเป็นการให้การอุดหนุนของภาครัฐอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ญี่ปุ่นก็สามารถยื่นฟ้องร้องในศาลท้องถิ่น เพื่อขัดขวางสกัดกั้นข้อตกลงจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ภายใต้ความคุ้มครองทางกฎหมายตลอดทั่วทั้งพื้นที่ TPP ซึ่งข้อตกลงฉบับใหม่เอี่ยมแสนมหัศจรรย์นี้มอบให้แก่บริษัทเอกชนทั้งหลาย

มาเลเซีย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, ตลอดจนชาติอื่นๆ ที่อาจเป็นเป้าหมายในการได้รับแบ่งปันโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจจะกำลังขบคิดรำพึงกับตัวเองว่า อ้าว แล้วกัน! นี่เราเข้าไปร่วมอยู่ในข้อตกลงอะไรแบบนี้ล่ะ?

อย่างไรก็ตาม นี่ต้องถือว่าเป็นผลงานชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่นที่สามารถช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของตนเองให้สูงขึ้นได้อย่างงดงาม

ส่วนผลงานอีกชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่นในเรื่องการช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของตนเองให้สูงขึ้นอย่างงดงามเช่นกัน ได้แก่การที่ญี่ปุ่นสามารถที่จะออกเสียงคัดค้านไม่ยอมรับได้ ถ้าหากและเมื่อใดก็ตามที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดคิดที่จะพยายามยื่นสมัครขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของข้อตกลง TPP ด้วย

ดังนั้น จึงควรที่จะพิจารณาข้อตกลง TPP ในแง่มุมที่ว่า มันกลายเป็นหนทางอันสะดวกสบายของญี่ปุ่นไปแล้ว ในการทำให้ตนเองสามารถแผ่ขยายเข้าถึงตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ โดยที่เวลาเดียวกันนั้นยังสามารถที่จะกีดกันขัดขวางซึ่งทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนตกอยู่ในความยากลำบาก ... ไม่เพียงเท่านั้น มันยังเป็นหนทางที่จะปฏิเสธไม่ให้สหรัฐฯมีความสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตนมีอยู่กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ตามอำเภอใจฝ่ายเดียว!

เป็นไปได้ทีเดียวว่า เหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าสำหรับอาเบะ ยิ่งเสียกว่าตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยโดยเปรียบเทียบ ซึ่งคาดหมายกันว่าจะได้จากข้อตกลงฉบับนี้

แอช คาร์เตอร์ กล่าวคำพูดเกี่ยวกับ TPP ซึ่งเป็นที่ประทับใจและนำมาพูดต่อกันอย่างกว้างขวาง เมื่อเขาบรรยายข้อตกลงฉบับนี้ว่า “มีความสำคัญเหมือนกับเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำหนึ่งทีเดียว” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://thediplomat.com/2015/04/tpp-as-important-as-another-aircraft-carrier-us-defense-secretary/)

แต่มันเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินของใครล่ะ ตรงนี้แหละที่เขาไม่ได้กล่าวไว้

เมื่อพูดกันถึงเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว ในเดือนมีนาคมของปีนี้ กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล (Maritime Self Defense Force) ของญี่ปุ่น ได้รับมอบเรือรบลำหนึ่ง ซึ่งเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดของแดนอาทิตย์อุทัยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นั่นคือ เรือ เจเอส อิซูโม (JS Izumo) เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งได้รับการบรรยายคุณสมบัติว่า เป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินที่อำพรางปลอมตัวเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://nationalinterest.org/blog/the-buzz/japans-navy-unveils-aircraft-carrier-disguise-12483) เนื่องจากเรือลำนี้สามารถรองรับเครื่องบินขับไล่สุดไฮเทครุ่น เอฟ-35 เมื่อใช้โหมดทะยานขึ้นและร่อนลงจอดแบบแนวดิ่ง ส่วนสำหรับการรองรับการปฏิบัติการขึ้นลงตามแบบแผนของเครื่องบินขับไล่นั้น เจเอส อิซูโม ก็ขาดเพียงแค่ไม่มีอุปกรณ์อันจำเป็น อย่างระบบดีดส่งเครื่องบิน (catapult) เท่านั้น

เรือลำนี้ออกแบบมาให้สามารถบรรทุกเครื่องบินได้ 20 ลำ มันจึงเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินนั่นแหละ ญี่ปุ่นยังมีโครงการต่อเรือมูลค่าลำละ 1,500 ล้านดอลลาร์แบบนี้ลำที่ 2 โดยกำหนดจะปล่อยลงน้ำในปี 2018 เรือลำใหม่นี้จะใช้ชื่อว่า “เจเอส ทีพีพี” (JS TPP)
แหะๆ ผมล้อเล่น!

ผมล้อเล่นเฉพาะเรื่องชื่อเรือนะครับ ไม่ใช่เรื่องกำหนดการปล่อยลงน้ำ

ทางด้านสหรัฐฯนั้น ยังกำลังยื่นมือเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการทหารของแดนอาทิตย์อุทัยในการปฏิบัติการในทะเลจีนใต้อีกด้วย

ท่ามกลางเรื่องราวไร้สาระมากมายมหาศาลดุจพายุหิมะไหลถล่ม ที่แวดล้อมการเดินทางเยือนสหรัฐฯของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงนั้น ก็ยังมีรายงานข่าวอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งทรงความสำคัญอย่างแท้จริง นั่นก็คือ รายงานของผู้สื่อข่าวลองแองเจลิสไทมส์ (Los Angeles Times) ที่ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมชมการฝึกซ้อมของเรือดำน้ำโจมตีใช้เครื่องยนต์พลังนิวเคลียร์ลำหนึ่งของสหรัฐฯ (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://www.latimes.com/world/asia/la-fg-nuke-sub-china-20150925-story.html)

สำหรับวัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมคราวนี้ กำหนดสถานการณ์เอาไว้ว่าสงครามกำลังส่อเค้าขึ้นมาลางๆ ในแปซิฟิก เรือดำน้ำชั้นจิน (Jin เป็นชื่อของชั้นเรือดำน้ำของจีน) ติดอาวุธนิวเคลียร์ลำหนึ่ง ... กำลังซุ่มซ่อนอยู่นอกชายฝั่งของชาติพันธมิตรสหรัฐฯชาติหนึ่งที่สมมุติขึ้นมาทว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น เรือดำน้ำชั้นจินลำนี้ ถูกจินตนาการว่ามาจาก “ชูเรีย” (Churia) ไม่ใช่ “ไชน่า” (China)



ในหมู่ลูกเรือของเรือดำน้ำอเมริกัน คนหนึ่งคือ เรือโท เรย์ วิกกิน (Lt. Ray Wiggin) นายทหารการอาวุธ (weapons officer) ... ได้รับแจ้งให้เตรียมพร้อมเปิดการระดมยิงจรวดร่อนเข้าใส่เป้าหมายต่างๆ ของ ชูเรีย บนชายฝั่ง

บรรยากาศในเรือดำน้ำอยู่ในอาการกระวนกระวาย สงครามยังไม่ทันระเบิดขึ้นมา และคำสั่งจำลองที่กำหนดให้นั้น อนุญาตให้ทำการโจมตีได้ ก็ต่อเมื่อเรือดำน้ำจิน แสดงความเป็นศัตรูอย่างชัดเจน

“ถ้าพวกเขาเล่นงานเรือสินค้า เราก็มีอำนาจที่จะเข้าสู้รบ” เป็นคำพูดของ มิลซอม (Milsom) บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียสเตท ผู้มีผมสีแดง

แต่ถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเขาก็ต้องเฝ้าติดตามเรือดำน้ำจิน และรอคอย “คำสั่งภารกิจโจมตี” นั่นคือคำสั่งจากผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งยืนยันว่าสงครามกับ ชูเรีย เริ่มต้นขึ้นแล้ว


ผมเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของการพาไปทัวร์เที่ยวนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวอันสร้างความประทับใจมากมายให้แก่พวกผู้สื่อข่าวของลอสแองเจลิสไทมส์เท่านั้นหรอก และก็ไม่ใช่เพื่อตักเตือน สี จิ้นผิง ให้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มีเรือดำน้ำ 43 ลำจากทั้งหมด 71 ลำในกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เวลานี้ประจำอยู่ในแปซิฟิก โดยที่มีเรือดำน้ำโจมตี 20 ลำประจำอยู่ในฮาวาย และอีก 4 ลำอยู่ที่เกาะกวม หรือเรื่องที่ว่าเรือดำน้ำอเมริกันเหล่านี้มีการลาดตระเวนเฉียดใกล้จีนอยู่เป็นประจำเพื่อคอยเฝ้าติดตามเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
ผมคาดหมายว่า สีทราบเรื่องเหล่านี้ดีอยู่แล้ว

มันไม่ใช่ทั้งหมดที่ว่ามานี้หรอกครับ แต่ผมคิดว่าวัตถุประสงค์ของรายงานข่าวชิ้นนี้อยู่ตรงประโยคนี้ครับ:

เรือดำน้ำชั้นจิน (Jin เป็นชื่อของชั้นเรือดำน้ำของจีน) ติดอาวุธนิวเคลียร์ลำหนึ่ง ... กำลังซุ่มซ่อนอยู่นอกชายฝั่งของชาติพันธมิตรสหรัฐฯชาติหนึ่งที่สมมุติขึ้นมาทว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น

“ชั้นจิน” คือเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ชั้นใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งใช้ท่าเรือประจำเฉพาะที่ฐานทัพเรือดำน้ำที่ตั้งอยู่บนเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เท่านั้น ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งภายในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นที่คาดหมายกันว่าเรือชั้นนี้จะได้รับการติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์บางรุ่นซึ่งน่าจะเป็นอาวุธที่ใช้การได้ และก็จะเริ่มต้นออกลาดตระเวนเพื่อการป้องปราม ... เป็นการมุ่งป้องปรามสหรัฐฯนะครับ

ไม่ใช่ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในประเทศเลย ไม่ว่าจะเป็นของญี่ปุ่นเอง หรือเป็นของสหรัฐฯ (ตรงนี้คือสมมุติกันว่าเป็นเช่นนี้) และด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เป้าหมายภายใต้หลักนิยมทางการทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ว่า “ไม่เป็นฝ่ายเริ่มโจมตีก่อน” (no-first-strike doctrine)

ทว่านี่ย่อมเป็นคำบรรยายซึ่งไม่พึงวาดหวังว่าจะได้รับการรับฟังเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น

คราวนี้ลองมาต่อจุดประต่างๆ ให้กลายเป็นเส้นขึ้นมานะครับ สิ่งที่ดูเหมือนเราจะพบจากรายงานข่าวของลอสแองเจลิสไทมส์ข้างต้นก็คือ สหรัฐฯกำลังประกาศว่าเรือดำน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น มีท่าทีสร้างภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ต่อญี่ปุ่น เรือดำน้ำเหล่านี้จึงต้องถูกติดตามเฝ้าระวังและถ้าจะให้ดีก็จัดการปิดประตูตีแมวเสียเลยตรงบริเวณใกล้ๆ ฐานทัพของพวกเขาที่เกาะไหหลำในทะเลจีนใต้นั่นแหละ (ความปรารถนาเช่นนี้ดูจะกลายเป็นความหมกมุ่นของกองทัพเรือสหรัฐฯไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเฝ้าคอยการเปิดตัวของขีปนาวุธรุ่น เจแอล-2 (JL-2) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ JL-2 เป็นขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile ใช้อักษรย่อว่า ICBM) ชนิดยิงจากเรือดำน้ำ) เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าญี่ปุ่นมีผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดที่จะต้องเข้าร่วมในกิจกรรมสงครามต่อต้านเรือดำน้ำของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้

การยืนกรานด้วยเหตุผลเช่นนี้ อาจจะช่วยบรรเทาความอับอายเก้อเขินของญี่ปุ่นลงไปในเยอะเลย หลังจากที่โตเกียวแสดงความกระตือรือร้นเหลือเกินที่จะอัดฉีดตัวเองเข้าสู่ทะเลจีนใต้ และเพิ่มกระชับความผูกพันที่ตนมีอยู่กับเวียดนามและฟิลิปปินส์

มีพัฒนาการประการหนึ่งที่ดูเหมือนถูกละเลยเพิกเฉย จากพวกสื่อมวลชนผู้กระตือรือร้นที่มุ่งเสพสวาปามแต่เรื่องราวการกระหน่ำโจมตีจีนอันไร้คุณค่าควรแก่การให้ความเชื่อถือ (ทว่าพัฒนาการนี้ ได้ถูกชี้ออกมาให้เห็นกันพร้อมอาการแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์จากตัวผมเอง ดูรายละเอียดได้ที่ http://chinamatters.blogspot.com/2015/06/what-should-be-final-word-on-freedom-of.html) นั่นคือ ในการแถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีอาเบะกล่าวยอมรับว่าการที่ญี่ปุ่นจะจัดส่งเรือกวาดทุ่นระเบิดออกไปปฏิบัติในเขตช่องแคบมะละกานั้น ไม่สามารถอ้างได้ว่ามีเหตุผลความชอบธรรมเนื่องจากเป็นการรักษาผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดของญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะทะเลจีนใต้นั้น เป็นเพียงหนึ่งในเส้นทางเดินเรือทะเลอีกหลายๆ เส้นทาง ซึ่งเรือสินค้าของเอเชียสามารถที่จะเข้าไปใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองแบบพลเรือน / ทางเศรษฐกิจแล้ว มันก็ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ เลยที่ญี่ปุ่นจะไปเข้าร่วมกิจกรรมของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้

แต่ถ้าเราอ้างเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของจีนในทะเลจีนใต้กำลังเล็งเป้าไปที่ญี่ปุ่นแล้ว ... ก็เป็นอันเปิดเกมเริ่มเล่นได้!

ในความเป็นจริงแล้ว ทันทีที่ระบุว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายความอยู่รอดของชีวิตแล้ว มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรอีกแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องจำกัดตัวเองให้เอาแต่ปฏิบัติการภายใต้การคุ้มครองของอเมริกา ในเวลาที่ดำเนินยุทธการทางทหารในเอเชีย ...

...อะไรนะ คุณพูดว่าอะไรนะครับ? มันกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วด้วยหรือ?

ในเดือนพฤษภาคม 2015
(ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/05/25/us-japan-malaysia-defence-idUSKBN0OA11720150525)

ญี่ปุ่นกับมาเลเซียตกลงเห็นพ้องกันที่จะเพิ่มพูนความผูกพันทางด้านความมั่นคง และเริ่มต้นพูดจากันเรื่องการถ่ายโอนอุปกรณ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านกลาโหม ผู้นำของทั้งสองประเทศแถลงเมื่อวันจันทร์ ในขณะที่ประเทศทั้งสองต่างฝ่ายต่างก็มีเรื่องวิวาทกับจีนในเรื่องการช่วงชิงดินแดน

“ผมตกลงกับนายกรัฐมนตรีนาจิบ (ราซัค) ที่จะยกระดับความผูกพันระดับทวิภาคีของเราให้ขึ้นสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวร่วม

ในเดือนมิถุนายน 2015
(ดูรายละเอียดได้ที่
http://www.japantimes.co.jp/news/2015/06/05/national/politics-diplomacy/japan-will-help-boost-philippine-coast-guard-abe/#.ViKJymspqf6)

ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน (Benigno Aquino) แห่งฟิลิปปินส์ผู้มาเยือน แถลงในวันศุกร์ [5 มิ.ย. 2015] ว่า มะนิลากับโตเกียวจะเริ่มการเจรจาหารือเรื่องการลงนามใน “ข้อตกลงเกี่ยวกับกองกำลังอาวุธที่ไปเยือน” ซึ่งเมื่อมีการลงนามกันแล้วก็จะอนุญาตให้ญี่ปุ่นไปใช้ฐานทัพต่างๆ ในฟิลิปปินส์ เพื่อเติมน้ำมันเครื่องบินและเรือรบ

“เราจะเริ่มต้นดำเนินการตามข้อกำหนดทางการทูตทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้บรรลุข้อตกลงเรื่องกองกำลังอาวุธที่ไปเยือน” อากีโนบอกกับผู้สื่อข่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan National Press Club) ในกรุงโตเกียว พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า เขาได้หารือเรื่องการเริ่มต้นพูดจากันเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ ในระหว่างการประชุมซัมมิตกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อวันพฤหัสบดี

ข้อตกลงฉบับนี้จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถขยายขอบเขตการเข้าสู่ทะเลจีนใต้ในด้านการทหาร ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าโตเกียวกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตรวจการณ์ทางอากาศร่วมกับสหรัฐฯในอาณาบริเวณนี้


และช่วงกลางเดือนกันยายน 2015 ...
(ดูรายละเอียดได้ที่ http://cogitasia.com/vietnam-party-chief-visit-to-japan-boosts-bilateral-defense-cooperation/)

เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เหวียน ฝู จ่อง ... และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ประกาศว่าสามารถบรรลุข้อตกลงหลายฉบับ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนการค้าและความผูกพันด้านกลาโหมระดับทวิภาคี ...

ในบรรดาข้อตกลงที่ประกาศออกมาโดย อาเบะ และ จ่อง เหล่านี้ มีทั้งแพกเกจเพื่อความช่วยเหลือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลปี 2015 มูลค่า 1.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยเวียดนามให้ได้รับเรือตรวจการณ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วของญี่ปุ่นเป็นจำนวน 2 ลำ, บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านหน่วยยามฝั่ง ... ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องกันให้ยกระดับความร่วมมือกันเกี่ยวกับการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติอีกด้วย


บางทีญี่ปุ่นอาจจะ “พร้อมแล้วที่จะเป็นผู้นำ” ในเอเชียจริงๆ

การรณรงค์ที่ค่อนข้างสกปรกโสมมของสหรัฐฯ เพื่อทำให้เรื่องการป้องกันตนเองแบบรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน (collective self-defense) ของญี่ปุ่น กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายและมีความชอบธรรมขึ้นมา ถึงแม้ถูกคัดค้านจากประชาชนญี่ปุ่นเอง แถมยังเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นอีกด้วย ดูไปแล้วก็กำลังกลายเป็นการมอบของขวัญชนิดที่สามารถแตกตัวขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ แก่ ... ญี่ปุ่น

สหรัฐฯอาจจะยังคงรู้สึกมีความหวังว่า สามารถที่จะควบคุมญี่ปุ่นเอาไว้ให้กลายเป็นทรัพย์สินทางทหารของสหรัฐฯชิ้นหนึ่งต่อไป โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่าการตีความเรื่อง “การป้องกันตนเองแบบรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน” ในปัจจุบันนั้น ทำให้การปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นต้องอยู่ใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ

ทว่าในทันทีที่เขื่อนแห่งรัฐธรรมนูญถูกเจาะจนเป็นรูโหว่ ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะสามารถหยุดยั้งไม่ให้ญี่ปุ่นหันไปจัดทำข้อตกลง “การป้องกันตนเองแบบรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน” กับ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” รายอื่นๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้ผมเคยเสนอภาพที่แสนจะน่าตื่นใจแต่ยากที่จะทำใจเชื่อถือว่า ขณะที่สหรัฐฯกำลังมอบอำนาจให้ญี่ปุ่น ในการผลักดันสร้างพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนให้คืบหน้าต่อไปเรื่อยๆ นั้น ดูเหมือนสหรัฐฯจะหลงลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลาเดียวกันนั้นเอง สหรัฐฯก็กำลังมอบอำนาจให้ญี่ปุ่น สามารถที่จะออกปฏิบัติการในฐานะที่เป็นมหาอำนาจอิสระในเอเชียไปด้วยในตัว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://chinamatters.blogspot.com/2015/09/rising-sun-setting-sun-japan-united.html)

ยุทธศาสตร์เช่นนี้ของสหรัฐฯ กระทั่งไม่สามารถอาศัยมายาภาพเดิมๆ ที่เคยทำให้เกิดความรู้สึกสบายอกสบายใจ มาเป็นเครื่องปลอบโยนได้อีกต่อไป มายาภาพดังกล่าวได้แก่ความเชื่อที่ว่า แม้เมื่อญี่ปุ่นรู้สึกถูกล่อใจอย่างรุนแรงเหลือระงับ เพื่อให้ลงมือกระทำไปตามลำพังฝ่ายเดียว ญี่ปุ่นก็จะยังคงต่อต้านความรู้สึกถูกเย้ายวนเช่นนั้นเอาไว้ได้ สืบเนื่องจากมีความจงรักภักดีต่อสหรัฐฯและค่านิยมต่างๆ ของสหรัฐฯ

ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอาเบะนั้นชิงชังรังเกียจยาทั้งหลายทั้งปวงที่สหรัฐฯในฐานะผู้พิชิตนำมาแจกจ่ายบังคับให้ญี่ปุ่นต้องกลืนกิน ซึ่งก็รวมไปถึงรัฐธรรมนูญที่มากับยาเหล่านี้ด้วย ความรู้สึกเช่นนี้ไม่มีความกำกวมใดๆ หลงเหลืออยู่เลย เมื่อรัฐบาลอาเบะประกาศว่าต้องการแสวงหาหนทางฟื้นฟูให้ญี่ปุ่นกลับมาเป็น “ชาติปกติ” หรือก็คือชาติที่มีกำลังทหาร และมีเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญที่จะดำนินความเคลื่อนไหวต่างๆ และไม่ได้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอะไรสหรัฐฯ

กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว นโยบายของสหรัฐฯในเอเชีย กำลังตกเป็นตัวประกันของรัฐบาลญี่ปุ่นเวลานี้ ซึ่งเป็นพวกนักเสี่ยงภัยชาตินิยมฝ่ายขวาที่ต่อต้านอเมริกัน (ดูรายละเอียดใน http://chinamatters.blogspot.com/2013/12/yasakuni-blues-understanding-shinzo.html%20.)

ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นชาติเดียวเท่านั้นหรอก ที่มีความทะเยอทะยาน, ความแข็งกร้าวยืนกราน, ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนไปเดินหนทางอื่น, ความอ่อนแอต่อการป้องปราม, และการมีศักยภาพที่จะทำงานเพื่อหาทางออกจากภาวะอิหลักอิเหลื่อในทางด้านการทหารและความมั่นคงของตนเอง

ยังมีสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ รวมทั้งคนอื่นๆ อีกมากมายในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในความเห็นของผมแล้ว นี่ต้องถือเป็นเรื่องดี ระบบเศรษฐกิจที่กำลังแตกหน่ออ่อนขยายตัวเหล่านี้มีความแน่วแน่เพียงพอที่จะปกป้องคุ้มครองตัวพวกเขาเอง และที่จะขัดขวางพวกเพื่อนบ้านผู้ละโมบและสะเพร่าเลินเล่อไม่ให้บังเกิดความคิดความอ่าน

ดังนั้น ถึงแม้ผมอาจจะตั้งคำถามว่าการที่ญี่ปุ่นใช้การทหารเป็นตัวผลักดันเดินหน้าเข้าไปในเอเชียนั้น เป็นสิ่งที่แสดงถึงสติปัญญาและความมีศีลธรรมแล้วหรือ แต่ผมก็ไม่ได้มองเรื่องนี้ว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงถึงขั้นการดำรงคงอยู่

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอเมริกากำลังจะต้องเรียนรู้โดยผ่านหนทางที่ยากลำบาก ว่า “ความมั่นคงของเอเชีย” นั้น ไม่ว่าในแง่ของแนวความคิดหรือในแง่ทางการปฏิบัติ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับ “ความเป็นผู้นำของอเมริกัน” อีกต่อไปแล้ว

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)


กำลังโหลดความคิดเห็น