เอเอฟพี - กระแสคลั่งไคล้ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเริ่มมาแรงในอิรักตั้งแต่มอสโกใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรีย โดยชาวอิรักบางคนมอง ปูติน เป็นเสมือน “พระมาโปรด” ในยามบ้านเมืองทุกข์เข็ญ บ้างก็ยกให้เป็น “พลเมืองกิตติมศักดิ์” และถึงขั้นฝันหวานว่าจะได้เรียกผู้นำรัสเซียว่า “ฮัจญี” (คำเรียกชายมุสลิมที่เคยประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว) ในสักวันหนึ่ง
ที่สตูดิโอในกรุงแบกแดด โมฮัมเหม็ด การีม นิฮายา จิตรกรชาวอิรัก นั่งง่วนอยู่กับการสะบัดปลายพู่กันตกแต่งภาพวาดประธานาธิบดี ปูติน ซึ่งเขาก็อปปี้มาจากอินเทอร์เน็ต
“ผมรอให้รัสเซียยื่นมือเข้ามาช่วยต่อกรกับพวกดาเอชมาตั้งนานแล้ว” โมฮาเหม็ด กล่าว โดยใช้ชื่อย่อภาษาอาหรับของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่บุกยึดเมืองสำคัญทางภาคเหนือของอิรักและภาคตะวันออกของซีเรีย และประกาศสถาปนา “รัฐคอลีฟะห์” ที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวด
“การโจมตีของรัสเซียเห็นผลทันที แต่สหรัฐฯ กับพรรคพวกที่ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดมาเป็นปีๆ แล้ว กลับไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” ศิลปินหนุ่มผู้สวมแว่นตา กล่าว
ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐฯ ช่วยให้กองทัพอิรักสามารถยึดเมืองต่างๆ ที่สูญเสียให้กับไอเอสในปี 2014 กลับคืนมาได้มากพอสมควร แต่ในภาพรวมยังถือว่าภารกิจของวอชิงตันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น
ฝูงบินขับไล่รัสเซียเริ่มทิ้งบอมบ์ในซีเรียตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน และเมื่อวันพุธ (7 ต.ค.) มอสโกก็ได้ยกระดับการโจมตีให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น โดยมีคำสั่งให้กองเรือรบในทะเลแคสเปียนยิงขีปนาวุธร่อนเข้าไปโจมตีเป้าหมายในซีเรีย
แม้จรวดบางลูกจะลอยข้ามน่านฟ้าอิรัก แต่พลเมืองส่วนใหญ่ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ดูจะยินดีเปิดทางให้อย่างเต็มที่ ด้วยความหวังว่าภารกิจของรัสเซียจะนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของสงครามที่พวกเขารอคอย
สื่อตะวันตกชี้ว่า การโจมตีของรัสเซียถูกเป้าหมายไอเอสเพียงเล็กน้อย แต่ถึงกระนั้น โมฮาเหม็ด ก็ไม่ปล่อยให้ข้อมูลทางสถิติเหล่านี้มาบั่นทอนความรู้สึกกระชุ่มกระชวยของเขา
“พวกเราไม่ต้องการพันธมิตรสหรัฐฯ เราต้องการรัสเซียเพียงชาติเดียวเท่านั้น และจะเตรียมเชือดแกะไว้ต้อนรับพวกเขาเลยทีเดียว”
หลายปีที่ผ่านมา รัสเซียประกาศจุดยืนปกป้องซีเรียและอิหร่านอย่างเข้มแข็งในเวทีนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ชาวอิรักส่วนหนึ่งจึงมองว่ามอสโกเป็น “พันธมิตรโดยธรรมชาติ” กับพวกเขามากกว่าสหรัฐฯ ซึ่งเคยรุกรานและปกครองอิรักอยู่นานถึง 8 ปีเต็ม
ภาพลักษณ์ผู้นำที่เข้มแข็งสมชายชาตรีของ ปูติน ยังถือว่าโดนใจชาวอิรักเข้าอย่างจัง เพราะแม้จะสิ้นยุคเผด็จการ ซัดดัม ฮุสเซน ไปนานถึง 12 ปี แต่ผู้คนที่นี่ก็ยังยึดติดค่านิยมผู้นำแกร่งอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในอิรักบางคนยกสถานะ “พลเมืองกิตติมศักดิ์” ให้ผู้นำรัสเซียไปแล้ว บ้างก็อ้างหลักฐานทางสัทศาสตร์เพื่อผูกโยงนามสกุล ปูติน ว่ามีที่มาจาก “อบู ตีน”
“เรื่องมันเป็นอย่างนี้... พ่อของ ปูติน เป็นพ่อค้าขายของชำจากชุมชนชีอะห์ทางภาคใต้ของอิรัก ใกล้ๆ เมืองนาซิริยาห์ เขาเป็นคนริเริ่มนำลูกมะเดื่อ ( “ตีน” (tin) ในภาษาอาหรับ) ไปขายในตลาดชุมชน ชาวบ้านเลยเรียกเขาว่า อบู ตีน”
“เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เขาก็ย้ายไปอยู่สหภาพโซเวียต และแต่งงานกับหญิงสาวผมบลอนด์ชาวรัสเซีย พอมีลูกชายก็ตั้งชื่อว่า อับดุลอามีร์ (Abdulamir) ซึ่งต่อมาชาวบ้านออกเสียงเพี้ยนเป็น วลาดิเมียร์”
เรื่องราวลักษณะนี้ถูกแชร์ต่อๆ กันในกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊ก จนบางคนถึงกับเรียกผู้นำรัสเซียว่า “ปูติน ผู้เป็นชาวชีอะห์” (Putin the Shiite) และใช้รูปถ่าย ปูติน มาเป็นภาพโปรไฟล์ของตัวเอง
“เราน่าจะมอบความเป็นพลเมืองอิรักและซีเรียให้แก่ ปูติน เพราะเขารักใคร่พวกเรามากกว่านักการเมืองของเราเองเสียอีก” โมฮัมเหม็ด อัล-บาฮัดลี นักศึกษามุสลิมชีอะห์ในเมืองนาจาฟ ให้สัมภาษณ์
“ชาติมุสลิมเข้ามาทิ้งบอมบ์ใส่เรา เพราะหาว่าเราเป็นรอฟีเฎาะห์ (ผู้เบี่ยงเบน) ” สะอัด อับดุลเลาะห์ เจ้าของร้านสะดวกซื้อในเมืองนาจาฟกล่าว
“แต่ ปูติน ซึ่งเป็นคริสต์ออร์โธดอกซ์กลับมาปกป้องพวกเรา... บางทีเขาอาจเป็นชีอะห์จริงๆ ก็ได้ แต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มกว้างขวาง
อาลี อัล-รอมมาฮี คนขับแท็กซี่ชาวอิรัก บอกว่า ปูติน เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เขายังไม่อพยพหนีตายตามผู้ลี้ภัยอีกหลายแสนคนไปยุโรป
“ขอบคุณ ปูติน ที่ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นที่จะอาศัยอยู่ในอิรักต่อไป”
“ฮัจญีปูติน ดีกว่า ฮุสเซน โอบามา” เขากล่าว