xs
xsm
sm
md
lg

“ไอเอ็มเอฟ” แนะรบ.ทั่วโลกเริ่มเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ลดโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
เอเอฟพี - คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวเตือนวานนี้ (7 ต.ค.) ว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลทั่วโลกจะหันมาใช้มาตรการเก็บ “ภาษีคาร์บอน” เพื่อลดภาวะโลกร้อน และระดมเงินทุนซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการเก็บภาษีคาร์บอน” ลาการ์ด กล่าวระหว่างการประชุมร่วมประจำปีระหว่างไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงลิมา เมืองหลวงเปรู

ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น ก่อนจะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กรุงปารีสในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งมุ่งหวังที่จะสร้างกลไกลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างครอบคลุมในระดับสากล เพื่อปกป้องโลกจากผลพวงของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากจะลดการก่อมลพิษแล้ว ลาการ์ดชี้ว่า การเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ ในช่วงเวลาที่หลายๆ ประเทศต้องหันไปพึ่ง “กันชนทางการคลัง” (fiscal buffers) ของตัวเองเพื่อก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซายาวนานไปให้ได้

“บรรดารัฐมนตรีคลังต่างก็คิดหาวิธีเพิ่มรายได้เข้ารัฐ และนั่นคือหน้าที่ของพวกเขา แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงยิ่งมีความสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากหลายประเทศนำกันชนทางการคลังออกมาใช้มากแล้ว... และทราบดีว่าจำเป็นต้องสร้างกันชนขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” ลาการ์ดกล่าว

บอสหญิงของไอเอ็มเอฟชี้ว่า รัฐบาลควรใช้ระบบเก็บภาษีดีกว่าที่จะพึ่งพาการค้าคาร์บอน (emission trading) ซึ่งหมายถึงการที่รัฐบาลให้สิทธิ์ในการแพร่คาร์บอนแก่บริษัทผู้ก่อมลพิษ และอนุญาตให้นำ “โควตา” เหล่านั้นมาซื้อขายในตลาดเปิดได้ โดยระบบการค้าคาร์บอนนี้เริ่มถูกนำมาใช้บ้างแล้วในสหภาพยุโรป

“ดิฉันเข้าใจดีว่า หลายท่านคงเลือกใช้ระบบการค้าคาร์บอน แต่เราเชื่อว่าการเก็บภาษีจากผู้ก่อพิษจะเป็นผลดียิ่งกว่า”

ลาการ์ดระบุว่า รายได้จากการเก็บภาษีคาร์บอนจะช่วยให้กลุ่มประเทศร่ำรวยบรรลุเป้าหมายในการระดมทุน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2020 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าในการบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยในรายงานล่าสุดว่า วงเงินระดมทุนทั่วโลกยังต่ำกว่าเป้าหมายอีก 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

ลาการ์ดระบุด้วยว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลทั่วโลกจะต้องเลิกนโยบายอุดหนุนพลังงาน ซึ่งไอเอ็มเอฟเตือนว่าจะทำให้โลกต้องสูญเสียเม็ดเงินไปถึง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หรือราวๆ 6.5% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก



กำลังโหลดความคิดเห็น