รอยเตอร์ - เครือข่ายแรงงาน IndustriALL ซึ่งมีสมาชิกราว 50 ล้านคนทั่วโลก ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) ที่นครเจนีวา โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงาน
หนังสือร้องเรียนซึ่งถูกส่งไปยังคณะกรรมการไอแอลโอว่าด้วยเสรีภาพแห่งการจัดตั้งสมาคม ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสิทธิพนักงานและแรงงาน รวมทั้งสิ้น 18 กรณี
“IndustriALL ซึ่งมีสหภาพแรงงานเครือข่าย 7 แห่งอยู่ในไทย ขอกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงาน 39 ล้านคน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector)” คำแถลงจาก IndustriALL วานนี้ (6 ต.ค.) ระบุ
องค์กรแรงงานกลุ่มนี้เคยผลักดันให้เกิดข้อตกลงว่าด้วยการดับเพลิงและความปลอดภัยอาคาร (Accord on Fire and Building Safety) หลังโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า รานา พลาซา ที่ชานกรุงธากาของบังกลาเทศพังถล่ม เมื่อเดือนเมษายน ปี 2013 จนเป็นเหตุให้แรงงานเสียชีวิตถึง 1,130 คน
ข้อตกลงซึ่งมีผลบังคับทางกฎหมายนี้ได้รับการลงนามจากบริษัทเครื่องนุ่งห่มและสหภาพแรงงานมากกว่า 150 แห่ง โดยกำหนดให้ทุกโรงงานต้องมีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยที่เป็นอิสระ และแถลงผลให้สาธารณชนรับทราบ
หายนะทางอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศและข้อตกลงที่ตามมา มีส่วนกระตุ้นบทบาทและความเชื่อมั่นของสหภาพแรงงานในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมห่วงโซ่อุปทานของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานซึ่งถือเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจให้ดียิ่งกว่านี้” ไจร์กี ไรนา เลขาธิการ IndustriALL ระบุในคำแถลง
“ในทำนองเดียวกัน บริษัทข้ามชาติก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้มีการล่วงละเมิดสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานและบริษัทสาขาของพวกเขาในไทย เพียงเพราะคิดว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี”
IndusTriALL ยังชี้ด้วยว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการให้เสรีภาพด้านการก่อตั้งสมาคม และการรวมกลุ่มต่อรองของแรงงานราว 75% ในประเทศ ซึ่งทำให้ไทยมีสัดส่วนสหภาพแรงงานต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียง 1.5%
“แรงงานจำนวนไม่น้อยถูกเลิกจ้างเมื่อออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ หรือพยายามรวมกลุ่มต่อรองกับนายจ้าง” IndustriALL ระบุ
“บางครั้งเมื่อศาลมีคำสั่งให้รับพนักงานเข้าทำงานใหม่ เจ้าของบริษัทก็มักจะละเลย หรือไม่ก็ใช้มาตรการกดดันต่างๆ จนแรงงานต้องลาออกไปเอง หรือในบางกรณีกระบวนการไต่สวนในชั้นศาลก็กินเวลานานมาก จนแรงงานต้องยอมรับเงินชดเชยและลาออก”