รอยเตอร์ – รัฐบาลทหารของไทยออกมาปกป้องประวัติด้านแรงงานของตนในวันนี้ (7) หลังจากที่เครือข่ายแรงงานสากลซึ่งมีสมาชิกราว 50 ล้านคนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกล่าวหารัฐบาลไทยว่าล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงาน 39 ล้านคนในประเทศ
หนังสือร้องเรียนที่เครื่อข่ายแรงงาน IndustriALL ยื่นต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในนครเจนีวาเมื่อวานนี้ (6) ประกอบด้วยรายละเอียดของกรณีการละเมิดสิทธิพนักงานและแรงงาน 18 กรณี
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อร้องเรียนดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยเขาบอกกับรอยเตอร์ว่า “รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับแรงงานในประเทศมาโดยตลอด เราได้จัดระบบแรงงานต่างชาติและท้องถิ่นเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้นไม่มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
“คำร้องเรียนของ IndustriALL ไม่เป็นความจริง” เขากล่าวเสริม และกล่าวต่อไปว่า “รัฐบาลชุดนี้จริงจังอย่างมากเรื่องการไม่ละเมิดสิทธิแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการประมง”
อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิในอุตสาหกรรมการประมงของไทยนั้นมีหลักฐานยืนยันอย่างแน่นหนา
นับตั้งแต่ปี 2014 สหรัฐฯได้จัดไทยอยู่ในเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons หรือ TIP) ประจำปีของสหรัฐฯ
กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯระบุในรายงาน TIP ปี 2015 ว่า แรงงานไทยและแรงงานผู้อพยพบางคนถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทย โดยบางคนประจำอยู่กลางทะเลเป็นเวลาหลายปีหรือแทบไม่ได้รับค่าจ้างเลย หรือไม่พวกเขาก็ถูกข่มขู่หรือถูกทุบตี
เมื่อวันจันทร์ (5) กลุ่มกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรีนพีช ได้เรียกร้องให้บริษัท Thai Union Group PCL ผู้ผลิตทุน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก ขจัดการทำประมงแบบทำลายล้างออกจากห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
ในวันนี้ (7) มีคนกว่า 200 คนมายื่นจดหมายต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยนอกสำนักนายกรัฐมนตรีในกรุงเทพ เรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดมากกว่านี้และขอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
IndustriALL เคยผลักดันให้เกิดข้อตกลงว่าด้วยการดับเพลิงและความปลอดภัยอาคาร (Accord on Fire and Building Safety) หลังโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า รานา พลาซา ที่ชานกรุงธากาของบังกลาเทศพังถล่ม เมื่อเดือนเมษายน ปี 2013 จนเป็นเหตุให้แรงงานเสียชีวิตถึง 1,130 คน
ข้อตกลงซึ่งมีผลบังคับทางกฎหมายนี้ได้รับการลงนามจากบริษัทเครื่องนุ่งห่มและสหภาพแรงงานมากกว่า 150 แห่ง โดยกำหนดให้ทุกโรงงานต้องมีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยที่เป็นอิสระ และแถลงผลให้สาธารณชนรับทราบ