เอเอฟพี - ราคาน้ำมันปิดทรงตัวในวันพุธ (30 ก.ย.) จากข้อมูลปิโตรเลียมที่ผสมผสานของสหรัฐฯ ส่วนวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นตามตลาดทุนยุโรปท่ามกลางความคาดหมายว่าอีซีบีอาจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ความเคลื่อนไหวอันคึกคักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฉุดให้ทองคำปิดลบแรง
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 14 เซ็นต์ ปิดที่ 45.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน เพิ่มขึ้น 14 เซ็นต์ ปิดที่ 48.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานในวันพุธ (30 ก.ย.) ว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 กันยายน เพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านบาร์เรล เป็น 457.9 ล้านบาร์เรล สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันกันของปีก่อนถึง 28 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งไปกว่านั้น คลังน้ำมันเบนซินสำรองก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้ว่าน่าจะลดลง ส่วนคลังน้ำมันกลั่นสำรอง ที่ประกอบด้วยดีเซลและน้ำมันทำความร้อน แม้จะลดลง แต่ก็น้อยกว่าที่คาดหมายไว้ บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอภายในชาติผู้บริโภครายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งราคาน้ำมันได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลการผลิตของสหรัฐฯ หลังกระทรวงพลังงานเผยว่ากำลังผลิตน้ำมันดิบของประเทศในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลง 40,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 9.096 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (30 ก.ย.) สิ้นสุดการซื้อขายในช่วงไตรมาส 3 ด้วยการปิดบวกอย่างแข็งแกร่ง เคลื่อนไหวตามตลาดทุนยุโรปและเอเชีย ท่ามกลางข่าวลือว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 235.57 จุด (1.47 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16.248.70 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 35.94 จุด (1.91 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,920.03 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 102.84 จุด (2.28 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,620.17 จุด
นักวิเคราะห์ระบุว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่อ่อนแอก่อความคาดหมายว่าธนาคารกลางยุโรปอาจลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ตลอดไตรมาส 3 ที่ผ่านพ้นไป ตลาดทุนโลกรวมถึงวอลล์สตรีท ถูกสั่นสะเทือนด้วยภาวะการเติบโตที่อ่อนแอในจีนและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกรอบเวลาที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย
ส่วนราคาทองคำในวันพุธ (30 ก.ย.) ขยับลง 4 วันติด แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ หลังตลาดหุ้นที่พุ่งทะยานและดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ดึงนักลงทุนบ่ายหน้าหนีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 11.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,115.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์