รอยเตอร์ - ทนายความของสองแรงงานผู้อพยพชาวพม่าที่ถูกกล่าวหาว่าสังหารนักเที่ยวอังกฤษ 2 คนบนเกาะเต่าร้องขอเวลามากขึ้นในวันนี้ (24 ก.ย.) เพื่อพิสูจน์ว่าลูกความของพวกเขาเป็นแพะรับบาปในคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญนี้
ฮานนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ วัย 20 ปีทั้งคู่ถูกทุบตีจนเสียชีวิตเมื่อหนึ่งปีที่แล้วบนเกาะเต่าทางภาคใต้ ก่อให้เกิดความกระแสความเดือดดาลในเมืองผู้ดี และจากการชันสูตรศพเผยว่า วิทเธอร์ริดจ์ยังถูกข่มขืนอีกด้วย
ทนายความกำลังพยายามโน้มนาวศาลว่า ซอ ลิน และ วิน ซอ ฮตุน ถูกใส่ร้ายโดยตำรวจที่อยู่ภายใต้แรงกดดันให้คลี่คลายคดีนี้ซึ่งได้รับความสนใจจากนานาชาติและทำลายภาพลักษณ์สวรรค์แห่งการท่องเที่ยวของไทย
ฝ่ายจำเลยมีเวลาสรุปสำนวนคดีอย่างคร่าวๆ จนถึงวันศุกร์ (25) แต่ นคร ชมพูชาติ หัวหน้าทีมทนายระบุว่า ประสบปัญหาในการโน้มนาวพยานมาให้ปากคำ เนื่องจากบางคนกลัวจะถูกแก้แค้นภายหลัง
“ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถได้ตัวพยานครบทุกคน (ก่อนถึงวันศุกร์)” เขาบอกกับผู้สื่อข่าวนอกศาลบนเกาะสมุย
“ปัญหาคือผู้ให้ข้อมูลของเราไม่กล้าที่จะขึ้นเป็นพยาน เนื่องจากพวกเขาบางคนยังทำงานอยู่บนเกาะเต่า”
ฝ่ายจำเลยกำลังพิสูจน์แย้งสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการสืบสวนอย่างไม่ปะติดต่อที่ถูกจับคู่เข้ากับการพิสูจน์หลักฐานที่ยังเป็นข้อถกเถียง, สถานที่เกิดเหตุที่ไม่สมบูรณ์ และการเลือกใช้คลิปวิดีโอเพื่อโยงใยผู้ต้องหา
ในวันนี้ (24) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนรายหนึ่งจะให้ปากคำเกี่ยวกับการสืบสวนของเขาเอง ซึ่งทนายทั้งสองกล่าวว่าได้เผยให้เห็นว่าผู้ต้องหาถูกตำรวจทารุณระหว่างการสอบปากคำ ขณะที่พยานอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตทนายความคาดว่าจะให้การว่าคำสารภาพจากผู้ต้องหามาจากการถูกบังคับ
ตำรวจยังคงยืนยันการสืบสวนของฝ่ายตนและนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าไม่มีการใช้วิธีนอกกฎหมายอย่างแน่นอน
ข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการประพฤติมิชอบของตำรวจได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ได้ยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยอมตกลงให้ตำรวจเมืองผู้ดีมาดำเนินการสืบสวนภายในด้วยตนเอง
ตำรวจอังกฤษปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายงานล่าสุดของพวกเขาต่อใครก็ตามนอกจากครอบครัวของเหยื่อตามเงื่อนไขที่มีการตกลงกันก่อนแล้ว
ชาวเมียนมาร์หรือที่เรียกกันในไทยว่าชาวพม่า ทำงานอยู่บนเกาะเต่า เกาะพงัน และเกาะสมุยเป็นจำนวนมาก พวกเขาเดินทางมาจากภาคใต้ของเมียนมาร์และข้ามคาบสมุทรแคบๆ ของไทย
แรงงานชาวพม่าราว 2.5 ล้านคนในประเทศไทยทำงานเพื่อส่งเงินจุนเจือครอบครัวที่บ้านเกิด พวกเขาจำนวนมากร้องเรียนว่าถูกข่มเหงรวมถึงถูกขู่กรรโชกจากตำรวจไทย