เอเอฟพี - มองโกเลียในวันนี้ (23 ก.ย.) มีการจัดเฉลิมฉลองครบรอบวันประสูติ 800 ปีของวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ กุบไลข่าน ต้นกำเนิดของความภาคภูมิใจอันแรงกล้าในประเทศซึ่งพยายามจะฉายให้เห็นประวัติศาสตร์ของตนเองหลังจากที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียและจีนมานานหลายศตวรรษ
การเฉลิมฉลองทั่วประเทศนานหนึ่งสัปดาห์เพื่อยกย่องผู้ปกครองจักรวรรดิแห่งศตวรรษที่ 13 ที่มีพื้นที่ติดต่อกันใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ได้จบลงด้วยการแสดงของนักเต้นระบำและนักดนตรีใต้อนุสาวรีย์ใหญ่ยักษ์ของ เจงกิสข่าน พระอัยกาของพระองค์ในกรุงอูลานบาตอร์
เอส.บายาร์ทซอกท์ หัวหน้าคณะรัฐบาล กล่าวว่า พิธีฉลองต่างๆ นี้ถูกจัดขึ้นเพื่อ “ยกย่องและให้เกียรติผลงานของ กุบไลข่าน ต่อมองโกเลียและประวัติศาสตร์โลก”
“มีช่วงเวลาหนึ่งที่เราต้องปฏิเสธประวัติศาสตร์ของเรา อย่างไรก็ตาม เส้นทางแห่งประชาธิปไตยที่มองโกเลียเลือกใหม่นี้ได้ทำให้ประชาชนชาวมองโกเลียสามารถฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของเราและเข้าใจมันได้”
จักรวรรดิมองโกลมีขอบเขตกว้างใหญ่ที่สุดหลังจากที่ กุบไลข่าน พิชิตจีนและสถาปนาราชวงศ์หยวนในปี 1271
กองทัพของมองโกลมีชื่อเสียงในเรื่องยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ความเร็ว และความเหี้ยมโหดเมื่อเผชิญกับการต่อต้าน การโอบล้อมและทำลายกรุงแบกแดดในปี 1258 เป็นที่โจษจันถึงเรื่องสังหารโหดในระดับที่มีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์
หลังจากใช้เวลาเกือบทั้งหมดของศตวรรษที่ 20 ในฐานะดินแดนบริวารของสหภาพโซเวียต ซึ่งปฏิเสธการยกย่องผู้นำดั้งเดิมจากยุคก่อนคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันบรรดาบุคคลสำคัญของจักรวรรดิมองโกลกำลังกลับมาอยู่ในกระแสความยกย่องชื่นชมอีกครึ่งหนึ่ง
“กุบไลข่านสร้างแผนที่ของเอเชียยุคใหม่และทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจโลก” แจ็ก เวเทอร์ฟอร์ด นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มองโกลบอกกับเอเอฟพี
“โลกในวันนี้ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างโดยเจงกิสข่าน และหลานชายของเขา กุบไลข่าน พวกเขาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา”
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของมองโกเลียกำลังจัดแสดงโบราณวัตถุจากยุคของ กุบไลข่าน และราชวงศ์หยวน รวมถึงอาวุธ ชุดเกราะ และเสื้อผ้าหรูหรา
“ในมองโกเลีย กุบไลข่าน เป็นที่รู้จักกันในฐานะข่านผู้ทรงปัญญา” Egiimaa Tseveendorj นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์กล่าว
“เจงกิสข่านเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำทางทหาร แต่กุบไลข่านเป็นกษัตริย์ผู้สร้างราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล ไม่เพียงแต่ด้วยการพิชิตเท่านั้น แต่ด้วยการบริหาร การเมือง การค้า การทูต วิทยาศาสตร์ ศาสนา และการผลิต” เธอกล่าว
“ในสมัยของกุบไลข่าน เส้นทางสายไหมซึ่งทำให้การค้าขายกับตะวันตกสะดวกยิ่งขึ้นได้ประสบกับยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง”