รอยเตอร์ - นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ยื่นฟ้องศาลในสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้า “นารุโตะ” ลิงกังดำ (created macaque) หายากจากเกาะสุลาเวสี ซึ่งเป็นเจ้าของภาพถ่ายเซลฟี “ลิงยิ้ม” อันโด่งดัง หลังภาพถ่ายดังกล่าวถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือสัตว์ป่าเพื่อแสวงหาผลกำไร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าลิงผู้เป็นเจ้าของ
องค์กรพิทักษ์สัตว์ People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) ระบุในเอกสารคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลแขวงซานฟรานซิสโกว่า นารุโตะ วัย 6 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตังโกโกบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย ได้ถ่ายรูปตัวมันเองเอาไว้หลายภาพเมื่อราว 4 ปีก่อน โดยใช้กล้องที่ช่างภาพชาวอังกฤษ เดวิด สเลเตอร์ เผลอวางทิ้งไว้ และหนึ่งในนั้นก็คือภาพยิ้มสู้กล้องที่แพร่หลายไปทั่วโลก
PETA ระบุว่า ภาพชุดลิงเซลฟีเป็นผลงานที่เกิดจาก “การกระทำโดยเจตนาของ นารุโตะ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จาก สเลเตอร์” ซึ่งเป็นเจ้าของกล้อง
“นารุโตะมีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของ และได้รับผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์ภาพชุดดังกล่าว... ในลักษณะและขอบเขตที่เท่าเทียมกับผู้ผลิตผลงานคนอื่นๆ”
ช่างภาพชาวอังกฤษเผยกับรอยเตอร์ว่า เขารู้สึก “งง” เมื่อรู้ว่าตัวเองถูกฟ้อง และคิดว่า PETA เพียงต้องการ “สร้างกระแส” เท่านั้น
สเลเตอร์ ระบุด้วยว่า รู้สึกผิดหวังที่เอ็นจีโอกลุ่มนี้ไม่พยายามติดต่อเขาก่อน และบอกว่าตนเป็นแค่นักถ่ายภาพสัตว์ป่าธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีรายได้แทบจะไม่พอกิน
“ผมเห็นด้วยที่ว่าสัตว์ควรจะมีสิทธิในทรัพย์สินบ้างในบางกรณี แต่ไม่ได้หมายถึงการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์” สเลเตอร์ ให้สัมภาษณ์ทางอีเมล
“ผมรู้สึกว่าพวกเขากำลังพยายามทำให้ผมกลายเป็นอาชญากร มากกว่าคนๆ หนึ่งที่รักและต่อสู้เพื่อสัตว์... ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร”
PETA ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สเลเตอร์, บริษัท Wildlife Personalities ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขา รวมถึงบริษัท Blurb Inc. ในรัฐเดลาแวร์ ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือที่มีภาพชุดลิงเซลฟีออกวางจำหน่ายในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยได้นำภาพที่เจ้านารุโตะฉีกยิ้มมาเป็นภาพหน้าปกหนังสือด้วย
PETA อ้างว่า พวกเขาเป็นตัวแทนยื่นฟ้องในนามของนารุโตะ เนื่องจากมัน “ไม่สามารถเข้าถึง (กระบวนการยุติธรรม) และไม่มีความสามารถ”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งนี้ ระบุด้วยว่า ศาลมีสิทธิ์ที่จะพิพากษาคดีนี้ได้ เพราะหนังสือถูกวางจำหน่ายในสหรัฐฯ อีกทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1976 “ก็มีเนื้อหากว้างพอ... ที่จะขยายความคุ้มครองไปสู่ผลงานต้นฉบับทุกประเภท รวมถึงภาพที่ นารุโตะ เป็นผู้ถ่าย”
ลิงกังดำสุลาเวสีมีชื่อในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยถูกจัดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ปัจจุบันมีประชากรลิงชนิดนี้อาศัยอยู่บนเกาะสุลาเวสีเพียง 4,000-6,000 ตัว
PETA ระบุว่า ลิงกังดำสุลาเวสีมีจำนวนลดลงเกือบ 90% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่บุกรุกเข้าไปในป่าฝนซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของมัน
PETA ขอให้ศาลประกาศให้ นารุโตะ เป็นผู้ผลิตและเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพถ่ายชุดลิงเซลฟี และให้จำเลยต้องจ่ายค่าละเมิดลิขสิทธิ์แก่เจ้าลิงตัวนี้ ทั้งยังขอให้ศาลแต่งตั้ง PETA และ ดร. แอนต์เจ เอนเกลฮาร์ดต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวานรและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูง จากมหาวิทยาลัยจอร์จ-ออกัสต์ เมืองกอตทินเกน ประเทศเยอรมนี เป็น “ผู้จัดการลิขสิทธิ์” ในนาม นารุโตะ โดยมีเงื่อนไขว่า ผลกำไรที่ได้ทั้งหมดจะต้องถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของมันและประชากรลิงกังดำสุลาเวสี “รวมถึงเพื่อปกป้องถิ่นที่อยู่ของพวกมัน”