xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นผู้ลี้ภัยนับพันเบนเข็มสู่โครเอเชีย หลังฮังการีปิดพรมแดน-ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้อพยพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้อพยพที่ได้รับบาดเจ็บอุ้มเด็กคนหนึ่งเอาไว้ ขณะเกิดการปะทะกันในวันพุธ (16 ก.ย.) ระหว่างผู้อพยพกับตำรวจปราบจลาจลฮังการี ที่บริเวณจุดข้ามพรมแดนระหว่างเมืองรอสซี ของฝั่งฮังการี กับ เมืองฮอร์กอส  ของฝั่งเซอร์เบีย
เอเจนซีส์ - ผู้อพยพหลายพันคนเปลี่ยนเส้นทางไปยังโครเอเชียเพื่อใช้เป็นทางผ่านสู่ยุโรปตอนเหนือ หลังฮังการีปิดพรมแดนและใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด อันนำไปสู่การปะทะกับผู้อพยพที่พยายามพังรั้วรวดหนามที่กั้นพรมแดนอยู่ ด้านยูเอ็นออกแถลงประณาม ชี้รับไม่ได้ที่บูดาเปสต์ต้อนรับผู้ที่หนีภัยสงครามมาพึ่งด้วยแก๊สน้ำตา

สถานีทีวีเอชอาร์ทีของรัฐบาลโครเอเชียรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ก.ย.) ว่า มีผู้อพยพราว 6,200คนเดินทางจากเซอร์เบียถึงโครเอเชียในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ขณะที่สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติแถลงว่า ผู้ลี้ภัยประมาณ 4,000-5,000 คน พยายามขึ้นรถไฟไปยังเมืองซาเกรบ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของโครเอเชีย เพื่อเดินทางต่อสู่ยุโรปตอนเหนือ หลังจากที่ฮังการีปิดพรมแดนและเริ่มใช้กฎเหล็กสกัดผู้อพยพเมื่อวันอังคาร (15) จนกระทั่งเกิดเหตุรุนแรงในวันต่อมา

รายงานระบุว่า ในวันพุธ (16) ผู้อพยพหลายร้อยคนซึ่งชุมนุมกันอยู่ทางฟากเซอร์เบีย ได้พยายามพังรั้วลวดหนามที่กั้นระหว่างเซอร์เบียกับฮังการี ณ จุดผ่านแดนฮอร์กอส-รอซกี ขณะที่ตำรวจฮังการีเข้าสกัดกั้นจนเกิดการปะทะกันอยู่หลายชั่วโมง

บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สประชาชาติ แถลงว่า “ช็อก” และ “รับไม่ได้” ที่ตำรวจฮังการียิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่ผู้อพยพ

ส่วน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งยูเอ็น เรียกร้องให้ฮังการีรับประกันว่า ผู้อพยพที่หนีภัยสงครามมาสามารถข้ามแดนได้อย่างอิสระ
เหล่าผู้อพยพเบียดเสียดกันขึ้นรถบัสที่เมืองโทวาร์ริค ของโครเอเชียในวันพฤหัสบดี(17ก.ย.) ทั้งนี้ผู้อพยพหลายพันคนเปลี่ยนเส้นทางมายังโครเอเชียเพื่อใช้เป็นทางผ่านสู่ยุโรปตอนเหนือ หลังฮังการีปิดพรมแดนและใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด อันนำไปสู่การปะทะกับผู้อพยพที่พยายามพังรั้วรวดหนามที่กั้นพรมแดนอยู่
ด้านนายกรัฐมนตรีอเล็กซานดาร์ วูสิกของเซอร์เบีย กล่าวหาฮังการี “โหดร้าย” และ “ไม่เป็นยุโรป”

วูสิกยังเรียกร้องให้อียูดำเนินการเพื่อให้ฮังการีควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบค่านิยมของยุโรป ไม่เช่นนั้น เซอร์เบียจะหาทางปกป้องพรมแดนของประเทศและค่านิยมของยุโรปเอง

เซอร์เบียนั้นมีแผนเพิ่มกำลังตำรวจตามแนวชายแดนที่ติดกับฮังการี เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ผู้อพยพหาทางลอดผ่านรั้วลวดหนามของฮังการี ขณะที่ทางฮังการีส่งรถฮัมวีทหารติดปืน 3 คัน ประจำอยู่ในฝั่งของตน

ด้านฮังการีแก้ต่างว่า ตำรวจของตนได้รับบาดเจ็บกว่าสิบคนจากผู้อพยพที่ขว้างปาก้อนหิน ท่อนไม้ และขวดน้ำใส่ พร้อมกล่าวหาผู้อพยพว่า ใช้เด็กเป็น “โล่มนุษย์”

นอกจากนั้น จิออร์จี บาคอนดี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน ของฮังการี ยังแถลงว่า ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อการร้ายได้ 1 คน จากผู้อพยพ 29 คนที่ถูกจับกุมระหว่างการก่อจลาจลดังกล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฮังการีและเซอร์เบียเผยว่า มีผู้อพยพได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน ล่าสุดในวันพฤหัสบดี สถานการณ์ในจุดผ่านแดนดังกล่าวกลับคืนเป็นปกติแล้ว โดยที่ผู้อพยพดูจะทราบข่าวและพากันหันไปใช้ส้นทางมุ่งสู่ตอนเหนือของยุโรป ผ่านทางโครเอเชีย

สำหรับที่โครเอเชีย เวสนา พูสิก รัฐมนตรีต่างประเทศแถลงว่า ประเทศของเขาเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากมาตรการปิดพรมแดนของฮังการี แต่ยอมรับว่า สามารถรองรับผู้อพยพได้เพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น
ตำรวจโครเอเชียกำลังพูดคุยกับผู้อพยพขณะกำลังเดินอยู่บนรารถไฟใกล้เมืองโทวาร์นิค ทั้งนี้ตำรวจเผยว่ามีผู้ลี้ภัยเดินทางจากเซอร์เบีย มายังโครเอเชียแล้วมากกว่า 5,000 คน นับตั้งแต่ฮังการีปิดพรมแดนทางใต้ติดกับเซอร์เบียในวันอังคาร(15ก.ย.)
ต่อมาในวันพฤหัสบดี นายกรัฐมนตรี โซรัน มิลาโนวิช ของเซอร์เบีย ก็กล่าวย้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรีของเขาว่า เซอร์เบียจะใช้หนทางอันสร้างสรรค์และมุ่งเน้นความร่วมมือในปัญหาผู้อพยพนี้ แต่ประเทศของเขาก็มีศักยภาพอันจำกัด ในขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุข ซินิซา วาร์กา คาดการณ์ว่าจำนวนจะเป็น 20,000 คนในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม ทางการโครเอเชียเองระบุว่า เพียงแค่เพียง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้อพยพเดินทางเข้ามาเป็นจำนวน 6,200 คนแล้ว

วิกฤตผู้อพยพครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังกดดันให้สหภาพยุโรป (อียู) จัดการประชุมสุดยอดเพื่อหาทางออก ท่ามกลางความขัดแย้งของสมาชิก 28 ชาติ ขณะที่นโยบายยุโรปไร้พรมแดนภายใต้ “ข้อตกลงเชงเกน” สั่นคลอนอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเยอรมนี ออสเตรีย และสโลวาเกีย รื้อฟื้นการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองที่จุดผ่านแดน ขณะที่โปแลนด์และเนเธอร์แลนด์กำลังพิจารณาใช้กลไกนี้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดี โดนัลด์ ทัสค์ ประธานอียูจะประกาศการตัดสินใจว่า จะเรียกประชุมผู้นำชาติสมาชิกหรือไม่

วันเดียวกันนั้น รัฐสภายุโรปในบรัสเซลส์จะจัดการลงมติพิเศษเกี่ยวกับการโยกย้ายผู้อพยพ 120,000 คนออกจาก “ประเทศด่านหน้า” คือกรีซ ฮังการี และอิตาลี หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยอียูไม่สามารถบรรลุข้อตกลงโควตารับผู้อพยพเหล่านี้ได้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14)


กำลังโหลดความคิดเห็น