เอเจนซีส์ - อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ให้ความเห็นว่า เยอรมันเลือกที่จะยอมให้อังกฤษลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปมากกว่าจะปล่อยให้เดวิด คาเมรอน ฉีกนโยบายการเคลื่อนย้ายเสรีของสหภาพยุโรป หลังผู้นำมหาอำนาจยุโรปทั้งสองปะทะทางความคิดในการประชุมสุดยอมที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในเดือนตุลาคม 2014
เดลิเมล สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(2)ว่า มีรายงานข่าวจากวงในที่นำเสนอโดยนิตยสารเยอรมัน"แดร์ ชปีเกิล" ว่า นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษต้องทบทวนการเผชิญหน้ากับสหภาพยุโรปในความพยายามที่จะรวมกลุ่มเพื่อคว่ำนโยบายเสรียุโรป ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับอังกฤษที่มีผู้อพยพจากประเทศอียูในยุโรปตะวันออกแห่ทะลักเข้ามาทำงานในอังกฤษเป็นจำนวนมาก และทำให้ชาวอังกฤษต้องตกงาน
แหล่งข่าวได้เผยกับแดร์ชปีเกิลว่า อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้เตือนคาเมรอนในการประชุมซัมมิต ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในเดือนตุลาคม ล่าสุดว่า “ไม่มีจุดหวนกลับ” หากจะยังเดินหน้าขัดขวางการเป็นหนึ่งเดียวของสหภาพยุโรปต่อไป ซึ่งคาเมรอนต้องการเสนอแนวคิดตั้งโควต้าสำหรับพลเมืองสหภาพยุโรปที่จะสามารถเดินทางเข้าไปยังอังกฤษได้
โดยแหล่งข่าวระดับสูงเยอรมันเผยต่อว่า แมร์เคิลยินดีที่จะให้อังกฤษลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพหากคาเมรอนยังต้องการให้อังกฤษสามารถตั้งข้อจำกัดจำนวนของประชาชนในประเทศสมาชิกที่สามารถเดินทางเข้าอังกฤษได้
“เกือบหมดเวลาในการหว่านล้อมแล้ว อังเกลา แมร์เคิล รู้สึกว่าเธอได้ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อจะทำให้อังกฤษเปลี่ยนใจ และจะไม่ยอมรับการฉีกกฎหมายการเคลื่อนย้ายเสรีจากสมาชิกประเทศไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดทั้งสิ้น และผู้นำเยอรมันคาดว่า เธอจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด” สถานีวิทยุบาวาเรียอ้างคำพูดของแหล่งข่าวระดับสูงของรัฐบาลเยอรมัน
ซึ่งรายงานชิ้นนี้ถูกเปิดเผยท่ามกลางข่าว คาเมรอนเลือกที่จะทิ้งนโยบายการใช้โควต้าเข้าอังกฤษเพื่อเอาในแมร์เคิล โดยทางอังกฤษเลือกที่จะปรับรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงานอังกฤษในประเทศ
นอกจากนี้แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่า คาเมรอนจะแถลงเปิดกรอบแนวคิดนี้ก่อนคริสมาสที่จะมาถึง โดยเขาจะพยายามที่ใช้กรอบของนโยบายเคลื่อนย้ายเสรียุโรปเป็นตัวตั้ง แต่อังกฤษจะใช้กฎหมายตัวเองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศในช่องโหว่ของนโยบายนี้เท่าที่จะทำได้
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การกำหนดให้ชาวยุโรปที่จะเดินทางเข้ามาตั้งรกรากในอังกฤษจะต้องมีงานรับรองอยู่ก่อนแล้ว และหากใครก็ตามที่มีปัญหาด้านการเงิน และไม่สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้ด้วยความสามารถตนเอง จะถูกส่งออกนอกประเทศหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว และเป็นที่เชื่อกันว่า คาเมรอนจะปรึกษากับแมร์เคิลก่อนที่เขาจะประกาศแถลงการณ์นี้ออกมาสู่สาธารณะ
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวเยอรมันไม่ปฎิเสธการรายงานของแดร์ ชปีเกิลในคืนวันเสาร์(1) แต่แหล่งข่าวเลือกที่จะย้ำว่า ผู้นำเยอรมันยังคงสนับสนุนทั้งนโยบายการเคลื่อนย้ายเสรีสหภาพยุโรป และการยังคงเป็นสมาชิกของสหราชอาณาจักรอังกฤษ
ด้านโฆษกถนนดาวนิงสตรีทแถลงโต้ว่า “นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์อังกฤษ เหมือนดังเช่นได้เคยตอกย้ำหลายครั้งในอดีต”
แต่นักวิจารณ์ต่างให้ความเห็นว่า การเตือนของแมร์เคิลชี้ถึงสถานภาพที่อ่อนแอของเดวิด คาเมรอน
จาค็อบ เรซ - มอกก์ (Jacob Rees-Mogg) สมาชิกผู้แทนราษฎรอังกฤษจากพรรครัฐบาลที่ตำหนิเดวิด คาเมรอน ว่าทำตัวปวกเปียกคล้ายแมงกะพรุนที่ยอมยกอำนาจทุกอย่างให้กับสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ โดยหลังจากก่อนหน้านี้คาเมรอนเคยต่อต้าน “หมายจับสหภาพยุโรป” หรือ European arrest warrant แต่ทว่าในปัจจุบันนายกรัฐมนตรีอังกฤษแสดงความต้องการที่จะนำอังกฤษเข้าร่วมอีกครั้ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าวิธีการบริหารประเทศของเดวิด คาเมรอนนั้นเป็นไปอย่างสิ้นหวัง เพราะการใช้อำนาจของตนเองนั้นจะสามารถทำให้อังกฤษเนรเทศผู้กระทำผิดออกนอกประเทศได้เองโดยไม่ต้องรับการอนุญาตจากบรัสเซลส์แต่อย่างใด
และ เรซ – มอกก์ ยังกล่าวถึงนโยบายคนเข้าเมืองอังกฤษของคาเมรอนว่า มีความสงสัยว่าคาเมรอนจะทำได้อย่างที่เขาจะประกาศไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม อดีตรัฐมนตรียุติธรรมอังกฤษ และประธานสภาสูงอังกฤษ จากพรรคคอนเซอร์เวตีฟของอังกฤษ ให้ความเห็นปกป้องคาเมรอนในรายการของบีบีซี “Sunday Politics” ว่า “นายกรัฐมนตรีอังกฤษทราบดีว่านโยบายโยกย้ายเสรีนั้นมีความสำคัญเพียงใดกับสหภาพยุโรป เพราะทั้งบริษัทสัญชาติอังกฤษ บริษัทเครือข้ามชาติ จะพากันโกรธเกรี้ยวหากรัฐบาลอังกฤษขัดขวางนโยบายยุโรปเป็นหนึ่งเดียว”
และสื่ออังกฤษรายงานตบท้ายว่า ในการศึกษาพบว่า อังกฤษถือเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรปยักษ์ใหญ่ แต่ยังแพ้สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ที่สองประเทศนี้ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพด้วย
ทั้งนี้ประชาชนที่อยู่ในสมาชิกสหภาพยุโรปที่อพยพเข้ามาหางานในอังกฤษมักขอรับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมกับอังกฤษ รวมไปถึง บ้านพัก เงินชดเชยการว่างงาน หรือแม้แต่ด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องแบกภาระเป็นอย่างมาก และทำให้ประชาชนอังกฤษที่เป็นผู้จ่ายภาษี และถูกผู้อพยพเหล่านี้แย่งงานต่างไม่พอใจ