เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ทูตเมืองเบียร์ชี้ จีนต้อง “โปร่งใส” และ “ยุติธรรม” ในการตรวจสอบบริษัทต่างชาติกรณีผูกขาดตลาด มิเช่นนั้นนักธุรกิจนักลงทุนอาจเหนื่อยหน่ายย้ายหนีไปที่อื่น
ไมเคิล คลอสส์ (Michael Clauss) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศจีน กล่าวเมื่อวันอังคาร (7 ต.ค.) ว่า หากจีนต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ต้องปรับปรุงกระบวนการสอบสวนกรณีผูกขาดตลาดให้มีความโปร่งใสและเป็นไปตามหลักนิติธรรม
ทั้งนี้ นักการทูตเมืองเบียร์ออกมาแสดงความเห็นในช่วงเวลาเดียวกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เริ่มการเดินทางเยือนยุโรป ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลที่ไต่สูงขึ้นเกี่ยวกับการตรวจสอบการผูกขาดตลาดของทางการแดนมังกร ซึ่งดูจะพยายามมุ่งโจมตีบริษัทต่างชาติเป็นหลัก
นายหลี่จะร่วมโต๊ะประชุมรัฐบาลเยอรมัน-จีน ที่กรุงเบอร์ลินในวันนี้ จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังประเทศรัสเซีย โดยปิดท้ายทริปท่องยุโรปหลังจากเสร็จสิ้นการเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป ณ กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ในวันพฤหัสบดี (16 ต.ค.) นี้
คลอสส์ กล่าวต่อว่า หลี่จะเสวนากับนางแองเกลลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ในประเด็นทางกฎหมายไปจนถึงความยุติธรรมและการปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทต่างชาติในจีน ซึ่งกำลังตกอยู่ใต้กระดานสอบสวนครั้งใหญ่ โดยเดือน ก.ย. โฟลค์สวาเกน (Volkswagen) และไครสเลอร์ (Chrysler) สองบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลก ถูกตัดสินโทษปรับ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฐานร่วมกันกำหนดราคาขายรถยนต์ในท้องตลาดจีน
แม้ว่านายกฯ หลี่ ยืนยันว่า การสอบสวนการผูกขาดตลาดมุ่งที่บริษัทสัญชาติจีน แต่คลอสส์อ้างรายงานของสื่อหลายสำนักว่า บริษัทต่างชาติคือเป้าหมายหลักของงานนี้ โดยหอการค้ายุโรปในจีนออกโรงตำหนิว่า จีนปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม
“เป็นเรื่องถูกต้องที่จีนออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด แต่สาระสำคัญอยู่ที่บังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นอย่างไร” คลอสส์กล่าว “ความคลุมเครือคือ บริษัทที่ถูกกล่าวหาสามารถนำเรื่องขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลได้ไหม และยังมีประเด็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐสามแห่ง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป และสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าแห่งรัฐอีก”
“คำถามคือเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร ... เท่าที่ผมทราบ บางบริษัทกักเก็บไม่พอใจความไม่โปร่งใสในการสอบสวนมาตลอด”
“คำตอบทั้งหมดคงอยู่ในหลักนิติธรรมของจีน” ทูตเยอรมันกล่าว “การลงทุนจากภายนอกประเทศจะหลั่งไหลเข้าสู่จีนมากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการใช้กรอบกฎหมายที่โปร่งใส ชัดเจน และมั่นคง”
อย่างไรก็ดี คลอสส์ปฏิเสธจะตอบว่า ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยเรื่องฮ่องกงหรือไม่ โดยบอกเพียงว่าแองเกลลาและหลี่จะหารือในประเด็นสิทธิมนุษยชนและความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น นโยบายต่างประเทศ และภาคการเงิน เป็นต้น
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลเบอร์ลินต้องการให้ปักกิ่งช่วยเล่นเกมกดดันมอสโคว์ในกรณีวิกฤตยูเครน เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก ทำให้รัสเซียสนิทใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น นำไปสู่ความกังวลว่า รัสเซียจะลงดาบฟันยุโรปพ้นจากเส้นทางสู่ตลาดการค้าแดนหมีขาว