รัฐบาลท้องถิ่นแคว้นคาตาโลเนียเตรียมผลักดันกระบวนการเรียกร้องเอกราชจากสเปนต่อไป หลังประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนได้พร้อมใจกันลงประชามติเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนกระบวนการแยกประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลแดนกระทิงดุยืนกรานไม่ยอมรับผลประชามติคาตาลัน ซ้ำยังตอกกลับว่าโหวตไปก็ “ไร้ประโยชน์”
ประธานาธิบดี อาร์ตู มาส แห่งแคว้นคาตาโลเนีย กล่าวถึงผลประชามติว่าเป็น “ความสำเร็จอย่างงดงาม” เมื่อผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่เห็นชอบให้แคว้นที่ร่ำรวยแห่งนี้แยกตัวเป็นอิสระ แม้จะไร้ผลทางกฎหมายเพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสเปนสั่งห้ามไว้ก่อนแล้วก็ตาม
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวคาตาลันถูกตั้งคำถาม 2 ข้อ ข้อแรกคือ “ท่านต้องการให้แคว้นคาตาโลเนียเป็นรัฐหรือไม่” และหากผู้ตอบคำถามยืนยันว่าใช่ คำถามข้อต่อไปก็คือ “ท่านต้องการให้รัฐดังกล่าวเป็นรัฐเอกราชหรือไม่”
มาส แถลงที่เมืองบาร์เซโลนาหลังปิดหีบลงคะแนนว่า “อีกครั้งที่พลเมืองชาวคาตาโลเนียได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเราต้องการปกครองตนเอง นี่คือความมุ่งมาดปรารถนาที่เรามีมานานนับร้อยๆ ปี และยังเป็นความหวังอันแรงกล้า”
รัฐบาลคาตาโลเนียแถลงเมื่อวันจันทร์(10)ว่า การทำประชามติเชิงสัญลักษณ์มีประชาชนเข้าร่วมราว 2.3 ล้านคน เกินว่าตัวเลข 2.25 ล้านที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ และผู้ลงคะแนน 80.7% สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช
แม้ไม่มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลท้องถิ่นแคว้นคาตาโลเนียระบุว่า ชาวคาตาลัน 5.4 ล้านคน และผู้พำนักชาวต่างชาติที่อายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถร่วมโหวตได้
รัฐบาลอนุรักษนิยมสเปนไม่ยอมรับการแยกตัวเป็นอิสระของแคว้นคาตาโลเนีย ซึ่งความมั่งคั่งถูกนำไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่ง่อยเปลี้ยของสเปนคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ขณะที่บรรดาพรรคการเมืองที่ต่อต้านขบวนการเรียกร้องเอกราชคาตาลันก็รณรงค์ให้ฐานเสียงของตนอย่าออกไปใช้สิทธิ์
มาส ยืนยันว่า รัฐบาลของเขาจะยังคงเดินหน้าผลักดันไปสู่การทำประชามติอย่างเป็นทางการ และจะขอร้องนานาชาติให้ช่วยเกลี้ยกล่อมรัฐบาลสเปนให้โอนอ่อนผ่อนตามด้วย
ราฟาเอล คาตาลา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสเปน ได้ออกมาปฏิเสธผลประชามติของแคว้นคาตาโลเนีย โดยชี้ว่าเป็นกิจกรรมที่ “ไร้ผลและไม่มีประโยชน์” เพราะแม้จะเกิดจากความสมัครใจของประชาชน แต่ก็ขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ผลประชามติที่ออกมาไม่ได้สะท้อนว่าชาวคาตาลันส่วนใหญ่หนุนการแยกตัวเป็นเอกราชโดยสิ้นเชิง เพราะจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ยังน้อยกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2012 แต่ถึงกระนั้นก็ช่วยให้ มาส มีอำนาจต่อรองกับนายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย แห่งสเปนมากขึ้น
ประชากรราว 7.5 ล้านคนในแคว้นคาตาโลเนียมีภาษาพูดและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เศรษฐกิจอันมั่งคั่งของแคว้นแห่งนี้ยังคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของสเปนทั้งประเทศ
“สก็อต-คาตาลัน” ความเหมือนที่แตกต่าง
ทั้งสกอตแลนด์และแคว้นคาตาโลเนียต่างมีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชที่คึกคักและแข็งแกร่ง แต่เส้นทางและเป้าหมายของประชาชนทั้ง 2 แห่งยังมีความแตกต่างเป็นที่น่าสังเกต
เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศูนย์เพื่อการศึกษานโยบายยุโรป (Centre for European Policy Studies) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ได้เปิดเวทีเสวนาเพื่อถกกันถึงสาเหตุที่สกอตแลนด์และแคว้นคาตาโลเนียต้องการเป็นอิสระจากอังกฤษและสเปน ตลอดจนโอกาสที่ทั้ง 2 ดินแดนจะได้กลายเป็นรัฐอิสระ และเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของอียู
สกอตแลนด์และคาตาโลเนียมีความเหมือนตรงที่ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวแยกประเทศสามารถปลุกระดมมวลชนส่วนใหญ่ในสังคมให้เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขา และคนกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นพวกฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านการปกครองโดยรัฐบาลกลางกรุงลอนดอนและมาดริด ซึ่งมีนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมกุมอำนาจอยู่
ทั้งชาวสก็อตและชาวคาตาลันต่างอ้างว่า พวกเขาเคยดำรงอยู่เป็นประเทศเอกราช ก่อนที่สหราชอาณาจักรและสเปนจะถือกำเนิดขึ้นด้วยซ้ำ
ชาวสก็อตและชาวคาตาลันยังรู้สึกคับแค้นที่ไม่สามารถมีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐบาลกลางได้อย่างเต็มที่ และไม่พอใจวิธีที่รัฐบาลนำเงินภาษีของพวกเขาไปใช้จ่าย
ในส่วนของประชาชนผู้มีสิทธิ์โหวต ทั้งคาตาโลเนียและสกอตแลนด์ได้ลดอายุขั้นต่ำจาก 18 ลงมาเหลือเพียง 16 ปี แต่ในขณะที่สกอตแลนด์อนุญาตให้ผู้พำนักทุกประเภทร่วมโหวตได้ คาตาโลเนียกลับตั้งเงื่อนไขว่าพลเมืองอียูที่พำนักอยู่ในคาตาโลเนียไม่ต่ำกว่า 1 ปีเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์โหวต และหากไม่ใช่พลเมืองอียูก็จะต้องพำนักอยู่ไม่น้อยกว่า 3 ปี
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของขบวนการเรียกร้องเอกราชทั้ง 2 แห่งก็คือ รัฐบาลอังกฤษตกลงที่จะยอมให้สกอตแลนด์เจรจาแยกตัวเป็นเอกราชได้ หากผลประชามติในวันที่ 18 กันยายนพบว่าชาวสก็อตส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้น ในขณะที่รัฐบาลสเปนไม่ยอมรับการทำประชามติของชาวคาตาลันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
“ทั้งอังกฤษและสกอตแลนด์สมควรได้รับการชมเชยในข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงลอนดอนซึ่งอำนวยความสะดวกต่อกระบวนการและหลักปฏิบัตินิยมนี้อย่างเต็มที่ ยุโรปควรจะภาคภูมิใจ เพราะเราไม่ค่อยได้เห็นข้อพิพาทดินแดนถูกแก้ปัญหาในลักษณะนี้เลย” นิโคลา แม็คอีเวน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าว
ในส่วนของสเปน รัฐบาลมาดริดปฏิเสธที่จะเจรจากับบาร์เซโลนาโดยสิ้นเชิง โดยอ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ห้ามการแบ่งแยกประเทศ และการทำประชามติใดๆ ที่เกิดขึ้นจะถือว่าไม่มีผลทางกฎหมาย
“ชาวเคลต์ (สก็อต) แตกต่างจากพวกเรา ชาวคาตาลันเป็นชาวยุโรปใต้ และนั่นหมายความว่าเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมีส่วนสำคัญยิ่ง ไม่เฉพาะกับชาวคาตาลันเท่านั้น แต่ในฝั่งของสเปนด้วย” โรเจอร์ อัลบินยานา ไอ ไซกี เลขาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศและอียูของรัฐบาลท้องถิ่นคาตาโลเนีย ระบุ พร้อมชี้ว่า การที่รัฐบาลสเปนไม่จัดการปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่พยายามเสนอข้อแลกเปลี่ยน และเปิดโอกาสให้ชาวคาตาลันได้เผยความความรู้สึกของพวกเขา เป็นเหตุให้กรุงมาดริดไม่ได้รับความเห็นใจจากชาติยุโรปอื่นๆ
ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในสกอตแลนด์ยังเกิดขึ้นมานานก่อนชาวคาตาลัน โดย มงต์เซอร์ราต์ กีแบร์โน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน อธิบายว่า กระแสเรียกร้องเอกราชในคาตาโลเนียเพิ่งจะมาแรงหลังปี 2006 โดยเกิดจากความไม่พอใจนโยบาย neocentralist ของรัฐบาลสเปน