xs
xsm
sm
md
lg

โอบามายินดี-อียูโล่งคนสกอตโหวตอยู่ในUKหลังเกรงยุโรปล้มเป็นโดมิโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ในวันศุกร์(19ก.ย.) ชื่นชมการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และทรงพลังของชาวกอตแลนด์ พร้อมแสดงความยินดีที่ผลประชามติปฏิเสธแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร ส่วนสหภาพยุโรปโล่งอกอย่างที่สุด คลายกังวลว่ามันอาจส่งผลกระทบแบบโดมิโนต่อทวีปแห่งนี้ ขณะที่ในส่วนของผู้แพ้อย่างนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่ง

"เราไม่มีพันธมิตรรายใดที่ใกล้ชิดกันมากไปกว่าสหราชอาณาจักร เรากำลังมองไปยังการเดินหน้าสานสัมพันธ์อันแข็งแกร่งและพิเศษกับประชาชนชาวสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ วันนี้เราจะได้หันไปจัดการความท้าทายต่างๆที่โลกกำลังเผชิญ"

จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันพฤหัสบดี(18ก.ย.) พบว่าร้อยละ 55.30 โหวต "โน" หรือเลือกอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป ส่วนโหวต "เยส" หรือต้องการแยกตัวเป็นเอกราช มีคะแนนเสียงร้อยละ 44.70

วอชิงตันชื่นชมการลงประชามติครั้งนี้ที่เป็นไปอย่างสันติและเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นของชาวสกอตแลนด์ที่ออกมาใช้สิทธิ์กันเป็นจำนวนมาก "ประชามติครั้งนี้ผ่านการดีเบท สนทนาและกระตือรือร้นใคร่ครวญอย่างสันติ พวกเขาทำให้โลกระลึกว่าสกอตแลนด์คือผู้สนับสนุนสำคัญของสหราชอาณาจักรและของโลก" โอบามากล่าว

ด้านยุโรป หายใจอย่างผ่อนคลายในวันศุกร์(19ก.ย.) หลังจากชาวสกอตแลนด์ ปฏิเสธแยกตัวจากสหราชอาณาจักร ด้วยก่อนหน้านี้มีความกังวลว่ามันจะส่งผลกระทบแบบโดมิโนต่อทวีปและก่อความเสี่ยงว่าสหราชอาณาจักรอาจจะออกจากอียู

หลายประเทศในยุโรปอยู่ในอาการตื่นตระหนกก่อนหน้าการลงประชามติ ด้วยกังวลว่าจะที่ว่างในอียูและนาโต้แก่สกอตแลนด์ที่แยกตัวเป็นเอกราชอย่างไร ขณะเดียวกันก็วิตกว่ามันจะส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมในหลายประเทศที่อาจขอแยกตัวตามอย่างบ้าง อย่างเช่นคาตาโลเนียของสเปน

ในด้านอย่างเป็นทางการแล้ว สหภาพยุโรปต้องวางตัวเป็นกลางก่อนการลงประชามติในวันพฤหัสบดี(18ก.ย.) แต่ทันทีที่ทราบผลว่าโอกาสที่ชาติสมาชิกหนึ่งจะแตกประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลุดพ้นไป ชัดเจนว่าบรัสเซลส์ผ่อนคลายลงอย่างมาก

นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เคยก่อความขุ่นเคืองต่อพวกต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงต้นปี จากกรณีที่พูดว่าเป็นเรื่องยากที่สกอตแลนด์ซึ่งแยกตัวเป็นเอกราชแล้วจะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอียู แสดงความยินดีต่อผลที่ออกมา โดยชี้ว่ามันจะเป็นตัวส่งเสริมให้ยุโรปมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

การตัดสินใจของชาวสกอตแลนด์เรียกเสียงยินดีปรีดาแก่ประเทศต่างๆในอียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าชาติที่กำลังเผชิญประเด็นแบ่งแยกดินแดนของตนเอง "มันปลดเปลื้องความกังวลของรัฐบาลชาติต่างๆในสหภาพยุโรป เพราะพวกเขากังวลว่ามันจะส่งผลแบบโดมิโน" เฌเรมี โดดีน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลูแวง คาทอลิก ในเบลเยียมบอกกับเอเอฟพี

สกอตแลนด์ที่ได้รับเอกราช อาจเป็นต้นแบบของกลุ่มเคลื่อนไหวแยกดินแดนทั่วทวีปยุโรป ไล่ตั้งแต่แคว้นบาสก์ ซึ่งคร่อมชายแดนระหว่างสเปนและฝรั่งเศส ฟลานเดอร์สในเบลเยียม เกาะคอร์ซิกาของฝรั่งเศส เวนีซของอิตาลรและแคว้นบาวาเรียของเยอรมนี

มาเรียโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีชองสเปน ที่กำลังเผชิญข้อเสนอแยกตัวเป็นเอกราชของคาตาโลเนีย บอกว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สกอตแลนด์ยังอยู่กับสหราชอาณาจักร และยกย่องว่ามันเป็นสัญญาณทางบวกแห่งการบูรณาการสหภาพยุโรป

ผลประชามติเมื่อวันพฤหัสบดี(18ก.ย.) ยังส่งผลให้นายอเล็กซ์ ซัลมันด์ นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ แกนนำรณรงค์แยกตัวเป็นเอกราช ประกาศในวันศุกร์(19ก.ย.) จะขอลาออกจากตำแหน่งรวมถึงประธานพรรคสกอตติช เนชันแนล ปาร์ตี ในการประชุมพรรคเดือนพฤศจิกายนนี้ "ผมคิดว่าพรรค รัฐสภาและประเทศได้รับผลประโยชน์กว่าจากผู้นำคนใหม่" เขากล่าว พร้อมระบุรู้สึกเป็นเกียรติแก่ชีวิตอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลแห่งแคว้นสกอตแลนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น