เอเอฟพี - สถานการณ์ผู้อพยพในยุโรปยังคงตึงเครียดหนัก หลังทางการโครเอเชียออกมายอมรับว่า มีผู้ลี้ภัยไหลทะลักเข้าประเทศถึง “จุดอิ่มตัว” จนต้องขนผู้อพยพนับพันคนขึ้นรถบัสไปส่งยังพรมแดนฮังการีเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) ขณะที่ตำรวจสโลวีเนียใช้แก๊สน้ำตาสกัดผู้อพยพที่พยายามข้ามพรมแดนเข้าไปจากฝั่งโครเอเชีย
รัฐบาลฮังการีอ้างว่า มีผู้อพยพมากกว่า 4,400 คนข้ามไปจากฝั่งโครเอเชียในช่วง 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการปิดรั้วลวดหนามกั้นพรมแดนทั้งสองประเทศ ขณะที่สโลวีเนียกำลังพิจารณาเปิด “ระเบียง” (corridor) เพื่อให้ผู้ลี้ภัยใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังยุโรปเหนือ
ทางการโครเอเชียยอมรับว่า ขณะนี้ศักยภาพในการรองรับผู้ลี้ภัยถึง “จุดอิ่มตัว” เนื่องจากมีผู้คนหลั่งไหลเข้าพรมแดนมากกว่า 17,000 คนในช่วง 2 วันที่ผ่านมา และตัดสินใจที่จะลำเลียงผู้อพยพบางส่วนกลับไปยังฮังการี ซึ่งทางกรุงบูดาเปสต์ก็ได้ออกมาประกาศจะ “ป้องกันพรมแดน” อย่างเต็มที่
รัฐบาลฮังการีกล่าวหากรุงซาเกร็บว่ายุยงให้ผู้อพยพฝ่าฝืนกฎหมายใหม่ของบูดาเปสต์ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกถึง 3 ปีสำหรับผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง และยังมีกระแสข่าวว่าตำรวจโครเอเชียที่นำผู้อพยพไปส่งยังพรมแดนฮังการีถูกกรุงบูดาเปสต์ควบคุมตัวไว้ ทว่าภายหลังทั้งสองฝ่ายออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
ที่เมืองฮาร์มิกา (Harmica) ของโครเอเชียซึ่งอยู่ติดพรมแดนสโลวีเนีย จำนวนผู้อพยพเริ่มสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเส้นทางรถไฟเชื่อม 2 ประเทศถูกทางการกรุงลูบลิยานาสั่งระงับ
ตำรวจปราบจลาจลสโลวีเนียใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนหลายร้อยที่มีเด็กๆ รวมอยู่ด้วย และมีการเผชิญหน้ากันนานกว่า 1 ชั่วโมงกับกลุ่มผู้อพยพ ซึ่งพยายามฝ่าแผงเหล็กกั้นของตำรวจบนสะพานแห่งหนึ่งที่แนวพรมแดน
นายกรัฐมนตรีมิโร ซีราร์ แห่งสโลวีเนีย ระบุว่า ประเทศเล็กๆ แถบเทือกเขาแอลป์แห่งนี้อาจต้องพิจารณาเปิด “ระเบียง” เพื่อเป็นเส้นทางให้ผู้อพยพผ่านเข้าไปยังยุโรปเหนือ หากยังคงมีคลื่นผู้อพยพไหลบ่าเข้ามาไม่หยุดหย่อนเช่นนี้
ผู้อพยพซึ่งหนีภัยสงครามและความทุกข์ยากยังคงทยอยหลั่งไหลเข้ามาหาที่พักพิงในยุโรป ซึ่งมาตรการควบคุมพรมแดนที่แต่ละประเทศบังคับใช้ก็ทำให้ผู้อพยพหลายหมื่นไม่สามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้ ขณะที่สถิติล่าสุดพบว่า มีผู้อพยพยื่นคำร้องขอลี้ภัยในสหภาพยุโรปเกือบ 250,000 คนในช่วงไตรมาสสองของปีนี้
สำนักข่าวอนาโตเลียรายงานว่า มีการพบศพเด็กหญิงวัย 4 ขวบลอยมาติดที่ชายหาดในเมืองเซสเมของตุรกี หลังจากเรือที่ขนผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 15 คนไปยังเกาะคีออสของกรีซ ประสบเหตุล่มลงกลางทะเล
ก่อนหน้านี้ ผู้คนทั่วโลกต่างเศร้าสะเทือนใจกับภาพหนูน้อย อัยลัน กุรดี วัย 3 ขวบ ซึ่งศพถูกน้ำทะเลซัดมาเกยหาดตุรกี หลังเรือที่โดยสารมากับครอบครัวล่มกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างทางไปเกาะคีออส กลายเป็นแรงกดดันให้สหภาพยุโรปต้องหาวิธีตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งเลวร้ายที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจากสมาชิกอียูในยุโรปตะวันออกยังยืนกรานไม่รับแผนแบ่งโควตาผู้อพยพ และฮังการีก็ได้ใช้มาตรการปิดพรมแดนตอนใต้กับเซอร์เบียในสัปดาห์นี้ ผู้อพยพหลายหมื่นคนจึงต้องหันเหทิศทางไปยังโครเอเชียและสโลวีเนียเพื่อเชื่อมต่อไปยังยุโรปเหนือแทน
หลังจากเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศได้ 2 วัน รัฐบาลโครเอเชียก็แถลงเมื่อวันศุกร์ (18) ว่า ไม่สามารถรับผู้อพยพเข้าไปเพิ่มเติมได้อีก นอกจากนี้ยังสั่งปิดจุดผ่านแดนกับเซอร์เบีย 7 แห่งจากทั้งหมด 8 แห่ง และเริ่มลำเลียงผู้อพยพบางส่วนไปยังพรมแดนฮังการี
เวสนา พูซิก รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย ยืนยันว่า กรุงซาเกร็บและบูดาเปสต์ได้ตกลงกันแล้วว่าจะอนุญาตให้ “ผู้อพยพที่มีความเปราะบาง” ผ่านเข้าไปในฮังการีได้
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีที่หมู่บ้านเบเรเมนด์ตรงชายแดนฮังการีรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ (18) มีรถบัสจากโครเอเชียประมาณ 20 คันได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปยังฮังการี โดยแต่ละคันบรรทุกผู้อพยพมาประมาณ 60 คน