เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เกิดเรื่องอื้อฉาวเมื่อสมาชิกกองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติในสาธารณรัฐแอฟริกากลางถูกกล่าวหาว่า กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อพลเรือนหญิงในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 17 กรณี
รายงานข่าวล่าสุดซึ่งอ้างข้อมูลจากสำนักงานตรวจสอบภายในขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอไอโอเอส) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ระบุว่า จนถึงขณะนี้ทางยูเอ็นได้รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษจากสตรีในสาธารณรัฐแอฟริกากลางแล้วอย่างน้อย 17 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 13 รายที่กล่าวหากำลังพลในกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อพวกเธอในระดับต่างๆ ตั้งแต่การลวนลามไปจนถึงการข่มขืน ส่วนในอีก 4 กรณีที่เหลือเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นในแอฟริกากลาง ที่มิได้เป็นสมาชิกกองกำลังรักษาสันติภาพโดยตรง
ด้านสเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกยูเอ็นออกมาแถลง โดยยืนยันว่าทางสหประชาชาติกำลังสอบสวนเหตุอื้อฉาวทางเพศที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และย้ำว่าสหประชาชาติจะไม่อดกลั้นต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุด หากถูกตรวจสอบพบว่ากระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหา
ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่องค์การสหประชาชาติเพิ่งออกมาประกาศเมื่อ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา จัดตั้ง “เขตปลอดอาวุธ” ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เพื่อปกป้องพลเรือนผู้บริสุทธิ์จากการตกเป็นเหยื่อของการล่าสังหาร โดยบรรดากลุ่มติดอาวุธทั้งของชาวคริสต์และชาวมุสลิมหัวรุนแรง
แอร์เว ลาดซูส์ รองเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ออกมาเปิดเผยว่า ทางยูเอ็นเห็นชอบให้มีการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธ (weapons-free zone) ซึ่งมีผลในทันที ขึ้นที่เมืองบัมบารีของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง หลังจากที่เกิดการปะทะกันอย่างหนักหน่วงระหว่างกลุ่มกบฏมุสลิม “เซเลกา” ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองดังกล่าวนี้ กับกองกำลัง “แอนตี้-บาลากา” ของชาวคริสต์
โดยการปะทะกันรอบล่าสุดของทั้งสองฝ่าย มีต้นตอมาจากการที่กองกำลังแอนตี้-บาลากาของชาวคริสต์ ก่อเหตุฆ่าตัดศีรษะวัยรุ่นชาวมุสลิมรายหนึ่ง เพื่อแก้แค้นที่พวกกบฏมุสลิมเซเลกาก่อเหตุทำร้ายชาวคริสต์ในชุมชนแห่งหนึ่งก่อนหน้านี้
“เราตัดสินใจจัดตั้งเขตปลอดอาวุธขึ้นในเมืองบัมบารีเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต และความปลอดภัย ในการเดินทางของประชาชนในเมืองนี้ ตลอดจนเพื่อเป็นการเปิดทางให้กับเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม ได้นำความช่วยเหลือที่จำเป็นเข้ามาในพื้นที่” รองเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพกล่าวระหว่างเดินทางเยือนสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
ผลของการประกาศเขตปลอดอาวุธดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่มีจำนวนกว่า 11,000 คนมีอำนาจเต็มที่ในการเข้ามาควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในเมืองบัมบารี
เมื่อเดือนที่แล้ว มีรายงานว่าพลเรือนกว่า 3,000 คนทั้งที่เป็นชาวคริสต์และชาวมุสลิม ได้หลบหนีเข้ามาขอลี้ภัยภายในฐานทัพของกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นในเมืองดังกล่าว เพราะหวั่นตกเป็นเหยื่อการล่าสังหารของกลุ่มติดอาวุธทั้งสองกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่
ทั้งนี้ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุใต้ดินหลายชนิด ได้ถลำเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งนับตั้งแต่ปี 2013 เมื่อกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกา ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลกลางที่นำโดยชาวคริสต์ และเริ่มก่อเหตุสังหารพลเรือนชาวคริสต์แบบไม่เลือกหน้า เป็นเหตุให้ชาวคริสต์จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธแอนตี้-บาลากาขึ้น เพื่อทำการสังหารหมู่พลเรือนที่เป็นชาวมุสลิมบ้าง ก่อนที่การฆ่าล้างแค้นระหว่างผู้นับถือศาสนาทั้งสอง จะลุกลามบานปลายจากกรุงบังกีออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ความขัดแย้งทางศาสนาในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5,000 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2013 เป็นต้นมา