รอยเตอร์ - ยูเครนจะร้องขอความสนับสนุนด้านอาวุธสังหารป้องกันตนเองจากพันธมิตรตะวันตกอีกรอบ หากว่าข้อตกลงสันติภาพมินสก์พังครืน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเคียฟประจำนาโตเปิดเผยในวันอังคาร (15 ก.ย.) พร้อมเรียกร้องให้ช่วยดึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนทางภาคตะวันออกติดกับรัสเซีย กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง
การจัดมอบอาวุธสังหารแก่กองทัพยูเครนคือหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวที่สุดสำหรับเหล่ารัฐบาลชาติตะวันตก ท่ามกลางคำเตือนของรัสเซียว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นตัวขยายความขัดแย้งอย่างรุนแรงและเสี่ยงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม นายเยฮอร์ บอซฮอก รักษาการผู้แทนทูตของยูเครนประจำนาโต ยอมรับว่าบางทีอาจไม่มีทางเลือกอื่นๆ “ถ้าอาวุธหนักถูกถอนออกไปจากชายแดนทางตะวันออกของเราภายใต้ข้อตกลงมินสก์ อย่างนั้นก็ไม่เป็นไร แต่หากสถานการณ์ลุกลามเมื่อนั้นเราก็จะหยิบยกประเด็นร้องขออาวุธป้องกันตนเองที่ทันสมัยพูดคุยกับพันธมิตรตะวันตกของเราอีกรอบ”
บอซฮอกบอกกับรอยเตอร์ว่า “เราจะไม่เอาไปโจมตีใคร เราแค่อยากปกป้องตนเองเท่านั้น” เขากล่าว พร้อมระบุอาวุธต่อต้านปืนใหญ่ ต่อต้านปืนครกและต่อต้านรถถัง คืออาวุธที่มีความจำเป็นที่สุดและบอกว่าได้ยื่นคำร้องขอดังกล่าวไปสักพักหนึ่งแล้ว
มีผู้คนแล้วราว 8,000 รายที่ต้องมาสังเวยชีวิตจากการก่อกบฏของพวกแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซีย ทางภาคตะวันออกของยูเครน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 ทั้งนี้แม้มีข้อตกลงสันติภาพและหยุดยิงในมินส์กเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังพบเห็นเหตุปะทะกันประปราย จนกระทั่งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกันอีกรอบในวันที่ 1 กันยายน บัดนี้ดูเหมือนว่ามันได้รับการยึดมั่นอย่างกว้างขวาง
แผนสันติภาพ 11 ข้อเรียกร้องให้สองฝ่ายถอนอาวุธหนักและกลุ่มติดอาวุธต่างชาติทั้งหมด ซึ่งสำหรับเคียฟแล้วคือการพาดพิงโดยอ้อมต่อกองกำลังรัสเซียที่ยูเครนและตะวันตกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนในเมืองโดเนตสก์ และลูกานสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน
เงื่อนไขหลักบางข้อของข้อตกลงมีกำหนดต้องปฏิบัติตามในช่วงสิ้นปีนี้ แค่เครมลินแย้มว่าอาจต้องขยายเส้นตายออกไป
มอสโกยืนยันว่าไม่ได้มอบความช่วยเหลือใดๆ นอกเหนือไปจากการสนับสนุนทางการเมือง แม้รายงานพิเศษของรอยเตอร์ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พบเห็นความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ณ ฐานทัพทหารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใกล้ชายแดนยูเครน
เมื่อช่วงต้นปี สถาบันวิจัยสหรัฐฯ 3 แห่ง แนะให้วอชิงตันมอบความช่วยเหลือทางทหารโดยตรงแก่ยูเครน 3,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ส่วนเหล่าสมาชิกสภาคองเกรสก็สนับสนุนให้ติดอาวุธแก่กองทัพอันอ่อนแอของเคียฟ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายชาติเตือนว่ามาตรการดังกล่าวรังแต่จะขยายวิกฤตกับรัสเซีย เกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน ซึ่งเลวร้ายลงอย่างฉับพลันในเดือนมีนาคมปีก่อน หลังมอสโกผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
ก่อนหน้านี้ มอสโกก็เคยเตือนมาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ว่าแผนของสหรัฐฯที่จะประจำการรถถังและอาวุธหนักในประเทศสมาชิกนาโต้ที่มีชายแดนติดกับรัสเซีย จะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่สุดของวอชิงตันนับตั้งแต่สงครามเย็น และมอสโกจะตอบโต้ด้วยการเสริมกำลังทหารของตนเอง