เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – ข้อมูลล่าสุดชี้ สหรัฐอเมริการับผู้อพยพลี้ภัยชาวอิรักเข้าประเทศมากที่สุด ตามมาด้วยผู้ลี้ภัยจากเมียนมาร์และภูฏาน ขณะที่มีผู้อพยพจากซีเรีย ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมืองลุงแซมไม่ถึง 1,000 รายในปีล่าสุดที่มีการเก็บข้อมูล
ข้อมูลล่าสุดซึ่งถูกเผยแพร่โดยองค์กรด้านมนุษยธรรม “International Rescue Committee” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้อพยพลี้ภัยทั่วโลกในการย้ายไปตั้งรกรากในประเทศใหม่ ระบุว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่สงครามกลางเมืองซีเรียปะทุขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 นั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพิ่งเปิดรับผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย ให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในอเมริการาว 1,400 รายเท่านั้น โดยที่ในปี 2013 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการบันทึกข้อมูลระบุว่า สหรัฐฯ ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้อพยพจากซีเรียเพียงแค่ 811 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยที่สหรัฐฯรับเข้าประเทศทั้งหมด
ข้อมูลขององค์กร International Rescue Committee ระบุว่า ในปีดังกล่าวสหรัฐฯ รับผู้อพยพลี้ภัยจากอิรักเข้าประเทศมากที่สุดถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพทั้งหมด ตามาด้วยผู้ลี้ภัยจากเมียนมาร์ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ และภูฏานอีก 13 เปอร์เซ็นต์
รายงานฉบับล่าสุดขององค์กรดังกล่าวชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้แสดงถึงการมีส่วนร่วมในระดับที่ต่ำเตี้ย ต่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อบรรดาผู้อพยพที่เป็นเหยื่อสงครามกลางเมืองในซีเรียที่มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลโอบามาเองก็มีส่วนในการก่อสงครามกลางเมืองในซีเรียด้วยเช่นกัน จากการหนุนหลังกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
ทั้งนี้ รายงานฉบับล่าสุดถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า พร้อมรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเข้าประเทศราว 5,000 – 8,000 รายในปี 2016 และประกาศจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินซึ่งไม่มีการเปิดเผยจำนวน ต่อชาติพันธมิตรในยุโรปที่กำลังเผชิญวิกฤตผู้อพยพอยู่ในเวลานี้