เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่าการใช้ “กองกำลังภาคพื้นดิน” มีความจำเป็นในการกวาดล้างกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก และซีเรีย
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์รายการ “The Situation Room with Wolf Blitzer” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นซึ่งมีการบันทึกเทปในวันพุธ ( 2 ก.ย.) และมีการนำมาออกอากาศในวันพฤหัสบดี (3 ก.ย.) โดยเคร์รีระบุว่า การใช้กองกำลังภาคพื้นดินถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดหากนานาชาติปรารถนาจะทำลายกลุ่มสุดโต่งอย่างไอเอสให้สิ้นซาก
“สถานการณ์การสู้รบกับกลุ่มไอเอสในขณะนี้ได้ดำเนินมาถึงจุดที่ว่า ลำพังเพียงการโจมตีทางอากาศอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และท้ายที่สุดเราคงหนีไม่พ้นตัวเลือกในการใช้กองกำลังภาคพื้นดินเข้าร่วมในศึกครั้งนี้ซึ่งเราจะแพ้ไม่ได้” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเพิ่ม “แรงกดดัน” ต่อกลุ่มนักรบรัฐอิสลามให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และยอมรับว่าสหรัฐฯ ได้มีการหารือในเรื่องนี้แล้วกับบรรดาชาติพันธมิตร เกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ซึ่งรวมถึงการส่งกำลังทหารเข้าไปกวาดล้างกลุ่มไอเอสทางภาคพื้นดิน
อย่างไรก็ดี ระหว่างการให้สัมภาษณ์ล่าสุดกับซีเอ็นเอ็น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ยอมกล่าวแบบเฉพาะเจาะจงว่าจะมีการส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าร่วมในกองกำลังภาคพื้นดินเพื่อกวาดล้างกลุ่มไอเอสทั้งในอิรักและซีเรียในอนาคตด้วยหรือไม่
ก่อนหน้านี้ นายทหารระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ อย่าง พล.อ.เรย์ โทมัส โอดีแอร์โน ประธานเสนาธิการกองทัพบกสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงจากเว็บไซต์ “ดีเฟนส์นิวส์ ดอตคอม” โดยระบุว่า เขาเชื่อว่าการกวาดล้างกลุ่มไอเอสจะไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นที่แก้ได้ลุล่วงภาย ในระยะเวลาเพียง 2 ปี อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เคยประเมินเอาไว้
ขณะเดียวกัน การกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายสุหนี่ที่มีแนวคิดสุดโต่งกลุ่มดังกล่าวก็จะไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3-5 ปี อย่างที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา คาดการณ์เอาไว้เช่นเดียวกัน
นายพลระดับ 4 ดาว วัย 60 ปีรายนี้ซึ่งเคยผ่านการสู้รบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี ค.ศ. 1990 และสงครามบุกอิรักในปี 2003 มาแล้วระบุว่า สหรัฐอเมริกาและบรรดาชาติพันธมิตรอาจต้องใช้เวลายาวนาน 10-20 ปี กว่าจะกวาดล้างกลุ่มไอเอสได้สิ้นซาก และการกำจัดภัยคุกคามของกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งกลุ่มนี้ถือเป็นภารกิจระยะยาวที่ต้องอาศัย “ความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย” ของบรรดาผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมืองลุงแซมอีกหลายคนนับจากนี้
อย่างไรก็ดี แม่ทัพคนดังแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการในเดือนที่แล้วออกโรงเตือนว่า ลำพังการใช้ปฏิบัติการทางทหารเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถกำจัดกลุ่มไอเอสได้ แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สหรัฐฯ จะต้องใช้ทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจและเครื่องมือทางการทูตควบคู่กันไป
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงภายในสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ประเมินว่าในขณะนี้กลุ่มไอเอสสามารถยึดครองพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ กว่า 10 ล้านคนทั้งในภาคตะวันออกของซีเรียและภาคตะวันตกของอิรัก รวมถึงพื้นที่ยึดครองอีกส่วนหนึ่งในลิเบีย
ทั้งนี้ กลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอสนี้ในความเป็นจริงแล้วถือกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อปี 1999 ในชื่อกลุ่มติดอาวุธ “ญะมาอัต อัล-ตอว์ฮิด วัล-ญิฮัด” ก่อนจะประกาศตัวสวามิภักดิ์ต่อเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์เมื่อปี 2004
อย่างไรก็ดี เหล่าแกนนำซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก ได้เห็นพ้องให้มีการเปลี่ยนชื่อของกลุ่มเป็นกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก (Islamic State of Iraq : ISI) เมื่อเดือนตุลาคม 2006 ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มอีกหลายหน และตามมาด้วยการแยกตัวออกจากกลุ่มอัลกออิดะห์เพื่อเดินหน้าสร้างรัฐอิสลามสุดโต่งเป็นของตัวเอง
ข้อมูลจากซีไอเอและแหล่งข่าวภายในกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดระบุว่า ในปัจจุบันกลุ่มไอเอสมีนักรบในสังกัดระหว่าง 52,600–257,900 คน และมีแหล่งรายได้สำคัญมาจากการค้าน้ำมัน การค้าวัตถุโบราณ การขูดรีดภาษีจากประชาชนในพื้นที่ยึดครอง รวมถึงรายได้จากเงินบริจาคซึ่งเชื่อว่ามีต้นตอมาจากราชวงศ์ของกาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย