xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจมาเลย์เรียกแกนนำผู้ชุมนุมไล่นายกฯ รายงานตัวปรับทัศนคติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้ประท้วงรัฐบาลมาเลเซียจำนวนมาก ออกมาชุมนุมที่บริเวณใกล้ๆ จัตุรัสเอกราช (เมอร์เดกา) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นคืนที่สองเมื่อวันอาทิตย์ (30 ส.ค.) ถึงแม้มีฝนตกกระหน่ำลงมา เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ลาออก จากกรณีฉาวโฉ่เงินกองทุนของรัฐบาลเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ ถูกโอนไปอยู่ในบัญชีธนาคารส่วนตัวของเขา การชุมนุมคราวนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มรณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้งสะอาดที่ใช้ชื่อว่า “เบอร์ซีห์” ทว่าล่าสุดในวันอังคาร(1ก.ย.) เหล่าแกนนำถูกตำรวจเรียกไปรายงานตัวและสอบปากคำแล้ว
เอเอฟพี - แกนนำการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในคำกล่าวหาพัวพันกับเรื่องฉ้อฉลอื้อฉาว เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.) ว่าพวกเขาถูกตำรวจเรียกไปรายงานตัว ชี้เป็นความพยายามข่มขู่แต่คงไม่ได้ผล ขณะที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติเตือนประเทศแห่งนี้กำลังเผชิญวิกฤตคอร์รัปชันใหญ่หลวง

มาเรีย ชิน อับดุลเลาะห์ ประธานกลุ่มเบอเซะ (Bersih) พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม อันประกอบด้วยเหล่าเอ็นจีโอและกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ของมาเลเซีย ที่จัดการชุมนุม 2 วันและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เผยว่าแกนนำหลายคนได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวและให้ปากคำต่อตำรวจในวันพุธ (2 ก.ย.) “แน่นอนว่าเสียเวลาเปล่า พวกเขาต้องการข่มขู่เรา แต่คงไม่ประสบผลสำเร็จ” เธอบอกกับเอเอฟพี

นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักนับตั้งแต่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม อ้างเอกสารของคณะสืบสวนของมาเลเซียพบว่ามีการโอนเงินเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ เข้าบัญชีส่วนตัวของนายนาจิบ โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2013

เบื้องต้นนายนาจิบปฏิเสธด้วยอารมณ์โมโหต่อรายงานดังกล่าว ทว่านับตั้งแต่นั้นคณะรัฐมนตรีของเขายอมรับว่ามีการโอนเงินจริง โดยอ้างว่าเป็นเงินบริจาคทางการเมืองมาจากผู้สนับสนุนในตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ขณะที่ตัวของนายนาจิบยืนยันว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International) หน่วยงานเฝ้าระวังฉ้อราษฎร์บังหลวง เมื่อวันอังคาร(1ก.ย.) เตือนว่าประเทศแห่งนี้กำลังเผชิญวิกฤตคอร์รัปชันใหญ่หลวง โดยถ้อยแถลงเตือนดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการประชุมประจำปีขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งบังเอิญว่าจัดขึ้นในมาเลเซียพอดี

โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เรียกร้องคำสัญญาอย่างหนักแน่นและชัดเจนจากรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อรับประกันการสืบสวนข้อกล่าวหาทั้งหมดอย่างอิสระและลงโทษผู้ถูกพบว่ามีความผิดอย่างยุติธรรม

การสืบสวนอย่างเป็นทางการในเหตุอื้อฉาวดังกล่าวมีอันต้องสะดุดลง หลังนายนาจิบ สั่งปลดอัยการทั่วไปและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้

พฤติกรรมดังกล่าวกระตุ้นให้ประชาชนหลายหมื่นคนหลั่งไหลรวมตัวกันใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์และเมืองต่างๆ ของมาเลเซียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ เรียกร้องให้นายนาจิบลาออกและปฏิรูปรัฐบาลอย่างกว้างขวาง แต่ทางตำรวจประกาศว่ามันเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย

กลุ่มเบอเซะ ในภาษามาเลเซียหมายความว่า “สะอาด” ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อกดดันให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง และบอกว่ามีประชาชนมากกว่า 200,000 คนรวมตัวกันบนท้องถนนกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงเวลาที่มีผู้เข้าร่วมสูงสุดของวันเสาร์ (29 ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ตำรวจอ้างว่ามีผู้ชุมนุมแค่ 29,000 คน

นายนาจิบ ประณามผู้ประท้วงว่าพวกใจแคบและไม่ยอมลาออก ส่วนนายซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เตือนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ว่าพวกแกนนำอาจเจอข้อกล่าวหาปลุกปั่น มั่วสุมหรือตามกฎหมายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกถ้อยแถลงตอบโต้ วิพากษ์วิจารณ์คำขู่ของนายซาฮิด ว่า “มาเลเซียควรตระหนักว่าประชาชนของพวกเขามีสิทธิ์แสดงออกมุมมองทางการเมือง แม้รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาพูดก็ตาม และการล่วงละเมิดสิทธิใดๆจะก่อผลสะท้อนอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงระดับนานาชาติของมาเลเซีย”

ขณะที่สื่อมวลชนมาเลเซียอ้างคำพูดของรัฐมนตรีรายหนึ่งบอกเมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.) ว่ากลุ่มเบอเซะ อาจถูกเรียกเก็บค่าทำความสะอาดหลังการประท้วง 65,000 ริงกิต (ราว 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 5.7 แสนบาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น