เอเอฟพี – แม้การลดค่าเงินหยวนและภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนสร้างความอกสั่นขวัญแขวนใน ตลาดการเงินทั่วโลก แต่สำหรับการท่องเที่ยว คาดว่าจะไม่มีผลมากนัก เว้นแต่นักท่องเที่ยวจีนอาจระมัดระวังมากขึ้นในการซื้อของใหญ่ ขณะเดียวกัน หลายประเทศต่างรู้ซึ้งถึงความสำคัญของนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากแดนมังกร จึงต่างปรับปรุงนโยบายเพิ่มความเป็นมิตรเพื่อดึงดูดคนจีนมากขึ้น
เฮนรี่ ลี ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีวัย 36 ปีจากปักกิ่ง สารภาพว่า ไม่รู้เลยว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนตอนนี้อยู่ที่เท่าไi
“ผมมาเที่ยวกับลูกๆ ไม่ได้ซื้อของใหญ่ แค่ซื้อกระเป๋าทูมี กับสร้อยข้อมือทิฟฟานี ไปฝากภรรยาเท่านั้น” คุณพ่อลูกสองเล่าระหว่างเที่ยวชมเมอร์ไลออน พาร์ค ในสิงคโปร์ ที่อยู่ตรงข้ามมารีนา เบย์ แซนด์ คอมเพล็กซ์กาสิโน ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแดนมังกร
ลี เป็นหนึ่งในชนชั้นกลางจีนหลายสิบล้านคนที่ออกเดินทางไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลกอยู่ทุกปี เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
ข้อมูลของศูนย์กลางการบินเอเชีย-แปซิฟิก (คาปา) ที่มีฐานอยู่ในซิดนีย์ ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 117 ล้านคน มากกว่าปี 2010 เกินเท่าตัว
ในคำแถลงที่ออกเมื่อวันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) ที่ผ่านมา คาปายังออกคาดหมายว่า แนวโน้มในการเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศของคนจีนจะยังคงแข็งแกร่งทั้งในระยะ สั้นและระยะยาว
การลดค่าเงินหยวนชนิดเซอร์ไพรซ์ในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา และขณะนี้ค่าเงินตราแดนมังกรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ก็อยู่ในอัตราต่ำสุดในรอบ 4 ปี ทำให้เกิดความกังวลกันว่า นักท่องเที่ยวจีนที่ใช้จ่ายมือเติบจะเปลี่ยนใจเลิกเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ทั่วทั้งเอเชียตกกันเป็นแถว ขณะที่ซีอีโอของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก ถูกบีบจนต้องแถลงรับรองแก่บรรดานักลงทุนว่าอนาคตของสายการบินแห่งนี้ยังคง มั่นคง
อย่างไรก็ดี พวกธุรกิจบนภาคพื้นดินทั้งหลายกลับมองว่า การที่ชาติต่างๆ ผ่อนคลายนโยบายการออกวีซ่าแก่คนจีน และการที่เงินหยวนยังคงมีค่าแข็งเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย หมายความว่านักท่องเที่ยวจีนจะยังคงออกเดินทางท่องเที่ยวต่างแดนกันอย่างมาก มายที่สุด และใช้จ่ายหนักที่สุดเช่นเดิม
แอรอน ฟิชเชอร์ หัวหน้าแผนกวิจัยด้านผู้บริโภคและการเสี่ยงโชคของซีแอลเอสเอ บริษัทหลักทรัพย์และการลงทุน ยกตัวอย่างว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้เล่นระดับวีไอพีของจีนจะหอบเงินไปเสี่ยงโชคกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อทริป และผู้เล่นระดับนี้อาจมีถึง 5,000 คนในขณะนี้
รายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีนก็ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนใช้เงิน 164,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 หรือ 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2008 โดย 88% ของเงินจำนวนดังกล่าวหมดไปกับการช็อปปิ้ง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิชาการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล
ลำพังญี่ปุ่นประเทศเดียวให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นกว่า 550,000 คนในเดือนกรกฎาคม มากกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินเท่าตัว และนักท่องเที่ยวจีนแต่ละคนใช้เงินเฉลี่ย 1,100 ดอลลาร์ หรือประมาณสองเท่าของนักท่องเที่ยวชาติที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดอันดับ 2 ทั้งนี้ จากข้อมูลของกลุ่มคลังสมอง เจแปน ทัวริสม์ มาร์เก็ตติง
ฟิชเชอร์ยังคาดว่า การลดค่าเงินหยวนจะไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางการท่องเที่ยวของคนจีน เพียงแต่บางคนอาจระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อซื้อสินค้าหรู
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับความกังวลของสมาคมตัวแทนท่องเที่ยวอินโดนีเซียที่ กลัวว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวแดนอิเหนาปีละราว 1 ล้านคน อาจลดการใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการท่องเที่ยวลง
หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ของเอเชียตั้งแต่ฟิลิปปินส์ยันเกาหลีใต้ ต่างแสดงความกังวลในลักษณะเดียวกันนี้ แม้หลายประเทศใจชื้นขึ้นบ้างจากข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าเงินในประเทศของตนร่วงลงแรงเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน เงินหยวนยังคงแข็งค่ากว่าเงินตราของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของ นักท่องเที่ยวจีนอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และยูโรโซน
เคร็ก เจมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคอมม์เซ็ก บริษัทโบรกเกอร์ออสเตรเลีย เชื่อว่า เมื่อมองภาพรวม นักท่องเที่ยวจีนจะยังคงเดินทางไปยังออสเตรเลียเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย-แปซิฟิก ต่างพยายามลดอุปสรรคในการออกวีซ่าให้แก่นักเดินทางจีนเพื่อดึงดูดสิ่งที่ สถาบันวิชาการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนระบุว่า เป็นกลุ่มก้อนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ หลายประเทศยังดำเนินกุศโลบายที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน ผู้ถือหนังสือเดินทางจีนสามารถเดินทางเข้าสู่อย่างน้อย 74 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า เทียบกับเพียง 18 ประเทศเมื่อสองปีที่แล้ว
คาปาตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น ยังปรากฏในร้านค้าต่างๆ อาทิ ในสนามบินออสเตรเลียที่มีป้ายภาษาจีน รวมถึงมีมัคคุเทศก์และพนักงานขายร้านสินค้าปลอดภาษีที่พูดภาษาจีนกลางได้
นักวิเคราะห์ชี้ว่า สิ่งที่ชัดเจนคือ ไม่เพียงโรงแรม ห้างค้าปลีก และบริษัทท่องเที่ยวเท่านั้นที่ดูแลเอาใจใส่คนจีนมากขึ้น แต่คนจีนเองก็เป็นลูกค้าที่มีความกระตือรือร้นอย่างสูง
“ถ้าหากต้นทุนโดยเปรียบเทียบของการเดินทาง มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญแล้ว สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือมันจะเคลื่อนย้ายผู้คนจากที่เคยเดินทางไปยัง ประเทศหนึ่ง ให้ไปยังอีกประเทศหนึ่งแทน” ฟิชเชอร์ แห่ง ซีแอลเอสเอกล่าว
ขณะเดียวกัน เขากล่าวย้ำสำทับว่า ในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีนนั้น “มีความปรารถนาอันล้ำลึกที่แข็งแกร่งมากๆ อยู่เสมอในเรื่องการเดินทาง (ท่องเที่ยว)”