xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : “Anchor baby” คำแสลงล่าสุดในแคมเปญจ์เลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันจะใช้ต่อ “ไล่ผู้อพยพผิด กม.ออกนอกอเมริกา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - หลังจากการให้สัมภาษณ์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในนโยบายกฎหมายคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าจะต้องขับครอบครัวผู้หลบหนีเข้าเมืองซึ่งส่วนใหญ่มาจากเม็กซิโกและแถบละตินอเมริกา และบุตรที่เรียกว่า “Anchor baby” เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด และทำให้คำนี้เป็นกลายเป็นสิ่งที่นักการเมืองในฝั่งพรรครีพับลิกันและทางฝั่งเดโมแครตต่างวิพากษ์ เพราะอพยพเข้าเมืองสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นใหญ่ในการเลือกตั้งอเมริกา 2016 ล่าสุดเจ้าตัวหันมาโจมตี “เจบ บุช” ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันเช่นกันว่า “เปลี่ยนจุดยืน” หลังจากในตอนแรกไม่ต้องการที่จะใช้คำ “Anchor Baby” โดยกล่าวหาว่าเป็นคำเหยียดหยามคนเชื้อสายละตินอเมริกา แต่ภายหลังกลับต้องการใช้บ้างเพราะเห็นทรัมป์ใช้

NBC News สื่อสหรัฐฯ รายงานล่าสุดถึงสีสันทางการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนอเมริกัน และโดยเฉพาะในวันศุกร์ (22 ส.ค.) ที่ผ่านมา ทรัมป์สามารถเรียกผู้ติดตามร่วม 30,000 คนให้สามารถเข้าฟังการปราศรัยของเขาที่สนามอเมริกันฟุตบอลในรัฐอะแลบามาที่มีความจุที่นั่ง 43,000 คน ในหัวข้อ “จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

ในการปราศรัยของทรัมป์ เขายังคงตอกย้ำถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่รู้จักโดยทั่วไปว่า “The 14th Amendment” ว่าด้วยสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวข้องกับ “Anchor baby” หรือบุตรผู้อพยพที่เกิดในสหรัฐฯ และได้สิทธิรับสัญชาติตามกฎหมายThe 14th Amendment ซึ่งสื่อสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น NBC News หรือ CNN ต่างรายงานว่า คำแสลงนี้ได้สั่นสะเทือนแคมเปญการเลือกตั้งด้านนโยบายคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 นี้

โดยทรัมป์ได้ประกาศอีกครั้งที่รัฐอะแลบามาตามนโยบายคนเข้าเมืองสหรัฐฯสายเหยี่ยวของเขาว่า “เราจะสร้างกำแพงปิดกั้นตลอดทั่วแนวชายแดนทางใต้” ซึ่งหมายถึงพรมแดนกั้นระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก ที่ทรัมป์กล่าวตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกในการประกาศตัวเข้าชิงสมัครเลือกตั้งแล้วว่า เม็กซิโกเป็นปัญหาของสหรัฐฯ เพราะส่งแต่โจร และนักข่มขืนมายังอเมริกา

ในวันศุกร์ (22) ทรัมป์ยังเสนอว่า รัฐสภาคองเกรสสามารถแก้ปัญหา Anchor Baby ได้โดยลงมติแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง ไม่ให้สัญชาติโดยอัตโนมัติกับบุคคลที่เกิดในอเมริกา “กฎหมาย The 14th Amendment ผมคิดถูกแน่นอน เราต้องทำอะไรเกี่ยวกับมันแน่ๆ และต้องอย่างรวดเร็วด้วย” ทรัมป์กล่าวกับฝูงชนที่รวมตัวให้กำลังใจ และเสริมต่อว่า “ในกรณีที่ประเทศอื่นๆ รวมไปถึง เม็กซิโกไม่ทำอะไร และมันไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น แต่สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวที่โง่เง่ามากต้องทำเช่นนี้” ทรัมป์ที่สวมหมวกเบสบอลสีแดงมีข้อความที่จดลิขสิทธิ์ด้านหน้าของหมวกว่า “Make America Great Again” หรือทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง กล่าวด้วยเสียงอันดุดัน

ทั้งนี้ CNN สื่อสหรัฐฯ ได้ชี้ว่า “Anchor baby” ได้กลายเป็นศัพท์ในวงการการเมืองสหรัฐฯ ไปแล้วในเวลานี้ ที่ดูเหมือนนักการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำนี้อย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าในปีกพรรครีพับลิกัน เช่น เจบ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดาได้กล่าวว่า เขาไม่เสียใจที่จะใช้คำ “Anchor baby” ในการเรียกขานบุตรผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ ผิดกฎหมาย และปฏิเสธว่าไม่เสียใจที่จะใช้คำนี้ โดยได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางวิทยุว่า “ไม่...ผมไม่เสียใจที่จะใช้มัน” บุชกล่าว และเสริมว่า “คุณมีคำอื่นที่เข้าท่ามากกว่านี้หรือไม่ ถ้าคุณมี ผมจะใช้คำนั้นแทน”

ในขณะที่ มาร์โก รูบิโอ ส.ว.รัฐฟลอริดา เชื้อสายคิวบาจากพรรครีพับลิกัน ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เมื่อเขาจะอ้างอิงถึงกลุ่มคนเข้าเมืองผิดกฏหมายสหรัฐฯ ร่วม 13 ล้านคน รูบิโอชี้ว่าจะเรียกขานคนเหล่านี้ว่า “มนุษย์” หรือ “คนธรรมดา” เท่านั้น

และในส่วนตัว รูบิโอที่เป็นบุตรผู้อพยพและเกิดในสหรัฐฯ เป็นรุ่นแรกเช่นกัน กล่าวอย่างหนักแน่นว่า บิดามารดาชาวคิวบาผู้อพยพย้ายเข้ามาสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

และรวมไปถึงฝั่งเดโมแครต เช่น ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครแถวหน้าที่ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเหมือนการพูดที่หมิ่นและเหยียดหยาม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ออกมาปกป้องการเรียกขาน Anchor Baby ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการพาดพิงผู้อพยพเชื้อสายลาติน รวมไปถึง เท็ด ครูซ ส.ว.รัฐเทกซัสจะกล่าวปกป้องการใช้ “Anchor baby” โดยโยงไปถึงนโยบายหาเสียงของเขาที่แสดงถึงปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองสหรัฐฯ แต่ทว่ากลับ CNN ชี้ว่าครูซไม่ยอมกล่าวคำนี้ออกมาโดยตรง

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้แสดงทัศนะต่อ CNN ว่า “Anchor baby” ได้กลายเป็นคำแสลงในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ในขณะนี้ “คำนี้คล้ายกับคำอื่นๆ ที่มีความหมายเชิงลบ เช่น ต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่ผู้คนต่างใช้เพื่อสื่อถึงปัญหาการอพยพเข้าเมืองสหรัฐฯ ผิดกฎหมาย” ฮิโรชิ โมโตมูระ (Hiroshi Motomura) ศาสตราจารย์ทางกฎหมายประจำมหาวิทยาลัย UCLA ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอพยพเข้าเมืองและสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ให้ความเห็น

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญประจำ UCLA ยังชี้ว่า “babies” ถือเป็นคำศัพท์ที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานในทางการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งรวมไปถึงคำว่า “welfare baby” หรือทารกที่เกิดมาเพื่อจะทำให้มารดายังคงได้รับสวัสดิการรัฐ ที่ได้เคยมีการนำมาใช้ในอดีต

โมโตมูระยังกล่าวอีกว่า “คำลักษณะเช่นนี้ชวนให้ผู้ได้ยินมองเห็นภาพของครอบครัวที่มีบุตรเป็นจำนวนมาก และที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและความเชื่ออย่างท่วมท้น” ซึ่งนักกฎหมาย UCLA ระบุว่า “และยังแสดงเป็นนัยให้คนเข้าใจไปถึงมีการเจริญพันธุ์ออกลูกออกหลานมากเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะผมคิดว่าคำประเภทนี้มีโค๊ดและสัญลักษณ์ที่ส่งสัญญาณ...สามารถกระตุ้นให้ผู้คนเกิดจินตนาการภาพที่ผู้คนไม่อย่างจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”

CNN อธิบายความหมายของ “Anchor baby” ว่า เป็นทารกที่เกิดในสหรัฐฯ จากบิดามารดาที่ไม่ใช่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ นั้นจะได้รับสัญชาติสหรัฐฯโดยอัตโนมัติแต่กำเนิดตากฎหมาย และจากการที่ทารกที่เป็น “Anchor baby” จะสามารถเป็นสปอนเซอร์ให้แก่พ่อแม่ต่างด้าวเพื่อขอแปลงสัญชาติเป็นชาวอเมริกันได้ในภายหลังจากที่เด็กเหล่านี้มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงทำให้มีการเรียกขานเด็กประเภทนี้เกิดขึ้น

CNN ยังชี้ว่า คำนี้ยังแสดงภาพว่า รัฐบาลสหรัฐฯ “ผ่อนผัน” กับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่มีบุตรเป็น “Anchor baby” แต่ทว่านักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ข้อนี้ยังเป็นที่โต้เถียงอยู่

นอกจากนี้ โมโตมูระยังกล่าวว่า เขาไม่แปลกใจที่ผู้สมัครพรรครีพับลิกันต่างออกมาวิจารณ์กันมากเพราะการอพยพเข้าเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา 2016 ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองสหรัฐฯแต่กำเนิด และ “Anchor baby” ยังถูกใช้ในกลุ่มต่อต้านการเข้าเมืองสหรัฐฯ อีกด้วย

“นี่ถือเป็นประเด็นที่จะสามารถทำคะแนนให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ได้เปรียบ รวมไปถึงผู้สมัครจากฝั่งพรรครีพับลิกันที่จะมีปฏิกิริยา” โมโตมูระชี้ และเสริมว่า “เมื่อผู้สมัครต้องการจะใช้คำที่ตอกย้ำจุดประเด็น แน่นอนที่สุดที่ต้องใช้ “Anchor baby” มากกว่าที่จะเลือกใช้คำ เช่น สิทธิพลเมืองตั้งแต่กำเนิด (birthright citizenship) ซึ่งคำพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามน้ำลายในศึกการเลือกตั้ง” ซึ่งตอกย้ำในประเด็นความได้เปรียบเมื่อล่าสุด CBS News รายงานว่า ล่าสุดโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาโจมตีเจบ บุช ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันเช่นกันว่า “เปลี่ยนจุดยืน” หลังจากในตอนแรกไม่ต้องการที่จะใช้คำ Anchor Baby โดยกล่าวหาว่าเป็นคำเหยียดหยามคนเชื้อสายละตินอเมริกา แต่ภายหลังกลับต้องการใช้บ้างเพราะเห็นทรัมป์ใช้

โดยทรัมป์พยายามเปรียบเทียบในข้อเด่นของตนเองเมื่อเทียบกับบุชว่า อย่างน้อยตัวเขาตรงไปตรงมาและไม่เปลี่ยนจุดยืนเหมือนเช่นบุช และยังชี้ว่าอดีตผู้ว่าการรัฐฟลอลิดาบุชอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ต้องการให้บุชหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้คำนี้ในการเรียกขานทารกที่เกิดจากคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โรเบอร์โต กอนซาเลซ (Roberto Gonzalez) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เชี่ยวชาญด้านผู้เยาว์ที่เข้าเมืองสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “Anchor baby” ถือเป็นคำดูหมิ่นอย่างไม่ต้องสงสัย

“คำคำนี้ได้ลดการมีตัวตนของเด็ก และใช้ความพยายามที่จะโจมตีระบบอย่างหนักหน่วง รวมไปถึงดูถูกคนผิวน้ำตาลด้วยการใช้ศัพท์คำนี้เพื่อบิดเบือนให้เข้าใจผิดในเรื่องการขยายเผ่าพันธุ์ของหญิงเชื้อสายละตินอเมริกาอย่างเลวร้ายเพื่อจุดประสงค์ทำลายทางการเมือง มากกว่าจะโต้เถียงอย่างจริงจังในประเด็นสัญชาติ” กอนซาเลซกล่าว และเสริมว่า “ไม่ต้องพูดถึงเสียงที่มีการกล่าวถึงเด็กอายุ 21 ปีสามารถเริ่มกระบวนการเป็นสปอนเซอร์เพื่อขอสัญชาติให้แก่มารดาได้”









ล่าสุดโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาโจมตีเจบ บุช ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกันเช่นกันว่า เปลี่ยนจุดยืน หลังจากในตอนแรกไม่ต้องการที่จะใช้คำ Anchor Baby โดยกล่าวหาว่าเป็นคำเหยียดหยามคนเชื้อสายลาตินอเมริกา แต่ภายหลังกลับต้องการใช้บ้างเพราะเห็นทรัมป์ใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น